posttoday

Industry 4.0 การเมืองหรือแค่เรื่องเทคโนโลยี ?

12 กรกฎาคม 2559

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน

โดย...ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

12 กรกฎาคม 2559

นับตั้งแต่ช่วงประมาณปี ค.ศ.2012 เป็นต้นมา กระแสแนวความคิดเรื่องคลื่นลูกใหม่ของวงการอุตสาหกรรม วิศวกรรม และอาจจะหมายรวมไปถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ อย่าง “Industry 4.0” ก็ค่อยๆ ได้รับความสนใจมากขึ้นๆ นัยว่าจะเป็นยุคสมัยของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เมื่อเกิดการประสานความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิตัล (Digitalization) คอมพิวเตอร์และการสื่อสาร (Information and Communication Technology, ICT) และระบบอัตโนมัติ (Automation) ที่มาพร้อมกับความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) บนขีดความสามารถในการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) เข้ากับอุตสาหกรรมการผลิต จนนำมาสู่คำสำคัญติดปากคนรุ่นใหม่ๆ อย่าง “Internet of Things, IoT” มีการคาดการณ์กันไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะประเด็นเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติแบบอัจฉริยะจะเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ ความต้องการแรงงานจะลดลง และทักษะฝีมือเฉพาะทาง โดยเฉพาะด้านซอฟท์แวร์และปัญญาประดิษฐ์จะเป็นที่ต้องการมากขึ้น จนทำให้คนรุ่นใหม่ๆ กำลังเผชิญกับความท้าทายว่าจะต้องทำงานแข่งกับหุ่นยนต์

เรื่องราวของ Industry 4.0 มีที่มาที่ไปอย่างไร วันนี้ผู้เขียนจะลองพาผู้อ่านมาพิจารณาข้อมูลนอกเหนือในประเด็นเทคโนโลยีอีกด้านหนึ่งครับ

ก่อนอื่น ต้องขอปูพื้นกันสักเล็กน้อยเรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ซึ่งว่ากันว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 เกิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษ (บ้างก็ว่าฝรั่งเศส เอาเป็นว่าพัฒนาการหลายอย่างของ 2 ชาตินี้ในช่วงเวลานั้นก็คล้ายๆ กัน และคงมีข้อถกเถียงกันตามสมควร) ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 เมื่อมีการประดิษฐ์ปั่นด้าย เครื่องจักรไอน้ำ การนำพลังงานอย่างถ่านหินมาใช้ และการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมเหล็กจนนำมาสู่การประดิษฐ์เครื่องจักรกลพลังงานไอน้ำมาใช้ทดแทนแรงงานมนุษย์ ซึ่งแต่เดิมช่วงเวลานั้นมักเน้นการใช้แรงงานเด็กและสตรี (โลกของผู้ชายก็เป็นแบบนี้แหละครับ) ชื่อของวิศวกรเครื่องกลอย่าง “เจมส์ วัตต์” (James Watt) ผู้ประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำก็เป็นที่รู้จักของชาวโลกนับแต่บัดนั้น ถัดมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงช่วงปี ค.ศ.1970 ก็อาจนับเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 เมื่อมนุษย์รู้จักประยุกต์หลักคิดทางเศรษฐศาสตร์ การแบ่งงานกันทำหรือแยกการทำงานเป็นขั้นตอน (division of labor) ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากพลังงานไฟฟ้า จนนำมาสู่พัฒนาการของระบบการผลิตเป็นปริมาณมากแบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (Electric-Powered Mass Production) ส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต โดยเฉพาะเรื่องการเพิ่มผลผลิตหรืออัตราผลิตภาพ (Productivity)

งานเขียนและงานศึกษาสำคัญๆ ในยุคสมัยนี้ อาทิ “Wealth of Nations” ของ  “Adam Smith” นักเศรษฐศาสตร์ชาวสก๊อต หรือ “The Principles of Scientific Management” ของ “Frederick Winslow Taylor” ถูกกล่าวถึงในวงกว้างจนอาจนับได้ว่าเป็นการวางรากฐานการจัดการแบบวิทยาศาสตร์จวบจนถึงปัจจุบัน ที่น่าสนใจในยุคสมัยนี้คือความพยายามในการพัฒนา “สายการผลิต” หรือ “การผลิตแบบต่อเนื่อง” (Production Line, Continuous Process) ในช่วงปี ค.ศ.1830 แต่สำเร็จเป็นรูปธรรมในโรงงานชำแหละเนื้อวัวที่ซินซินนาติ สหรัฐอเมริกา ในช่วงปี ค.ศ.1870 เวลาคุยกันเรื่องนี้สำหรับวิศวกรอุตสาหการอย่างผู้เขียนออกจะดูขำๆ เล็กน้อย เพราะต้นตอของการพัฒนากระบวนการผลิตแบบประกอบ หรือ “Assembly Line” กับเกิดขึ้นกับการ “ชำแหละเนื้อ” ซึ่งอาจนับเป็นการ “Dis-assembly” เสียมากกว่า ก่อนที่จะถูก “เฮนรี่ ฟอร์ด” (Henry Ford) นำไปประยุกต์ใช้กับโรงงานผลิตรถยนต์ฟอร์ด โมเดลที (Ford Model T) ในช่วงปี ค.ศ.1913

ถัดมาจากนั้น หลังช่วงปี ค.ศ.1970 โลกก็เข้าสู่ยุคของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร (ICT) ท่านผู้อ่านที่มีอายุเกินกว่า 35 ปี ก็น่าจะพออธิบายได้ว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาเราได้พบกับความเปลี่ยนแปลงอะไรในวิถีชีวิตอันเกิดจากพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีสารสนเทศบ้าง (หรือจะลองย้อนกลับไปอ่านบทความฉบับก่อนหน้า เรื่อง “Industry 4.0 คลื่นลูกใหม่วงการอุตสาหกรรม” ของผู้เขียนดูก็ได้ครับ)

อาจกล่าวได้ว่า ทิศทางของการพัฒนาอุตสาหกรรมนับตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน เป็นความพยายามจากการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อความสามารถในการผลิต เริ่มจากผลิตให้ได้ มาเป็นผลิตได้เป็นปริมาณมาก จากนั้นจึงเริ่มให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ความสามารถในการใช้ทรัพยากร การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity Improvement) การลดความสูญเปล่าจากกระบวนการผลิต คุณภาพ การควบคุมคุณภาพ (Quality Control) การประกันคุณภาพ (Quality Assurance, QA) การบริหารระบบคุณภาพ (Total Quality Management, TQM) ซึ่งในที่สุดก็ครอบคลุมไปถึงกิจกรรมอื่นๆ จนครบวงจรการผลิต ตั้งแต่การจัดซื้อวัตถุดิบ การบำรุงรักษาเครื่องจักรอุปกรณ์ให้สามารถใช้งานได้ตามต้องการ การบำรุงรักษาทวีผล (Total Productive Maintenance, TPM) การบริหารห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) การขนส่งและโลจิสติกส์ (Transportation and Logistics) ฯลฯ โดยมีการประยุกต์ใช้การสื่อสารและระบบสารสนเทศ (ICT) เป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

เดี๋ยวนะครับ ก่อนจะไปไกลกันกว่านี้ ที่เล่ามาทั้งหมด ผู้เขียนไม่ได้พยายามอธิบายศาสตร์ด้านการจัดการอุตสาหกรรม แต่อยากให้ลองฉุกคิดกันก่อนว่าความพยายาม และทิศทางในลักษณะนี้กำลังนำพาเรา (โลกของเรา) ไปสู่อะไร?

สำหรับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในซีกโลกยุโรปที่พัฒนาแล้ว ผลจากความพยายามในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตจากซีกโลกยุโรป ไปสู่ซีกโลกตะวันออกที่ยังมีต้นทุนแรงงานที่ถูกกว่า ภาคอุตสาหกรรมของยุโรป ข้อมูลที่น่าสนใจที่เปิดเผยโดย European Parliamentary Research Service ช่วงปลายปี ค.ศ.2015 ระบุว่า 1 ใน 10 ของธุรกิจทั้งหมดที่จดทะเบียนในยุโรปเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งมีอยู่จำนวนราว 2 ล้านบริษัท ครอบคลุมการจ้างงานราว 33 ล้านตำแหน่ง อุตสาหกรรมทั้งหมดนี้นำมาสู่มูลค่าการส่งออกสินค้ากว่า 80% ของรายได้ทั้งหมดของยุโรป ที่สำคัญทุกตำแหน่งงานในภาคอุตสาหกรรม หมายถึงการสร้างงานในภาคธุรกิจอื่น 1.5-2 ตำแหน่ง (ควรทราบว่าสำหรับประเทศพัฒนาแล้ว การพัฒนาเศรษฐกิจหมายถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพลเมือง ส่วนหนึ่งของคุณภาพชีวิตหมายถึงการมีงานทำ)

ความพยายามในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้อุตสาหกรรมในยุโรปเข้าสู่สภาวะถดถอย ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา 1 ใน 3 ของฐานการผลิตที่เคยอยู่ในยุโรปถูกย้ายไปอยู่ที่ประเทศอื่น (นอกยุโรป) และที่น่าสนใจคือ “มูลค่าเพิ่ม” (Value Added) อันเกิดจากอุตสาหกรรมในยุโรปเองคงเหลืออยู่ที่ราว 15.3% ของมูลค่าเพิ่มทั้งหมด ในเวลาเดียวกันการถดถอยของอุตสาหกรรม (De-industrialization) ในยุโรปย่อมหมายถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศอื่น (นอกยุโรป) เช่น จีน เป็นต้น และกำลังนำมาซึ่งการลดความสำคัญของอุตสาหกรรมในยุโรปเอง ด้วยเหตุนี้ ในปี ค.ศ.2012 สหภาพยุโรปจึงกำหนดเป้าหมายว่าภายในปี ค.ศ.2020 จะต้องร่วมกันทำให้มูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมในยุโรปขยับจาก 15.3% ไปเป็น 20% และนำมาสู่แนวคิดเรื่อง Industry 4.0 นำทัพโดยสหพันธรัฐเยอรมนี (มีการเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น เช่น Factory of The Future ของฝรั่งเศสและอิตาลี หรือ Catapult Centres ในอังกฤษ เป็นต้น)

สำหรับผู้เขียน การมาถึงของ Industry 4.0 จากยุโรปในรอบนี้ ก็อาจไม่ต่างจากการมาถึงของระบบบริหารคุณภาพตระกูล ISO9000 (ซึ่งในยุคต้นๆ แยกเป็น 9001 9002 และ 9003) ที่ถือกำเนิดในช่วงปี ค.ศ.1987 เมื่อยุโรปต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการย้ายฐานการผลิตจากยุโรปไปสู่โลกภายนอก การพยายามรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาคมเศรษฐกิจยุโรปด้วยการสร้างด่าน สร้างกำแพงให้ฐานการผลิตในซีกโลกกำลังพัฒนาต้องปรับปรุงกระบวนการผลิต สร้างมาตรฐานการผลิต เพื่อเป็นหลักประกันว่าสินค้าที่ผลิตขึ้นจะมีคุณภาพที่ดีสม่ำเสมอเพียงพอ สามารถนำมาอุปโภคบริโภคภายในยุโรปได้ บริษัทที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานระบบคุณภาพตระกูล ISO9000 จะไม่สามารถส่งสินค้าไปจำหน่ายในยุโรปได้

เรื่องน่าสนใจอยู่ที่อนุกรมมาตรฐาน หรือระบบคุณภาพ ISO9000 มีข้อดีหลายประการ โดยเฉพาะในด้านที่สามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปรับระบบการทำงาน บังเอิญเหลือเกินว่าเมื่อนำมาใช้ควบคู่กับแนวคิดการรื้อปรับระบบ (Business Process Reengineering) ที่โด่งดังในช่วงต้น ปี ค.ศ.1990 ก็เลยเป็นหนึ่งในหลายเหตุผลที่ทำให้ช่วงปี 1990 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมในประเทศไทย ทั้งที่ต้องส่งสินค้าไปขายยุโรป และที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับยุโรปเอาเสียเลย ต่างก็พากันเฮละโลพยายามปรับปรุงกระบวนการทำงานในองค์กรของต้นโดยใช้กรอบความคิดและข้อกำหนดต่างในอนุกรมมาตรฐาน ISO9000 เป็นเกณฑ์

ที่ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ที่ผู้เขียนเองทำงานอยู่ก็เอากับเขาด้วย เราริเริ่มนำข้อกำหนดใน ISO9000 มาปรับปรุงกิจกรรมการเรียนการสอน การทำงานวิจัยที่ภาควิชา และในที่สุดก็เป็นสถาบันการศึกษาระดับภาควิชาแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO9001 เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2543 ทีมงานส่วนหนึ่งของภาควิชาฯ ที่มีส่วนในการวางแผน ออกแบบระบบคุณภาพก็ได้รับมอบหมายให้ไปช่วยกันพัฒนาระบบประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัย (ผู้เขียนก็เป็นส่วนหนึ่งในทีมนั้น) จนกลายเป็นที่มาของระบบบริหารคุณภาพ CU-QA 84 (ตรงกับปีที่จุฬาฯ ครบรอบ 84 ปี) ก่อนจะค่อยๆ แพร่หลายไปสู่สถาบันการศึกษาอื่นๆ เรื่องเศร้าอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนต้องขอกล่าวถึงไว้ตรงนี้ แม้ต้นตอของแนวคิดเรื่องการประกันคุณภาพเป็นสิ่งที่ดี แต่การตีความหมายผิดๆ หรือการนำไปประยุกต์ใช้แบบผิดๆ ไม่เข้าใจในสาระสำคัญ จนนำมาสู่ระบบประกันคุณภาพการศึกษาของไทยที่อุดมไปด้วยพิธีกรรม กับการกรอกเอกสารที่สร้างภาระให้กับคุณครู อาจารย์ผู้สอน (เช่น สารพัด มคอ. และแบบประเมินต่างๆ นั่นไงครับ) แทนที่จะมุ่งสร้างสัมฤทธิผลในการเรียนการสอน การวิจัย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ก็กลับกลายเป็นสร้างภาระในการทำงาน ลองสำรวจดูสิครับ ของดีๆ ก็คงจะมีแต่คนสนับสนุน มีใครสนับสนุนระบบประกันคุณภาพการศึกษาในประเทศไทยบ้าง (ยกเว้นท่านๆ ที่นั่งบัญชาการอยู่ใน สกอ.)

ก่อนจะไปไกลขอย้อนกลับมาหา Industry 4.0 กันอีกครั้ง โปรดสังเกตว่า หลักคิดของเรื่องนี้อยู่ที่การพยายามเพิ่มสัดส่วนผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมของยุโรป สร้างมูลค่าเพิ่ม และคงรักษาไว้ซึ่งตำแหน่งงาน ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ตลาดดิจิตัลตลาดเดียว” (Digital Single Market Strategy) ยุคสมัยของการผลิตโดยพึ่งพาฐานการผลิตที่มีอัตราค่าแรงงานต่ำในประเทศนอกยุโรปกำลังจะหมดไป พร้อมๆ กับขีดความสามารถในการออกแบบ และผลิตได้แบบตามสั่ง (Mass Customization) โดยไม่ต้องสนใจเรื่องต้องผลิตมากๆ เพื่อลดต้นทุนอีกต่อไป ยุโรปกำลังจะตั้งการ์ดรับกับสถานการณ์ภาวะถดถอยของอุตสาหกรรมในยุโรป โดยมียุทธศาสตร์เป็นของตัวเอง

ประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในกลุ่มกำลังพัฒนามียุทธศาสตร์ไหมครับ?

อ่านบทความเรื่อง “Industry 4.0 คลื่นลูกใหม่วงการอุตสาหกรรม” http://www.posttoday.com/social/think/442251