posttoday

3 เรื่องที่ต้องทำแก้ไขปัญหาเขาหัวโล้น

18 พฤษภาคม 2559

เฟซบุ๊ก Sasin Chalermlarp

เฟซบุ๊ก Sasin Chalermlarp

ถ้าจะปลูกป่า หรือแก้ไขปัญหาเขาหัวโล้น ให้ได้ผล ทันกับ เขาหัวโล้น อย่างที่น่าน ระดับ ล้านไร่ จะทำอย่างไร? ทั่วประเทศมีแบบน่านอีกราวๆยี่สิบเท่า

ในความเห็นของผมต้องทำสามเรื่อง

1. ควบคุมพื้นที่ทำกินโดยเฉพาะในอุทยานแห่งชาติ ราวๆ 5-10 ล้านไร่ ให้ได้โดยการส่งเสริมพืชผสมผสานแทนข้าวโพด เช่น กาแฟ ไผ่ สวนสมรม โดยตั้งกองทุนสนับสนุนและวางแผนเปลี่ยนการใช้พื้นที่ในระยะยาว

2. ส่งเสริมให้เกษตรกร และเจ้าของที่ดินทำโครงการ "ธนาคารต้นไม้" แบบที่คุณพงศา ชูแนม นำเสนอ โดยมีแรงจูงใจให้คนปลูกต้นไม้สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์เงินกู้ ธกส. (รายละเอียดใน fb คุณพงศา ชูแนม)

3. อาจจำเป็นที่จะต้องหาแนวทางใหม่ เช่นการจัดตั้งองค์กรมาบริหารการฟื้นฟูพื้นที่ไร่ข้าวโพดให้เป็นสวนป่าเศรษฐกิจ ที่สามารถตัดไม้ขายและปลูกทดแทนอย่างเป็นระบบ ในพื้นที่ป่าสงวนที่ถูกบุกรุกเป็นเขาหัวโล้นในปัจจุบัน ผ่านรูปแบบการระดมทุนจากมหาชนในรูปแบบ "พันธบัตรป่าไม้" หลักการคือตั้งองค์กรใหม่มาระดมทุนขายพันธบัตรให้ประชาชนและบริษัทธุรกิจ ได้เงินก้อนใหญ่ไปบริหารจัดการให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด ปรับเปลี่ยนเป็นปลูกป่าเศรษฐกิจ มีรายได้ทดแทนปลูกข้าวโพดในเจ็ดปีแรก และจากนั้น กองทุนจะมีรายได้จากการตัดไม้ขาย และปลูกทดแทนอย่างเป็นระบบยั่งยืนตามหลักวิชาการวนวิทยา โดยต้องบริหารกองทุนให้ ผู้ซื้อพันธบัตรจะได้ผลตอบแทนน้อยๆแต่มากกว่าธนาคารก่อนในระยะแรกและได้ผลตอบแทนมากชึ้นในระยะยาวพอที่จะเป็นแรงจูงใจในการซื้อพันธบัตร และได้มีส่วนร่วมในการปลูกป่าที่ได้ผล และเห็นผลจริง ในระยะยาวจะเกิดธุรกิจจากไม้ในส่วนนี้ในระดับโลก อย่างยั่งยืน ทำให้เราเป็นประเทศที่มีไม้ใช้โดยไม่ทำลายป่า โดยทำงานร่วมกับกรมป่าไม้อย่างเป็นระบบ และพัฒนากฏหมายขึ้นรองรับ แนวคิดนี้ผมได้มาจากการสนทนากับนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จาก TDRI ท่านหนึ่ง ซึ่งผมค่อนข้างเห็นด้วย

......

หมายเหตุ

ข้อ 1 ได้จากประสบการณ์ทำงานโครงการจอมป่าของสืบ

ข้อ 2 เชื่อมั่นในแนวคิดคุณพงศา ชูแนม

......

รัฐบาลเชื่อผมไหม?

ที่มาจากเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/sasin.chalermlarp.9