posttoday

เล่าเรื่อง..ไอ้เตากับ "เศษกระดาษปานามา"

07 เมษายน 2559

เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich (บรรยง พงษ์พานิช )

เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich (บรรยง พงษ์พานิช )

เล่าเรื่อง....ไอ้เตากับ"เศษกระดาษปานามา"(Panama Papers). ....7เมย.2559

เรื่อง Panama Papersเป็นข่าวเกรียวกราวโด่งดังไปทั่วโลกตอนนี้ แล้วดันมีรายชื่อคนไทยหลายร้อยคนอยู่ในเอกสาร สื่อไทยก็เลยเอามาลงกันครึกโครม บางสื่อบางโซเชียลมีเดีย ก็ชี้นำเหมือนว่าคนที่มีรายชื่อนั้นได้ประกอบอาชญากรรมทำชั่วไปแล้ว ทั้งๆที่ยังไม่มีใครเข้าใจอะไรอย่างถ่องแท้เลย

ทีนี้มันดันมีชื่อไอ้เตาอยู่ในรายชื่อด้วย ...ซึ่งตอนแรกผมก็งง เพราะไม่เคยรู้จัก ไม่เคยใช้บริการของMossack Fonsecaแห่งปานามา ซึ่งเป็นต้นตอของข้อมูลที่leakมาแต่อย่างใด แต่พอไล่เรียงข้อมูลเท่าที่มีอยู่ก็เลยพอปะติดปะต่อได้ว่าเรื่องราวมันเป็นจั๋งใด เลยจะเอามาเล่าให้ฟังนะครับ

ก่อนอื่น...ต้องบอกก่อนว่าผู้เผยแพร่ข้อมูล ซึ่งก็คือICIJ (The International Consortium of Investigative Journalists) เขาก็ระบุไว้ในหน้าแรกของเอกสารก่อนเลยว่า There are legitimate uses for offshore companies and trusts. We do not intend to suggest or imply that any persons, companies or other entities included in the ICIJ Offshore Leaks Database have broken the law or otherwise acted improperly. ใครจะเข้าไปดูข้อมูลต้องติ๊กว่าได้อ่านและเข้าใจ ...ซึ่งการใช้ การมีOffshore Business Entitiesนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ได้ผิดกฎหมายใคร และก็มีประโยชน์ไม่น้อย ...แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีอยู่บ้างที่ใช้เพื่อทำเรื่องผิดกฎหมาย อันได้แก่ การซุกซ่อนทรัพย์สิน การฟอกเงินผิดกฎหมาย(เช่น คอร์รัปชั่น ยาเสพย์ติด อาชญากรรม) กับการหนีภาษี(Tax Evasion) ซึ่งก็เหมือนๆกับทุกวงการที่มีทั้งดีทั้งชั่วปนอยู่

ผมแน่ใจว่ามีคนไทย มีกิจการไทย อีกหลายพันรายที่ต่างก็มี Offshore Business Entities แบบนี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆกัน และผมก็เชื่อว่าส่วนใหญ่มิได้ทำผิดกฎหมายใดๆ โดยหลายแห่งอาจทำเพื่อความจำเป็นให้มีประสิทธิภาพแข่งขันได้ด้วยซ้ำ บางแห่งก็ต้องการความคล่องตัวซึ่งระบบกฎหมายไทยไม่เอื้ออำนวย

ที่ผมไปมีชื่อในDatabaseนี้ ก็เพราะผมเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง(ในหลายสิบคน ซึ่งหลายคนก็ปรากฎชื่อในลิสต์เช่นกัน)ใน Ruamphon Phatra International Corp.(RPIC)ซึ่งจดทะเบียนในSamoa โดย RPIC ใช้บริการของ Heritage Fiduciary Services Pte ซึ่งเป็นสำนักงานที่สิงคโปร์ แล้วเขาไปใช้บริการของ Mossack Fonseca อีกทีนึง ชื่อและข้อมูลของพวกเราจึงไปโผล่ใน Database

เลยต้องเล่าถึงที่มาที่ไปของ RPIC ว่ามันตั้งขึ้นเพื่ออะไร เมื่อไหร่ มีหน้าที่อะไร ไฉนถึงไปอยู่ที่ Samoa  และได้ทำอะไรไปบ้าง มีสถานะอย่างไร ได้ทำผิดกฎหมายไหม

RPIC ตั้งขึ้นเมื่อปี 2003 เพื่อทำหน้าที่เป็น Holding Company ถือหุ้นในบล.ภัทร...ผู้ถือหุ้น RPIC ล้วนแต่เป็นผู้บริหารที่ร่วมกันซื้อหุ้น (Managemeny-buy-out) มาจากผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่ง RPIC นั้นไม่ได้ประกอบกิจการอื่นใดเลย นอกจากการถือหุ้นบล.ภัทรซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็น บมจ.ทุนภัทร และ SWAP เป็นหุ้นของ ธนาคารเกียรตินาคิน

สรุป ปัจจุบัน RPIC ถือหุ้นKK อยู่71.4ล้านหุ้น คิดเป็น8.46%(มูลค่าประมาณ3,000ล้านบาท) และไม่ได้ทำกิจการอื่นใดอีก

ถึงตอนนี้ต้องเล่าที่มาที่ไปนิดนึง...

จากวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้บง.ภัทรธนกิจ ไม่อยู่ในฐานะที่จะดำเนินกิจการต่อได้ เลยขายบล.ภัทร ในมูลค่า5,200ล้านบาท ให้กับ Merrill Lynch 51% และธ.กสิกรไทย49%ในปี 1998 โดยให้ ML เป็นผู้บริหารหลัก(เปลี่ยนชื่อเป็นMLP) ซึ่งผมรับเป็นประธานกรรมการตั้งแต่ปี 2000

พอมาปี 2003 MLเปลี่ยนGlobal Policy ถอนตัวจากตลาดเกิดใหม่ ขอให้ MLP หดตัว ให้เลิกธุรกิจ Private Wealth ให้มุ่งเน้นทำแต่ธุรกิจข้ามชาติกับให้บริการลูกค้ารายใหญ่มากๆเท่านั้น ผมเลยรวบรวมผู้บริหารเข้าเจรจาซื้อหุ้นจาก ML ในราคา Book Value แล้วเปลี่ยนเป็นสัญญาร่วมธุรกิจกันแทน ภายหลังธ.กสิกรไทยซึ่งเดิมเคยคิดจะถือหุ้นต่อขอเสนอขายด้วย ผู้บริหารจึงตกลงซื้อหุ้นทั้งหมดในมูลค่า 950 ล้านบาท ซึ่งผมรวบรวมเงินลงทุนได้ 500 ล้านบาท อีก 450 ล้านบาทต้องกู้ยืมจากธ.ธนชาติ(แต่ภายในปีเศษก็ขยันกันทำงานจนมีกำไรจ่ายปันผลไปคืนหนี้ได้หมด)

พอต้องกู้ยืม หุ้นก็เลยต้องอยู่ในHolding Company เพราะไม่มีใครให้กู้รายบุคคลในเรื่องอย่างนี้ เราแบ่งหุ้น 51%อยู่ใน รวมพลภัทร(ประเทศไทย) และอีก 49%ที่ซื้อจากML(เงินที่ส่งออกได้ขออณุญาติจากธปท.ถูกต้องทุกประการ)เอาไว้ต่างประเทศที่ RPIC ที่ Samoa

ทำไมต้องSamoa....

เนื่องจากที่เราทำเป็นManagement-buy-out ซึ่งกิจการจะกำไรรุ่งเรืองได้นั้น ขึ้นอยู่กับความทุ่มเท ความผูกพัน ของผู้บริหารหลักที่มีอยู่ประมาณสามสิบคนและต้องหาเพิ่มอีก เราจึงต้องการให้หุ้นส่วนหนึ่ง(49%)เป็นหุ้นที่มีข้อผูกพัน ไม่เป็นหุ้นที่เป็นสิทธิ์ขาด โดยทุกคนต้องเคารพกติกา ซึ่งเรามีกติกาชัดเจน เช่น

- ทุกคนต้องอยู่ทำงานต่ออย่างน้อยห้าปี ถ้าออกก่อน จะเป็นลาออก ถูกขอให้ออก หรือแม้แต่ตาย ต้องขายหุ้นของตนคืนบริษัทที่Book Value

- ทุกปี ผู้ถือหุ้นอาจจะมีการอนุมัติให้ออกหุ้นใหม่เพิ่มให้กับผู้บริหารที่มีผลงานดีเด่น มีการออกหุ้นเพื่อเชื้อเชิญผู้บริหารใหม่จากข้างนอกมาร่วมทุนบริหารกิจการร่วมกัน หรืออาจมีการเวนคืนหุ้นจากผู้บริหารที่ผลงานด้อยลงหรือลดบทบาทลง ทั้งนี้มีคณะกรรมการพิจารณาตามกรอบที่ตกลงกัน

- ในกรณีที่มีการปรับโครงสร้าง มีMerger ก็อาจมีการเรียกประชุมเพื่อปรับเปลี่ยนกติกาได้

ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่สามารถทำได้หากจัดตั้งบริษัทจำกัดตามกฎหมายไทย ถ้าจะทำต้องแยกทำสัญญารายตัวต่างหากทีละคน การปรับเปลี่ยนแทบทำไม่ได้เลย ขาดความคล่องตัว แถมถ้าคู่สัญญารายใดมีปัญหา(เช่น ตายไปแล้วผู้รับมรดกไม่เข้าใจ)จะต้องฟ้องร้องวุ่นวายทุกอย่างหยุดชะงักหมด

ซึ่งการจัดโครงสร้างอย่างนี้ ก็ให้ผลดีสมความมุ่งหมาย เรามีคนออกก็ขายคืนหุ้นบริษัทไม่ต้องผิดใจกัน แถมมีหุ้นไปเชิญชวนคนเก่งๆมาลงทุนร่วมงานเพิ่มอีกเยอะ อยู่กันมาได้อย่างมีความสุข มีประสิทธิภาพกันดี ถ้าตั้งในไทยแบบกม.ไทยคือถือหุ้นตายตัวไปเลย อาจต้องมานั่งทะเลาะ"มึงทำน้อยได้มาก กูทำแทบตายได้นิดเดียว"กันอยู่อย่างนั้นแทนที่จะไปช่วยทุ่มเททำงาน

ขอเล่าต่ออีกนิดนะครับ ...หุ้นที่อยู่ใน Holding ไทย พอคืนหนี้เสร็จก็แจกจ่ายให้บุคคลไป จนอีกสองปี(2005)ก็เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดย RPIC ก็ยังทำหน้าที่เป็นกลไกในการบริหารกิจการร่วมกันจนทุกวันนี้

ผมขอเรียนว่า ทุกอย่างนั้นเป็นเรื่องที่เปิดเผย ทั้งในรายงานต่อกลต. ทั้งในรายงาน56-1 รายงานประจำปี ไม่มีเรื่องใดซ่อนเร้นแต่อย่างใด ทุกอย่างมีเหตุผล มีจุดมุ่งหมายและโปร่งใสตลอดมา

ถามว่า ...นี่เป็นเรื่องผิดกฎหมายไหม? ปิดบังทรัพย์สินไหม? ฟอกเงินไหม? หนีภาษีไหม?

ขอตอบทีละประเด็นนะครับ....

ผิดกฎหมาย....เราได้ทำการศึกษาอย่างถี่ถ้วนว่า สิ่งที่ทำไม่ผิดข้อใดๆ เราเลือก Samoa เพราะว่าเหมาะสมกับภารกิจของเรา ค่าใช้จ่ายไม่มาก ...ลองคิดดูง่ายๆนะครับถ้าตั้งใจทำผิด คนหลายสิบคนจะมาลงชื่อโดยเปิดเผยได้อย่างไร

ปิดบังทรัพย์สิน...คนที่มีหน้าที่เปิดเผยทรัพย์สินต้องรับผิดชอบ อย่างผมตอนที่ต้องรายงานทรัพย์สินต่อปปช.ก็ไม่ได้ปิดบัง มีรายการนี้อยู่ตลอด

ฟอกเงินไหม....เงินที่ใช้นี้เป็นเงินลงทุนจากคนหลายสิบคนรวมกัน ทุกคนลงเงินสด บ้างก็เป็นเงินออมบ้างก็กู้ยืมมา และในการนำเงินออกนอกประเทศได้ขออนุญาตนำเงินออกนอกประเทศและลงทะเบียนกับธปท.อย่างถูกต้อง

หนีภาษีไหม....รายได้ของ RPIC คือ เงินปันผลที่ได้จากภัทรหรือ KKP เป็นรายได้ที่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายตามกม.ไทยทุกประการ

ทั้งหมดที่เล่ามานี้ เป็นความจริงในเรื่องที่เกี่ยวกับตัวผมและ RPIC ทุกประการ ซึ่งผมก็เชื่อว่าคนที่มี Offshore Business Entities นั้นล้วนมีเหตุผล และมีวัตถุประสงค์ของตน ซึ่งย่อมแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่ไม่น่าจะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ก็เหมือนกับทุกวงการ ทุกๆแห่งแหละครับ ที่ย่อมมีคนไม่ดีปะปนอยู่ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องแยกแยะต้องสืบค้นกันต่อ ซึ่งถ้าเกี่ยวกับผมก็ยินดีให้ความร่วมมือทุกอย่างนะครับ

สองสามวันมานี้ มีสื่อทั้งนสพ.ทั้งโทรทัศน์โทรมานับสิบราย ก็เลยถือโอกาสขออธิบายในนี้ทีเดียวเลยนะครับ

ที่มา https://www.facebook.com/banyong.pongpanich/posts/514568342079803

ภาพจาก https://panamapapers.icij.org/