posttoday

ตำนานความตรงไปตรงมาของคุณบรรหาร

09 พฤษภาคม 2559

ไชยันต์ ไชยพร

โดย...ไชยันต์​ ไชยพร

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีทายาททางการเมือง ทั้งที่เป็นลูกหลานแท้ๆและไม่ใช่ คุณบรรหาร ศิลปะอาชาและคุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภถือได้ว่าเป็นประเภทหลัง คุณบรรหารอาวุโสทางการเมืองกว่าคุณสุวัจน์อยู่มากโข คุณบรรหารเป็นเลขาธิการพรรคชาติไทยสมัยที่น้าชาติเป็นนายกรัฐมนตรี น่าสนใจที่คุณบรรหารสามารถเอาพรรคชาติไทยมาดูแลได้ ขณะที่หลานๆแท้ๆของน้าชาติกลับต้องไปอยู่กับพรรค ชาติพัฒนากับคุณสุวัจน์ แต่เมื่อต้องเผชิญกับภาวะถดถอยทางการเมืองในสมัยที่พรรคไทยรักไทยเรืองอำนาจ คุณบรรหารต่างกับคุณสุวัจน์ตรงที่ว่า จะให้ลำบากอยากแค้นลำเค็ญหรือ “อดอยากปากแห้ง” แค่ไหน คุณบรรหารจะไม่มีวันยุบพรรคของตนเพื่อไปรวมกับพรรคไทยรักไทยของคุณทักษิณเหมือนที่คุณสุวัจน์ทำอย่างแน่นอน

มิพักต้องพูดถึงคุณประจวบ ไชยสาส์นและบิ๊กจิ๋วที่ก็สละพรรคเสรีธรรมและพรรคความหวังใหม่ไปอยู่กับคุณทักษิณกับเขาเหมือนกัน แต่กระนั้น คุณบรรหารก็เป็นนักการเมืองที่เอ่ยวาทกรรมตัดพ้ออย่างไม่อ้อมค้อมตรงไปตรงมาตอนไม่ได้เป็นรัฐบาลว่า “อดอยากปากแห้ง” จาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=อดอยากปากแห้ง เขียนไว้ว่า ‘อดอยากปากแห้ง’ เป็นคำที่ล้อเลียนกระทบกระเทียบเปรียบเปรยสมาชิกพรรคการเมืองของพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่เคยเป็นรัฐบาลมาก่อน เพราะย่อมเข้าใจดีว่าในระหว่างที่พรรคการเมืองเป็นรัฐบาลหรือร่วมรัฐบาลในรัฐบาลผสมอยู่นั้น ส.ส. สังกัดพรรครัฐบาลมักจะได้รับผลประโยชน์จากการกำหนดและการกำกับดูแลนโยบายของรัฐบาลเป็นอย่างมาก อาทิ เงินอุดหนุนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปพัฒนาจังหวัดที่ตนเป็นผู้แทนราษฎรและผลประโยชน์อื่นๆอีกมาก ทำให้ ส.ส. และผู้สนับสนุนพรรครัฐบาลมีความสุขสำราญหรือที่เรียกว่า ‘อิ่มหมีพลีมัน’ แต่เมื่อต้องมาเป็นพรรคฝ่ายค้าน ทำให้ได้รับผลประโยชน์ต่างๆลดน้อยลงไปมากหรือแทบไม่ได้เลย เกิดภาวะการขัดสนหรือที่เรียกว่า‘อดอยากปากแห้ง’ นั่นเอง

ที่มาของคำว่า‘อดอยากปากแห้ง’ มาจากการที่คุณบรรหารได้กล่าวถึงสมาชิกฝ่ายค้านทั้งหลายที่ได้รับผลประโยชน์สนับสนุนทางการเงินและอื่น ๆ จากงบประมาณแผ่นดินน้อยกว่าสมาชิกพรรคฝ่ายรัฐบาล ต่อมาคำนี้ได้ใช้กันแพร่หลายและมีลักษณะล้อเลียนนักการเมืองฝ่ายค้านโดยทั่วไป” แต่เราจะเห็นว่า ที่ผ่านมา ต่อให้ “ปากแห้ง” แค่ไหน คุณบรรหารก็ยังเป็นนักการเมืองที่ยึดมั่นในหลักการของการธำรงรักษาพรรคการเมืองของตนให้เป็นหนึ่งในเสาหลักของระบบการเมืองไทยไว้ได้ ซึ่งน่าจะเป็นที่ชื่นชมสำหรับนักวิชาการที่ต่อต้านการลงโทษโดยการยุบพรรค ด้วยเหตุที่ว่าจะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ซึ่งจะว่าไปแล้ว หัวหน้าพรรคการเมืองสามพรรคที่กล่าวไปข้างต้นกลับกระทำการอัตวินิบาตกรรมทางการเมืองทั้งต่อพรรคตัวเองและต่อตัวเองเสียเอง โดยไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายยุบพรรคแต่อย่างใด น่าคิดว่าจะมีพรรคการเมืองของบ้านเมืองไหนที่ยุบพรรคตัวเองไปขอรวมกับพรรคที่เป็นรัฐบาลกันง่ายๆเพียงเพื่อจะได้ไม่ “อดอยากปากแห้ง” เพราะเพียงปีแรกที่ไทยรักไทยเป็นรัฐบาล ไม่ทันไร พรรคเสรีธรรมก็ยุบตัวเอง ต่อมา พ.ศ. ๒๕๔๕ พลเอกชวลิตก็ยุบความหวังใหม่ และพ.ศ. ๒๕๔๗ คุณสุวัจน์ก็ยุบพรรคชาติพัฒนา โดยมีคุณกร ทัพพะรังสีหลานแท้ๆของน้าชาติออกไปอยู่กับคุณทักษิณล่วงหน้าก่อนแล้ว

จะว่าไปแล้ว เวลาที่อยู่เป็นฝ่ายค้านยังไม่ได้เนิ่นนานอะไรที่ทำให้ต้อง “อดอยากเจียรตาย” ไขนขนาด ดังนั้น ถ้าพรรคการเมืองของตัวเองยังไม่มีความหมายอะไรมากนัก การจะถูกลงโทษทางกฎหมายด้วยการยุบก็น่าจะสอดคล้องกับบริบททางการเมืองแบบไทยๆ ในแง่นี้ นับว่าคุณบรรหารท่านเด็ดเดี่ยวมั่นคงจริงๆ ในการธำรงรักษาพรรคของท่านไว้ในขณะที่พรรคอื่นๆต่าง “หนีญญ่าย พ่ายจะแจ” ไปซบอกคุณทักษิณและช่วยกันยกมือแก้กฎหมายในสภาให้ครอบครัวคุณทักษิณซื้อขายหุ้นโดยไม่ต้องเสียภาษีได้สะดวกดายและกลายเป็นวิกฤตบ้านเมืองจนทุกวันนี้ แม้ว่าคุณบรรหารจะไม่ยุบพรรคในสมัยที่ทักษิณเดินหน้าควบรวมพรรคการเมืองต่างๆ แต่พรรคชาติไทยของคุณบรรหารก็โดนหางเลขของกระบวนการสร้างการเมืองแบบอำนาจนิยมของทักษิณไปพอสมควร เพราะสมาชิกพรรคของคุณบรรหารหนีไปอยู่พรรคของทักษิณ ดังที่สื่อได้ตั้งฉายาอาการการลื่นไหลของ ส.ส. จากพรรคคุณบรรหารไปอยู่กับไทยรักไทของทักษิณว่าเป็นอาการ “เลือดไหลไม่หยุด”

แหล่งข่าวกล่าวว่า “จากที่เคยมีส.ส. ๙๐ กว่าคน เหลือไม่ถึง ๔๐ คน นับเป็นห้วงเวลาที่ตกต่ำที่สุดของพรรคชาติไทย นับแต่ก่อตั้งพรรคขึ้นมาเมื่อปี ๒๕๑๗” อาการ “เลือดไหลไม่หยุด” ของพรรคการเมืองต่างๆในสมัยทักษิณ มีสาเหตุต่างๆกันไป ส.ส. บางคนของบางพรรคอาจจะเห็นว่า ถ้าอยู่พรรคเดิมต่อไป อนาคตไม่มี ต่อให้มีความสามารถอย่างไร ระบบครอบครัวของพรรคก็พิสูจน์ให้เห็นว่า “เลือดข้นกว่าน้ำ” ส่วนบางพรรคมีลำดับขั้นตอนอายุงานอาวุโสเป็นสำคัญ ยิ่งพรรคมีอายุเก่าแก่ด้วยแล้ว ส.ส. คนไหน “อาบน้ำร้อน (เป็น ส.ส. มาก่อน) มาก่อน” ก็ต้องรอคิวกันไป ดูแล้ว ชาติหน้าหรืออีกสองชาติ คงได้เป็นรัฐมนตรีหรือได้รับการส่งลงสมัครในเขตที่เป็นฐานเสียง แต่ ส.ส. บางคนของบางพรรคก็บ่นว่า ตนมีฐานเสียงดี แต่ทำงานลำบาก อะไรๆก็ต้องควักกระเป๋าตัวเองดูแลหมด พรรคไม่ค่อยจะช่วยหรือช่วยเลย ปล่อยให้ทำงานการเมืองตามยถากรรม แต่ถ้าย้ายพรรคไปอยู่กับอภิมหาเศรษฐีที่มีเงินเหลือกินเหลือใช้ ก็หายใจหายคอโล่ง สบายขึ้นมาก

ในวิกิฯกล่าวไว้ว่า “ก่อนการเลือกตั้งในปลาย พ.ศ. ๒๕๕๐ ไม่นาน ผู้สื่อข่าวถามว่า จะไปร่วมกับพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเก่าจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ คุณบรรหารตอบว่า ‘จะไม่ทำให้ผู้ใหญ่ที่นับถือมา 30 ปี ผิดหวัง’....หลังการเลือกตั้งปรากฏว่า คุณบรรหารและพรรคชาติไทยก็ไปเข้าร่วมกับพรรคพลังประชาชนจัดตั้งรัฐบาล” แต่อย่างไรก็ตาม คุณบรรหารก็ไม่ได้ยุบพรรคและก็ไม่ได้ไปร่วมรัฐบาลกับคุณทักษิณโดยตรง แต่ร่วมกับคุณสมัคร สุนทรเวช แต่ต่อมา คุณบรรหารและทายาทที่เล่นการเมืองก็ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นระยะเวลาทั้งหมด ๕ ปี เนื่องจากการยุบพรรคชาติไทย ซึ่งขณะนั้นคุณบรรหารดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค คุณบรรหารย่อมจะต้องเสียใจอย่างยิ่งที่ไม่สามารถรักษาพรรคชาติไทยไว้ได้

แต่กระนั้น ก็สามารถกลับมาเกิดใหม่เป็น “ชาติไทยพัฒนา” และไม่ “อดอยากปากแห้ง” อีกต่อไป เพราะไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลอภิสิทธิ์หรือยิ่งลักษณ์ต้องใช้บริการคุณบรรหาร ทำให้พรรคของคุณบรรหารได้เก้าอี้รัฐมนตรีตลอดทั้งสองรัฐบาล นักวิชาการประเทศที่เจริญแล้วอาจมองพรรคสไตล์น้าชาติ-คุณบรรหารว่าไม่ใช่พรรคการเมือง แต่ก็น่าจะยังดีกว่าพรรคที่ยุบ

แต่สำหรับการเมืองไทย พรรคแบบนี้เองที่ทำให้ไม่เกิดทางตันทางการเมืองและสามารถจัดตั้งรัฐบาลกันได้ เข้าทำนอง “เสียบเพื่อชาติ” อย่างตรงไปตรงมา แต่ไม่ว่าจะเสียบหรือจะถอด ถ้าไม่อยู่ในสถานะของความเป็นพรรค คงทำได้ยาก แม้จะช่วยให้ไม่ตัน แต่มันก็วนๆอยู่ไม่ไปไหน อดใจหายไม่ได้ที่ท่านจากไปเสียก่อนการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งครั้งต่อไป วิตกและนึกไม่ออกว่า จะมีใครมีบารมีเทียบคุณบรรหารได้ เพราะแอบนึกอยู่ในใจว่า ในสถานการณ์ความขัดแย้งสองขั้วนี้ คุณบรรหารมีบารมีและอยู่ในจุดกึ่งกลางพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี เราจะได้นายกฯที่เป็น ส.ส. ทางไม่ตันถึงขนาดต้องใช้บริการคนที่ไม่ได้เป็น ส.ส. แต่ถ้าตันเมื่อไร คุณบรรหารเองนี่แหละก็จะเป็นต้นหนเปิดเส้นทางให้คนที่ไม่ได้เป็น ส.ส. มาเป็นนายกฯ