posttoday

หากต้องการจะปลดปล่อยสังคม เราต้องปลดปล่อยอินเทอร์เน็ตเป็นอันดับแรก

10 พฤษภาคม 2559

เฟซบุ๊ก Kornkit Disthan

เฟซบุ๊ก Kornkit Disthan

ในฐานที่ติดตามข่าวต่างประเทศมานานผมสงสัยมาระยะหนึ่งแล้วว่าในยุคที่เรามีโซเชียลมีเดียมีแหล่งข้อมูลออนไลน์มหาศาล แต่ทำไมการลุกฮือทางการเมืองถึงล้มเหลวในหลายประเทศ เพราะแม้จะล้มรัฐบาลสำเร็จแต่บ้านเมืองจะวุ่นวายไม่สิ้นสุด หรือบางแห่งล้มไม่ได้แถมรัฐยังแกร่งในด้านไอทีมากขึ้นไปอีกด้วยซ้้ำทั้งๆ ที่ผู้ลุกฮือใช้โซเชียลมีเดียตอบโต้หนักมาก เช่น อิหร่าน

ความสงสัยเริ่มกระจ่างเมื่อได้ฟังปาฐกถา TED Talks ของ วาเอล โฆนิม (Wael Ghonim) ซึ่งเป็นแอดมินเพจการเมืองที่มีส่วนปลุกกระแสปฏิวัติประชาชนในอียิปต์ ด้วยความที่ตอนนั้นโซเชียลมีเดียมีส่วนอย่างมากในการระดมพลังประชาชนโค่นล้มรัฐบาลอำนาจนิยม โฆนิม จึง "เคย" เชื่อว่า - ถ้าคุณคิดจะปลดปล่อยสังคม ขอแค่มีอินเทอร์เน็ตเท่านั้นเป็นพอ - แต่วันนี้ โฆนิม บอกว่า เขาคิดผิด

โฆนิม บอกว่าหลังพลังประชาชนโค่นเผด็จการมูบารักแล้วบรรยากาศมันช่างน่าตื้นตันสุดๆ แต่แล้วหลังจากนั้นอียิปต์เละเป็นโจ๊ก มีการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ในระบบเสรีไม่เท่าไหร่ประชาชนก็ไม่พอใจออกมาไล่รัฐบาลซะงั้น ทำให้กองทัพต้องยึดอำนาจกลับไปสู่วงจรเดิมๆ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ โฆนิม สิ้นหวังและงุนงงมากกว่าทำไมการปฏิบัติด้วยโซเชียลมีเดียจึงพังพินาศ เขารู้สึกพ่ายแพ้จนต้องปลีกตัวออกมาทบทวนเงียบๆ นานถึง 2 ปี

โซเชียลมีเดียมีพลังในการเปลี่ยนแปลงก็จริง แต่สำหรับ โฆนิม ปัญหาหลักอยู่ที่ "ข่าวลือ ข่าวกุ ข่าวมั่ว ทัศนะเสียดสีชิงชัง" ทำให้สังคมที่กำลังตั้งไข่บนถนนเสรีเป๋ไปเป๋มาหนักเข้าก็แตกเป็นฝ่าย โลกโซเชียลเต็มไปด้วยพวกเกรียน พวกกุข่าว ทัศนะเสียดสีชิงชัง (Hate speech) หนักเข้าสังคมอียิปต์ก็แตกเป็นเสี่ยง โฆนิม บอกว่า ความแตกแยกทางการเมืองนี้เกิดจากสันดานดิบของมนุษย์ โดยมีเทคโนโลยีช่วยเร่งให้สันดานดิบเผยตัวออกมาเร็วขึ้นเพียงคลิกเดียว

ถึงจะเป็นเรื่องของอียิปต์แต่ผมคิดว่าใกล้ตัว ประสบการณ์ของ โฆนิม มีค่ามากเพราะจะช่วยสังคมไทยให้ยั้งคิดได้ไม่น้อย เขาชี้ให้เห็นจุดอ่อนของโซเชียลเน็ตเวิร์กในการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมืองว่า

1. เราไม่รู้วิธีจัดการกับข่าวลือ ยิ่งข่าวลือที่สอดคล้องกับอคติของเราด้วยแล้วเรายิ่งเชื่อสุดใจและยิ่งแพร่ไปถึงคนเป็นล้านๆ

2. เราจะจับกลุ่มเพื่อฟินกันเอง เราจะสื่อสารกับคนที่เราเห็นด้วย ถ้าไม่ชอบใจก็แค่เลิกติดตามหรือบล็อกไปเลย

3. การถกเถียงออนไลน์มักยกระดับกลายเป็นม็อบที่บ้าคลั่งเกรี้ยวกราด เพราะเรามักลืมไปว่าคนที่เราคุยด้วยมีตัวตนจริง ไม่ใช่แค่อวตารออนไลน์ (หรือในทางกลับกัน)

4. เราถูกบีบให้แสดงทัศนะที่ซับซ้อนในระยะเวลาและพื้นที่จำกัดในโลกโซเชียล พอแสดงออกไปก็มักเปลี่ยนยากเพราะไม่ทันกับกระแสความเร็ว (เช่นบางคนถูกแคปหน้าจอประจาน)

5. โซเชียลมีเดียมีลักษณะบีบให้คนอวดตัวเองมากว่ามีส่วนร่วมกับคนอื่น โพสต์เรื่องตัวเองมากกว่าเสวนากัน แสดงทัศนะที่ตื้นเขินแทนที่จะลุ่มลึก

จากนั้น โฆนิม ก็เสนอกลไกลที่จะพัฒนาสังคมออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพขึ้นเพื่อขัดเกลาผู้ใช้ให้มีคุณภาพมากขึ้น ผมสังเกตว่าเขาไม่เน้นใช้มันเพื่อหวังความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีก แต่หวังผลในตัวผู้ใช้มากกว่า เพราะตราบใดที่คนยังอาศัยโซเชียลฯ แสดงความดิบภายในออกมา ก็ป่วยการที่จะหวังพัฒนาการที่สูงส่งในทางการเมือง

และจบท้ายด้วยการกล่าว่า "วันนี้ผมเชื่อว่าหากเราต้องการจะปลดปล่อยสังคม เราต้องปลดปล่อยอินเทอร์เน็ตเป็นอันดับแรก"
.
.
.
สำหรับผม ประสบการณ์ของ โฆนิม ให้แง่คิด 2 เรื่อง 1. การใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อหวังผลทางการเมืองยังต้องอาศัยการเมืองเชิงอำนาจหรือ Power politics ไปพร้อมๆ กัน ไม่เช่นนั้นความเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดขึ้นหรือเกิดแล้วไปไม่รอดซ้ำหนักกว่าเดิม 2. โซเชียลเน็ตเวิร์กยังต้องผ่านการขัดเกลาอีกมากจากบรรทัดฐานทางสังคมที่แท้จริง ในโลกออนไลน์เรามักทิ้งความเห็นอกเห็นใจไปเพราะเชื่อว่ามันเป็นอีกสถานที่หนึ่งสำหรับการปลดปล่อยสัญชาติญาณดิบ แทนที่จะเป็นการแลกเปลี่ยนอย่างอารยะ

ใครสนใจปาฐกถาของ โฆนิม ชมได้ตามนี้ครับhttps://www.ted.com/talks/wael_ghonim_let_s_design_social_media_that_drives_real_change?language=en หวังว่าจะมีซับไทยในเร็วๆ นีเพราะมีประโยชน์มาก

ที่มา https://www.facebook.com/kornkitd/posts/10153455250321954?fref=nf&pnref=story