posttoday

เลือดหยุดไหลเเล้วการบินไทย.... จะทะยานขึ้นฟ้าอีกครั้ง?

02 พฤษภาคม 2559

เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich (บรรยง พงษ์พานิช)

เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich (บรรยง พงษ์พานิช)

THAI....Takeoff again? ....1 พค. 2559
การบินไทย.... จะทะยานขึ้นฟ้าอีกครั้ง?

ถึงแม้ผลประกอบการของปี 2558 ของบริษัทการบินไทย จะยังมีผลขาดทุนสูงถึง 13,068 ล้านบาท ดีขึ้นจากปี 2557 ที่ขาดทุน 15,572 ล้านบาทเพียงเล็กน้อย แต่พอลงไปดูในรายละเอียดก็ใจชื้นขึ้นเยอะ เพราะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างมากอยู่หลายด้านทีเดียว

ในปีที่ผ่านมา การบินไทยปิดสถานีบริการไปสี่แห่ง (มาดริด แอลเอ โยฮันเนสเบอร์ก และมอสโคว์) และลดจำนวนเครื่องบินที่ให้บริการลง 7 ลำ (เหลือ 95 ลำ) แต่มีการใช้ประโยชน์ดีขึ้น Productionเพิ่มจาก 82.9 เป็น 83.5 พันล้านASK (Available Seat-Kilometres) อัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ยก็เพิ่มดีขึ้นจาก 10.4 เป็น 10.9 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่ Cabin Load Factor(คนนั่งต่อเก้าอี้ที่มี)ก็ดีขึ้นมากจาก 68.9% เป็น72.9% ผู้โดยสารรวมทั้งปีก็เพิ่มถึง11% จาก 19.1 เป็น 21.25 ล้านคน ปริมาณการผลิตที่ลดก็มีเพียงการขนส่งสินค้าที่ลดจาก 2,500 เหลือ 2,100 ล้านตัน-กิโลเมตร ซึ่งก็เป็นไปตามการชะลอตัวของการค้าโลก

ส่วนที่รายได้รวมของการบินไทยกลับลดลงเล็กน้อยจาก 191 เป็น 189พันล้านบาท สาเหตุหลักก็เป็นเพราะการที่ราคาน้ำมันลดลงถึง 40% ทำให้มีการแข่งขันลดราคาจนรายได้ค่าโดยสารต่อหน่วยลดลง 7.4% จาก 2.66 เหลือ 2.46 บาท/คน-กิโลเมตร ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลเพราะต้นทุนนำ้มันลดลงมากกว่า ส่วนค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่น้ำมันก็สามารถลดลงได้ 7,739ลัานบาท ทั้งๆที่ไม่ได้ลดการผลิตรวม

ผลโดยรวมทำให้ในปี 2558 การบินไทยมีEBITDA (กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อม) เพิ่มขึ้นมาก จากเดิมที่มีแค่ 3,589 ล้านบาท(ที่ไม่พอแม้จะจ่ายดอกเบี้ยปีละเกือบหกพันล้าน) มาเป็น 19,560 ล้านบาท ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและค่าเสื่อมแล้ว ในปีที่แล้ว การบินไทยสามารถลดการขาดทุนจากการดำเนินงานจาก 23,019 ล้านบาท ลงมาเหลือเพียง 1,304 ล้านบาท ลดได้ถึง 94% เรียกได้ว่า"เลือดหยุดไหล"แล้ว แต่ที่ขาดทุนรวมยังสูงอยู่ก็เพราะในปีที่แล้วยังมีค่าใช้จ่ายพิเศษในการปฏิรูปองค์กร(ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นการเชื้อเชิญให้พวกที่เก่งน้อย หรือทำน้อย ให้กลับไปพักผ่อนที่บ้านแหละครับ)อยู่ 4,617ล้านบาท กับมีการบันทึกการด้อยค่าทรัพย์สินเพื่อให้สะท้อนมูลค่าแท้จริงอีก 12,157ล้านบาท ซึ่งทั้งสองเรื่องไม่ใช่การดำเนินงานปกติ

แถมแนวโน้มก็ทำท่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ โดยตามข่าว Cabin Factor ซึ่งเป็นตัวเลขที่สำคัญที่สุดตัวหนึ่งในไตรมาสแรกของปีนี้ก็เพิ่มเป็น 77.9%(ปีที่แล้ว72.9)แทบจะสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ไปได้เรื่อยๆ ปี2559นี้ คงมีกำไรจากการดำเนินงาน และอาจมีกำไรสุทธิเป็นบวกได้เป็นครั้งแรกหลังจากขาดทุนบักโกรกมาสามปีติดรวมร่วมสี่หมื่นลัานบาท(ทั้งหมดนี่ไม่ได้ชี้นำโดยใช้ข้อมูลภายในใดๆนะครับ)

ต้องขอแสดงความยินดีกับคณะกรรมการ(โดยเฉพาะชุดอนุฯฟื้นฟู) คณะผู้บริหาร และพนักงาน (เฉพาะพวกที่ตั้งใจ ทุ่มเท และสุจริต)ด้วยนะครับ และน่าจะเป็นเพราะกลยุทธการแก้ไขแบบ Shrink to Grow ของพวกท่านมาถูกทางแล้ว

ถามว่า...แค่นี้พอแล้วหรือยัง? ทำพอแล้ว? ปล่อยไปเรื่อยๆก็จะดีสู่ภาวะปกติที่ควรเป็น แค่นี้ก็พอสู้พอฟัดกับคู่แข่งระดับโลกที่รายล้อมอยู่ได้สบายๆแล้วไหม?

ตอบทันทีเลยครับว่า "ยัง" แค่นี้แค่หยุดเลือดที่ไหลจวนหมดตัวได้ (เมื่อสิ้นไตรมาสสามปีที่แล้ว การบินไทยมีหนี้สินต่อทุนเกือบยี่สิบเท่าตัว) แต่ยังไม่เพียงพอที่จะให้แข็งแกร่ง ยังไม่เพียงพอที่จะแข่งขัน รวมทั้งให้เจริญก้าวหน้ากลับไปเป็นสายการบินชั้นนำของโลกได้หรอกครับ ทุกอย่างมันเป็นแค่การเริ่มต้น เรายังต้องทำอีกมากมายนัก

ตัวเลขง่ายๆที่จะทำให้เราเริ่มแข่งได้ ก็คือต้องมีEBITDAให้ได้อย่างน้อยปีละสัก 35,000 ล้านบาท ถ้าจะมีเครื่องในฝูงบินประมาณ 100 ลำ ซึ่งต้องปรับปรุงอีกเยอะมาก

การบริหารเครือข่ายเส้นทาง(Network Management System)ที่มีประสิทธิภาพมีระบบรองรับเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาต่อ การบริหารราคาขาย(Revenue Management System) บริหารช่องทางขาย บริหารตัวแทนขาย เพิ่มการขายตรง ลดบทบาทอิทธิพลและต้นทุนของเอเย่นต์ขาย ทั้งหมดที่เกี่ยวกับรายรับต้องปรับปรุงให้ทันสมัยเป็นสากล ลดรั่วไหล

เรื่องการควบคุมต้นทุน โดยเฉพาะในการจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่การจัดซื้อของใหญ่ที่เป็นStrategic Procurement เช่นเครื่องบิน อะไหล่ เก้าอี้ อุปกรณ์ หรือการลงทุนต่างๆ ต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส ไม่ถูกชักจูงโดยอิทธิพลภายนอก (เช่น ซื้อเครื่องรุ่นที่ไม่ควรซื้อ) ตลอดไปจนถึงการจัดซื้อทั่วไป เช่น อาหาร ของใช้บนเครื่อง วัสดุสิ้นเปลืองต่างๆ ฯลฯ ที่ปีหนึ่งๆมีการจัดซื้อหลายหมื่นล้านบาท ...ซึ่งในการจัดซื้อนั้น ผมมีข้อแนะนำให้พยายามเลิกระบบตัวแทนนายหน้าที่มีอยู่ทุกจุด โดยให้จัดซื้อตรงจากผู้ผลิต กับให้รวมศูนย์การจัดซื้อและสร้างระบบGlobal Procurementให้ได้มาตรฐานเช่นเดียวกับสายการบินชั้นนำอื่นๆ

เรื่องของต้นทุนสายการบินที่ปกติเขาวัดกันที่ต้นทุนต่อเก้าอี้-กิโลเมตร(Cost to Available Seat-Kilometre)นั้น ผมเคยยืนยันว่าเป็นจุดสำคัญที่สุดในการแข่งขัน ซึ่งได้มีผู้บริหารท่านหนึ่งแย้งมาว่า เมื่อเทียบกับสายการบินคู่แข่งระดับเดียวกันสองแห่ง คือ Singapore Airlines และ Cathay Pacific แล้ว การบินไทยยังมีต้นทุนCASKต่ำกว่าอยู่ประมาณ10% ...ซึ่งเรื่องนี้ถ้าวิเคราะห์ให้ดีจะเห็นว่า CASKนั้นเป็นการคำนวณคร่าวๆ ที่เอาต้นทุนทั้งหมดหารด้วยASKของสายการบินแต่ละแห่ง โดยไม่ได้คำนึงว่าจำนวนเก้าอี้ที่เอามาหารนั้นเป็นเก้าอี้ชั้นไหนในสัดส่วนเท่าไร ทีนี้ทั้งสองสายการบินนั้นมีเก้าอี้First และ Business Class ในสัดส่วนมากกว่าเราเยอะ เอามาหารเฉลี่ยทำให้ดูเหมือนต้นทุนสูง แต่เขาขายได้ราคาสูงกว่าเราเยอะ ...ลองเปรียบเทียบง่ายๆกับเครื่องAirbus A380-800 ของSA จะมีเก้าอี้เพียง 409 seats โดยเป็น F และB Classอยู่ 98 seats แต่ของTHAIจะมีรวม 507 seats โดยเป็น F และB อยู่72 ที่ ซึ่งถ้าต้นทุนการบินเท่ากัน CASKของSAก็จะดูสูงกว่าของTHAIอยู่20% แต่ราคาขายรายได้(Yield)ของเขาก็สูงกว่าเรามากด้วย (ประมาณ30%) ซึ่งนอกจากจะเป็นเพราะมีเก้าอี้ชั้นดีมากกว่าแล้ว ทั้งสิงคโปร์และฮ่องกงก็ยังเป็นตลาดที่มีฐานคนรายได้สูงจ่ายราคาแพงได้มากกว่าเราเยอะมาก(รายได้GDPต่อหัวแปดเท่าของไทย) ...สรุปเป้าง่ายๆว่าถ้าจะแข่งกับเขาให้ได้ดีเราคงต้องพยายามมีCASKต่ำกว่าเขาให้ได้อย่างน้อย 30%

เรื่องการพัฒนาบุคคลากรก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งถึงแม้เราจะจ่ายผลตอบแทนต่อคนต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่ง แต่ค่าใช้จ่ายพนักงานโดยรวมเทียบกับCapacityของTHAIนั้น นับได้ว่าสูงที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทั้งนี้เพราะเราใช้คนเยอะเหลือเกินในทุกด้านทุกหน่วยงาน เรามีพนักงานสำนักงานใหญ่ 3,500 คน เทียบกับSAที่มีแค่1,500 คน(เขามีฝูงบิน120 ลำ) เรามีฝ่ายช่างกว่าสี่พันคน ประสิทธิภาพต่อหัวของเราต่ำมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรม ผู้บริหารจำนวนมากที่ไม่มีงานทำ หรือมีงานน้อยเกินไป พนักงานบนเครื่องนอกจากมีมากแล้วนโยบายการจ้างแบบLifetime Employmentยังทำให้ค่าจ้างสูงและประสิทธิภาพต่ำ (ที่อื่นใช้สัญญาจ้างแค่3-5ปี) เรื่องการพนักงานนี้คงต้องยกเครื่องกันทุกด้านทั้งปริมาณ คุณภาพ ผลตอบแทน และการประเมินผลให้รางวัล

ที่สำคัญมากที่สุดอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องคุณภาพการให้บริการ ซึ่งมาตรวัดที่ดีที่สุดก็คงเป็นการจัดอันดับของ Skytrax ซึ่งการบินไทยเคยอยู่ในอันดับที่ดีมานาน ปี 2009 ตอนผมเข้าไปเป็นกรรมการ ถึงแม้จะขาดทุนแต่ก็ยังอยู่อันดับ10 พอปรับปรุงการบริหารมีกำไร อันดับก็ดีขึ้นเป็นอันดับ9 ในปี2010 และกลับไปเป็นTop Five อันดับ5 ในปี 2011 ...แต่หลังจากนั้นอันดับก็ไหลรูดจนปัจจุบัน(2015)ตกไปอยู่อันดับที่19 ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะเราห่วยลงแต่อย่างเดียว แต่เป็นเพราะคู่แข่งปรับปรุงพัฒนากันอย่างเข้มข้น ...ที่น่าเป็นห่วงมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าดู Top Ten ของโลกในปัจจุบัน ก็ปรากฎว่า 8 ใน 10 ต่างก็เป็นคู่แข่งโดยตรงของTHAIทั้งนั้น แถม 5 ใน 8 ยังใช้สุวรรณภูมิเป็นSecond Hubด้วยอีกต่างหาก (Qatar Emirates Etihad ANA EVA) ซึ่งเป้าหมายเร่งด่วนก็คือ ต้องปรับปรุงคุณภาพการให้บริการทุกจุดให้กลับไปอยู่ในTop Tenให้ได้ถึงจะแข่งขันได้เคียงบ่าเคียงไหล่กับคู่แข่ง

ทั้งหมดนี้ก็เป็นสถานการณ์ของ"การบินไทย"ที่ถึงแม้จะดีขึ้นมาก พัฒนามาถูกทาง แต่ก็ยังมีภาระกิจอีกมากที่ต้องร่วมมือกันมุ่งมั่นเพื่อไปให้ถึงฝั่งฝัน ผมขอแสดงความชื่นชม เป็นกำลังใจ จะเอาใจ(และกาย)ช่วย ด้วยความหวังเต็มเปี่ยมว่าสายการบินแห่งชาตินี้จะกลับมาเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยได้อีกครั้งหนึ่งครับ

ที่มา https://www.facebook.com/banyong.pongpanich/posts/522938864576084