posttoday

บทเรียนทำลายป่าที่ล้ำค่าจากจีน

21 กันยายน 2559

เฟซบุ๊ก วิทยาศาสตร์ทันโลก และภัยพิบัติในไทย

เฟซบุ๊ก วิทยาศาสตร์ทันโลก และภัยพิบัติในไทย

***บทเรียนทำลายป่าที่ล้ำค่าจากจีน***

พอดีแอดมินอ่านวารสารและพบกับพื้นที่นึงในประเทศจีนที่บทเรียนเรื่องการทำลายป่ามีผลต่อพวกเขาเป็นอย่างมาก ตอนนี้เมื่อสำนึกแล้ว มันสายไปหรือไม่ที่จะพยายามฟื้นฟูมัน ..... พื้นที่นั้นโด่งดังมากชื่อว่า Loess Plateau (แปลว่า พื้นที่ราบสูงที่มีดินทรายร่วน) ขนาดใหญ่กว่าไทยทั้งประเทศถึง 20% ตั้งอยู่ตรงกลางๆของจีน และเป็นต้นน้ำและกลางน้ำของแม่น้ำฮวงโห (แม่น้ำเหลือง) ที่ขนาดใหญ่อันดับ 6 ของโลก

หลายคนคงเห็นภาพแม่น้ำเหลืองมาก่อน ชื่อมันก็บอกสี มันขุ่นขลักมากๆ อย่างรูปที่สี่นี้แสดงต้นน้ำของมัน (นึกถึงแม่น้ำน่านตอนฝนหลากปีนี้ เพราะดินถูกกัดเซาะ) เหตุเพราะดินทรายร่วน (จริงๆคือ silt น่ะขนาดเม็ดเล็กกว่าทราย) ที่นี่ได้ชื่อว่า "ร่วนและกัดเซาะง่ายที่สุดในโลก" บริเวณนี้ออกกึ่งทะเลทรายนิดๆ แต่ก็มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ในอดีต ดินดีทำการเกษตรง่าย สาเหตุที่ดินร่วนเพราะ พายุลมในพื้นที่นั้นค่อนข้างแรงมาเป็นแสนๆปีล้านปี และทับถมดินทรายร่วนนี้

ประวัติศาสตร์พื้นที่นี้ น่าสนใจมากๆ จริงๆตรงนี้ของจีนอยู่คู่กับประวัติศาสตร์อันยาวนานมาตั้งแต่แรกเริ่มของประเทศ มีการขุดดินทำเป็นบ้านในดินได้ง่ายๆ (รูปที่ 5-7 เขาแกะสลักพระพุทธรูปและปฎิมากรรมจากดินเลยนะ) และปลูกข้าว ในอดีตกาล จนกระทั่ง คศ 1556 ที่เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ และคนจีนตายถึง 830,000 คน เพราะบ้านถ้ำพวกนี้ถล่มทับ ....ทุกวันนี้ บ้านถ้ำก็ยังมีให้เห็นบ้างในจีนนะ ในอดีตเป็นศูนย์กลางการค้า (ผ้าไหม อัญมณี อาวุธทองแดง)

หลายร้อยปีผ่านไป เนื่องจากประชากรจีนเพิ่มมากขึ้นๆในยุคหลังๆ มีการตัดไม้ทำลายป่าทำการเกษตรมากขึ้น และแพะวัวที่กินหญ้าไปทั่วตามสบาย ทำให้ระบบนิเวศถูกทำลายไปมาก (ไม่ต่างจากไทยภาคเหนือตอนนี้)

รู้ไหม ไม่มีป่าแล้ว ดินที่นี่ถูกฝนชะล้างลงไปแม่น้ำฮวงโหแค่ไหน จนมันเหลืองทุกวันนี้สมชื่อ ปีนึงๆ หน้าดินหายไปถึง 10,000 - 24,000 ตัน/ตร กม. ซึ่งมากกว่าถ้ามีป่าถึง 1700 เท่า เป็นปัญหาใหญ่ที่จีนต้องรับมือมานาน พื้นที่ก็แห้งแล้งไปเรื่อยๆ อยู่ยาก เพาะปลูกยากขึ้น ปัจจัยเรื่องฝนที่เปลี่ยนไปและเรื่องความลาดชันชิดซ้ายไปเลย ปัจจัยหลักเน้นๆคือ ป่าที่หายไป

จนมาปี 1994 จึงมีการพยายามรื้อฟื้นพื้นที่ เพื่อบรรเทาภาวะที่เข้าใกล้ทะเลทรายขึ้นไปทุกที แต่ทว่าความสำเร็จในการพยายามฟื้นฟูป่านั้นน้อยมาก และประสพผลแค่ในบางพื้นที่ (เช่นรูปที่สามนี้) ที่มีความเขียวเริ่มกลับมาและรัฐบาลก็กำชับไม่ให้ประชาชนทำลายป่า/ทุ่งหญ้า .... แม้จะเริ่มมีต้นไม้บ้าง ทว่า ความขุ่นขลักในแม่น้ำฮวงโห ลดลงแค่ 1% แค่นั้น

อย่างรูปที่ 1 นี้จะเห็นว่าเขาขุดเป็นหลุมๆเพื่อให้ต้นกล้างอกขึ้นมา โดยไม่ถูกฝนชะล้างไป (หรือไม่?) .... บทเรียนสำหรับไทยก็คงให้เห็นว่า ป่าที่ทำลายไปแล้ว มันฟื้นตัวค่อนข้างยากมากนะจ้ะ หยุดทำลาย (คนทำลายคงไม่มาอ่านสิเนอะ T-T) .... จริงๆจีนมีหน่วยงานที่ทำการศึกษาพวกนี้ดีนะ เพราะพื้นที่นี้ปัญหารุนแรงและขนาดใหญ่กว่าประเทศไทยซะอีก ... แม้ดินเราจะไม่ร่วนขนาด "ที่สุดในโลก" แบบเขา แต่อัตราการกัดเซาะหน้าดินของไทยก็น่าเป็นห่วงมากเช่นกัน หากป่าถูกทำลาย

อ้างอิง

งานวิชาการของ ดร. เชง เฟน ลี มหาลัย Northwest A&F เมืองยางหลิง และวิกิพีเดีย https://en.wikipedia.org/wiki/Loess_Plateau

โดย ดร. ไพลิล ฉัตรอนันทเวช
University of Arizona, USA
(แอดมินยังเปลี่ยนชื่ออยู่นะ อิอิ)