posttoday

อธิปไตยพลังงานของไทย ต้องรักษาไว้

09 มิถุนายน 2559

เฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala

เฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala

อธิปไตยพลังงานของไทย ต้องรักษาไว้

ในการอัดรายการ "คนเคาะข่าว" วันนี้ ผมแจ้งผู้ชมว่าร่างแก้ไข พรบ.ปิโตรเลียม ที่ ครม.เพิ่งจะอนุมัตินั้น มีปัญหาครับ

กระทรวงพลังงานอธิบายว่า ที่เสนอแก้ไขกฎหมาย ก็เพื่อเพิ่มทางเลือก

เพราะเดิม กฎหมายเปิดให้ใช้แต่ระบบสัมปทาน และไม่มีระบบอื่น

การแก้ไขกฎหมายเที่ยวนี้ จึงดำเนินการเพื่อให้มีทางเลือกในระบบแบ่งปันผลผลิต

ส่วนการจัดตั้งบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาตินั้น ครม.ให้ไปศึกษา ถ้าจำเป็น ก็ให้เสนอแก้ไขกฎหมายเพิ่มอีกภายหลัง

ในจุดนี้แหละครับ ที่เกิดปัญหาใหญ่ในระดับปรัชญากฎหมายปิโตรเลียมทีเดียว

เพราะเหตุใด

ปรัชญากฎหมายปิโตรเลียมกำหนดว่า ในระบบสัมปทานนั้น ปืโตรเลียมเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนที่ได้รับสัมปทาน

ปรัชญานี้ เป็นปรัชญาหลักของกฎหมายสัมปทานทั่วโลก

แต่ในระบบแบ่งปันผลผลิต และในระบบจ้างผลิตนั้น ปิโตรเลียมเป็นกรรมสิทธิ์ของประเทศเจ้าของทรัพยากร

ตรงนี้แหละครับ ที่ อ.วิวัฒน์ชัย อัตถากร เคยทำเอกสารวิชาการ ระบุว่าจำเป็นจะต้องพูดถึงอธิปไตยพลังงาน

สมัยเริ่มแรกพัฒนาปิโตรเลียมในไทยในปี 2514 นั้น ข้าราชการไทยมีความรู้ไม่มาก และฐานะของรัฐบาลไทย ไม่สามารถควักเงินไปลงทุนและรับความเสี่ยงเองได้

การใช้ระบบสัมปทานในขณะนั้น ทำให้สะดวก และประหยัดเงินลงทุนของประเทศ ถึงแม้จะทำให้เสียอธิปไตยพลังงานไป แต่ก็ไม่มีทางเลือก

อ.วิวัฒน์ชัยเขียนว่า "นโยบายพลังงานของไทยไม่มีความเป็นอิสระเพราะถูกกดดันแทรกแซงจากประเทศมหาอำนาจที่อยากได้สัมปทานพลังงานแปลงใหญ่ตามเงื่อนไขที่เขาได้เปรียบตามกฎหมายเดิม"

อ่านบทความของ อ.วิวัฒน์ชัยแล้ว ทำให้ตระหนักว่าตลอด 40 ปีกว่าที่ผ่านมา ถึงแม้มียุคโชติช่วงชัชวาลในสมัยของพลเอกเปรมก็ตาม

แต่ในข้อเท็จจริงในระบบสัมปทานนั้น ไทยเป็น "เมืองขึ้น" ด้านพลังงานมาโดยตลอด

เพราะกฎหมายบังคับให้ใช้ระบบสัมปทานแต่เพียงระบบเดียว และไม่รู้ว่า เกิดจากประเทศมหาอำนาจเข้ามาให้ข้อมูลในการร่างกฎหมาย หรือไม่

มาบัดนี้ สัมปทานสองแปลงที่ผลิต 3 ใน 4 ส่วนของอ่าวไทย สัมปทานกำลังจะหมดอายุ

พลังงานกำลังจะกลับมาเป็นอธิปไตยของประเทศชาติและประชาชน อีกครั้งหนึ่ง

แต่การแก้ไข พรบ.ปิโตรเลียม กลับไม่สนใจที่จะปกปักรักษาอธิปไตยพลังงาน ให้แก่ปวงชนชาวไทย

ทำไมผมจึงพูดอย่างนี้ครับ

เพราะระบบสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้น มีสองระบบใหญ่ คือระบบสัมปทาน กับระบบแบ่งปันผลผลิต

ในระบบสัมปทานนั้น กรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมจะเป็นของผู้รับสัมปทาน

กรณีของไทย จึงมีบัญญัติไว้ใน พรบ. ปิโตรเลียม มาตรา 56 ผู้รับสัมปทานมีสิทธิขายและจำหน่ายปิโตรเลียมที่ตนเองผลิตได้

แต่ในระบบแบ่งปันผลผลิตนั้น ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ

ในระบบนี้ อธิปไตยพลังงานจึงเป็นของรัฐ และเป็นของปวงชนชาวไทย

อย่างไรก็ดี ในร่างเดิมของกระทรวงพลังงานนั้น

ถึงแม้กระทรวงพลังงานกล่าวอ้างว่า ได้ยกร่างแก้ไข พรบ. ปิโตรเลียม เพื่อเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต ให้เป็นทางเลือกก็ตาม

แต่เป็นทางเลือกจอมปลอม เป็นระบบแบ่งปันผลผลิตเทียม

ที่ผมกล่าวว่าเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตเทียม

เพราะร่างแก้ไข พรบ. ปิโตรเลียม ไม่มีการจัดตั้งองค์กรของรัฐขึ้นมา เช่น บรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ

เพื่อจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมที่เป็นส่วนของรัฐ

และเพื่อจะทำหน้าที่เป็นผู้ขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมที่เป็นส่วนของรัฐ

แต่มีบทบัญญัติที่ทำลายอธิปไตยพลังงานของไทยซ่อนไว้

ในร่างมาตรา 53/4 (5) ระบุให้สัญญาแบ่งปันผลผลิต จะต้องมีข้อกำหนดและเงื่อนไข เกี่ยวกับการขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมด้วย

กฎหมายของประเทศอื่นๆ เมื่อรัฐได้รับส่วนแบ่งปิโตรเลียมแล้ว จะไม่จำเป็นต้องมีข้อกำหนดและเงื่อนไขใดๆ กับคู่สัญญาเอกชน เกี่ยวกับการขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมของรัฐ

เพราะสำหรับปิโตรเลียมที่เป็นของรัฐ รัฐจะเอาไปทำอะไร ก็เป็นเอกสิทธิ์ของรัฐ คู่สัญญาภาคเอกชนไม่มีสิทธิมายุ่งเกี่ยว

แต่การที่ร่าง พรบ. ของกระทรวงพลังงาน ระบุบังคับให้ต้องมีข้อกำหนดและเงื่อนไข เกี่ยวกับการขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมด้วย

เท่ากับเปิดให้คู่สัญญาเอกชน เข้ามายุ่มย่ามกับปิโตรเลียมส่วนที่เป็นของรัฐ ซึ่งกระทบอธิปไตยพลังงานเต็มๆ

เพราะอะไรครับ

ร่างมาตราดังกล่าว แปลเป็นภาษาง่ายๆ

เนื่องจากกระทรวงพลังงานไม่ยอมให้มีการตั้งบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ

ดังนั้น กระทรวงพลังงานก็จะไม่มีมือไม้ ที่จะเป็นผู้ทำการขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียม

เมื่อมือด้วน ไม้ด้วน กระทรวงพลังงานก็ต้องยืมจมูกคู่สัญญาเอกชนเขา เพื่อเอามาหายใจ

ต้องมอบให้คู่สัญญาเอกชน เป็นผู้ทำการขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียม

ร่างกฎหมายแบบนี้ ก็จะสมประโยชน์ของคู่สัญญาเอกชน เพราะมีโอกาสกำไรอีกต่อหนึ่งในขบวนการขายและจำหน่าย

และมีโอกาสที่จะเล่นแร่แปรธาตุ ขายราคาถูกผ่านบริษัทในเครือ กำไรอีกต่อหนึ่ง

และเป็นกรณีที่รัฐบาลนี้ บังคับทุกรัฐบาลในอนาคตเป็นการล่วงหน้า

ทุกรัฐบาลในอนาคต จะต้องผูกพันตามข้อสัญญามาตรา 53/4 (5)

หากรัฐบาลใด เกิดอยากจะเปลี่ยนไปใช้วิธีขายเพื่อนบ้าน เป็นแบบ G to G แทน หรือนำไปใช้เพื่อการใดเป็นพิเศษ ก็จะทำไม่ได้

นอกจากนี้ เนื่องจากไม่มีการจัดตั้งบรรษัทปิโตรเลียม

ปิโตรเลียมส่วนแบ่งของรัฐ จึงเป็นทรัพย์สินของส่วนราชการ

การที่ส่วนราชการจะทำสัญญามาตรา 53/4 (5) โดยให้คู่สัญญาเอกชนเป็นผู้ทำการขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียม นั่น

ก็น่าจะต้องปฏิบัติตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535

ท่านจะไม่ต้องใช้วิธีการประมูลหรือยังไง ท่านจะมอบให้คู่สัญญาเอกชนแต่เพียงรายเดียวได้ยังไง

แต่ที่สำคัญที่สุด คือปรัชญาในการร่างกฎหมาย

เพราะ มาตรา 53/4 (5) ที่ให้คู่สัญญาเอกชนเป็นผู้ทำการขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมนั้น

มีผลในทางปฏิบัติ ให้การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของไทย กลับไปเป็นเหมือนหลักการของระบบสัมปทานนั่นเอง

มีผลในทางปฏิบัติ เป็นการเอาอธิปไตยพลังงาน ที่ควรจะเป็นเอกสิทธิ์ของปวงชนชาวไทย

อธิปไตยพลังงานที่เดิมในระบบสัมปทาน ไทยเสียไปนานมากกว่า 40 ปี และกำลังจะได้คืนกลับมา

ผลในทางปฏิบัติ ตามร่าง พรบ. นี้ จะกลับยกอธิปไตยพลังงานไปให้แก่คู่สัญญาเอกชน เสียอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ถ้ากระทรวงพลังงานไม่ยอมให้มีการตั้งบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ

รัฐบาลก็จะไม่มีทางเลือก รัฐบาลก็จะต้องมอบอธิปไตยพลังงาน ไปให้แก่คู่สัญญาเอกชนตามมาตรา 53/4 (5) นั่นแหละ

ผมน่ะเป็นห่วงครับ เพราะผมไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ต้องจารึกว่า

รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เป็นผู้ทำให้อธิปไตยพลังงานของปวงชนชาวไทย ต้องเสียไปอีกครั้งหนึ่ง