posttoday

เทรนด์โลกเลิกเกณฑ์ทหาร ไทยควรทำอย่างไร ?

11 เมษายน 2559

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

โดย...สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

ประเด็นการรับใช้ชาติโดยการเป็น “ทหาร” กำลังได้รับความสนใจ นั่นเพราะมีกระแสข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง

เริ่มจากวันที่ 30 ธ.ค. 2558 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง พ.ศ. 2558 เพื่อเรียกกำลังพลสำรองในการตรวจสอบฝึกวิชาทหาร ปฏิบัติราชการ หรือทดลองความพรั่งพร้อม ซึ่งจะมีการบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ภายใน 240 วัน

ต่อมาวันที่ 21 ม.ค. 2559 ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 45 (พ.ศ. 2518) ของ พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ที่ให้บุคคลที่มีภูมิลำเนาตามท้องที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ประกอบด้วยประชากรที่เป็นชาวเขาเผ่าต่างๆ และชาวมอแกน ในพื้นที่ชายแดนหลายร้อยหมู่บ้าน นั่นทำให้ชาวเขาและชาวมอแกนที่มีสัญชาติไทยทุกพื้นที่ ต้องเข้าสู่การเกณฑ์ทหารโดยไม่มีข้อยกเว้น

ในวันที่ 1-12 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ หรือเกณฑ์ทหาร ซึ่งเต็มไปด้วยสีสันเพราะมีทั้งดาราจำนวนมากมาเข้าร่วมการตรวจเลือก และชายไทยที่แต่งกายเป็นหญิง เนื่องจากเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดมารับการตรวจเลือก

ขณะเดียวกัน ก็มีกระแสข่าวการทำร้ายทหารเกณฑ์บาดเจ็บถึงเสียชีวิต ทำให้เกิดคำถามในสังคมถึงระบบในการเกณฑ์ทหารและดูแลทหารกองประจำการ

ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ ได้ระบุหน้าที่ของปวงชนชาวไทยที่จะต้องรับราชการทหาร และ พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 7 ระบุว่า ชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย มีหน้าที่ต้องรับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน

อีกทั้งมาตรา 9 ก็ระบุว่า ทหารกองเกินซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์ และยังไม่ถึงสามสิบปีบริบูรณ์เป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างที่จะต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการ โดยเปิดโอกาสให้สมัครใจเข้ารับราชการทหาร แต่เนื่องจากผู้สมัครใจไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงกำหนดให้มีการคัดเลือกวิธีการจับสลากในการคัดเลือกทหาร

ข้อมูลปี 2557 พบว่ากองทัพทั้ง 3 เหล่าทัพ ต้องการทหารกองประจำการ 100,865 นาย มีผู้สมัครใจเข้ากองประจำการเพียง 33,500 คน คิดเป็น 33.21% ต่อมาในปี 2558 มีความต้องการ 99,373 นาย มีผู้สมัครเพิ่มขึ้นเป็น 43,446 คน คิดเป็น 43.72%

แม้อัตราผู้สมัครใจเป็นทหารจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ทางกระทรวงกลาโหมมีข้อมูลชัดเจนว่าผู้สมัครใจเข้ารับราชการทหาร มีความพร้อมความเอาใจใส่ และปฏิบัติราชการได้ดีกว่าผู้ที่ถูกบังคับหรือจับสลากเข้ามา อีกทั้งการหลบหนีจากการฝึกและการปฏิบัติราชการของผู้สมัครใจก็มีน้อยกว่ากลุ่มผู้ถูกบังคับหรือจับสลากเข้ามามาก

ดังนั้น การส่งเสริมให้บุคคลเข้ารับราชการทหารโดยวิธีสมัครใจจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก

นั่นเพราะ นอกจากได้ทหารที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพแล้ว ยังสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ข้อ 18 ที่ระบุว่า บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิในเสรีภาพทางความคิด มโนธรรม และศาสนา

ในหลายประเทศมีปัจเจกชนอ้างสิทธิที่จะปฏิเสธเข้าร่วมภารกิจทางทหาร และการบังคับการเกณฑ์ทหาร โดยเห็นว่าขัดต่อเสรีภาพทางความคิด มโนธรรม และความเชื่อทางศาสนาที่เขานับถือ

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประเทศต่างๆ ที่ร่วมรบในสงคราม อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี รวม 103 ประเทศ ได้ยกเลิกการเข้ารับราชการทหารโดยบังคับ มาเป็นการคัดเลือกโดยสมัครใจเพียงอย่างเดียว

ในหลายประเทศได้ปฏิรูปกองทัพด้วยการพัฒนาทหารอาชีพ ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะ สามารถตอบสนองสภาพสังคมที่ปรับเปลี่ยนไป ด้วยการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่ยังสงวนอำนาจในการรื้อฟื้นการเกณฑ์ทหารในยามสงครามหรือเกิดวิกฤตการณ์ไว้ อาทิ ประเทศแอลบาเนีย ยกเลิกการเกณฑ์ทหารในปี 2553 ประเทศยูเครน ยกเลิกการเกณฑ์ทหารในปี 2556 และประเทศไต้หวัน ยกเลิกการเกณฑ์ทหารในปี 2558

ขณะนี้จึงเหลือเพียง 24 ประเทศ ที่ยังคงคัดเลือกโดยถูกบังคับ และมี 45 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยที่คัดเลือกทั้งโดยสมัครใจและถูกบังคับ

ดังนั้น เพื่อให้ได้ทหารกองประจำการที่มีคุณภาพประสิทธิภาพและสมัครใจอย่างแท้จริง กระทรวงกลาโหมและกองทัพไทย ควรส่งเสริมหรือมีการจูงใจต่างๆ ต่อการสมัครใจเข้าเป็นทหารกองประจำการที่ได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น การบรรจุเป็นข้าราชการ การได้รับการฝึกอาชีพ การได้เลื่อนยศตำแหน่ง และก้าวหน้าในระบบราชการ รวมถึงค่าตอบแทน ฯลฯ ตลอดจนพัฒนาทหารกองประจำการไปสู่ระบบทหารอาชีพ ซึ่งมีความยั่งยืน เชี่ยวชาญ และได้รับการพัฒนาฝึกอบรมอย่างสม่ำเสมอ 

ที่สำคัญ ต้องกำหนดเป้าหมายและวิธีการที่ชัดเจนในการลดทหารกองประจำการที่ถูกบังคับหรือถูกเกณฑ์ทหารลงตามลำดับ จนไปสู่ทหารกองประจำการโดยสมัครใจอย่างแท้จริง เช่น กำหนดเป้าหมายให้การคัดเลือกทหารเข้ากองประจำการปี 2560 เป็นทหารเกณฑ์หรือถูกบังคับ 40% เป็นทหารที่สมัครใจ 60% และลดอัตราส่วนของทหารเกณฑ์หรือถูกบังคับลง ขณะที่เพิ่มอัตราส่วนของทหารที่สมัครใจตามลำดับ จนได้ทหารที่สมัครใจทั้ง 100%

นอกจากนี้ ควรให้ผู้ที่สมัครใจเข้าเป็นทหารกองประจำการในพื้นที่ที่มีการสมัครใจมากกว่าความต้องการในพื้นที่ สามารถเป็นทหารกองประจำการได้โดยไม่ต้องเสียสิทธิ

ท้ายที่สุด กระทรวงกลาโหมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาปรับปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ให้ทันสถานการณ์ในปัจจุบัน และเพื่อให้มีการรับราชการทหารกองประจำการโดยวิธีสมัครใจ ซึ่งจะสอดคล้องกับหลักการในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี

ทั้งหมดจะนำไปสู่การเป็นทหารที่มีคุณภาพ เป็นทหารอาชีพ และเป็นทหารโดยสมัครใจ