posttoday

แก้ปัญหา : ประชารัฐ?

21 มีนาคม 2559

สุวิทย์ คุณกิตติ

โดย...สุวิทย์ คุณกิตติ

รัฐบาลมีความพยายามในการที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากในรูปแบบที่เรียกว่า “ประชารัฐ”

รัฐบาลได้ใช้กลไกกองทุนหมู่บ้านในการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นการเพิ่มอัตราการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ เหมือนอย่างที่เคยแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบเมื่อปี 2540 โดยอัดฉีดเงิน 1 ล้านบาทให้กับหมู่บ้านและชุมชนเมืองต่างๆ เกือบ 8 หมื่นหมู่บ้านและชุมชนเมืองทั่วประเทศ วิธีการดำเนินการในครั้งนั้นสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เพราะผมได้วางกลไกในการอัดฉีดเงินผ่านสถาบันการเงินให้กับกองทุนหมู่บ้านโดยตรง และไม่ผ่านระบบราชการที่ซับซ้อนและยุ่งยาก ทำให้เงินจำนวนเกือบ 8 หมื่นล้านบาท กระจายไปตามหมู่บ้านและชุมชนเมืองทั่วประเทศได้รวดเร็วเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เหมือนไอติมแท่งที่ส่งลงไปถึงหมู่บ้านโดยไม่มีใครเปิดถุงเลียก่อนที่จะถึงมือชาวบ้าน ทำให้อัตราการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ (Multiplier Effect) หมุนได้หลายรอบมากกว่าปกติ

แต่การดำเนินการในครั้งนี้ คนที่กำหนดนโยบายและผู้ที่รับผิดชอบดำเนินการอาจจะเคยเห็นและเห็นว่ากลไกที่จะอัดฉีดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เพื่อจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้อย่างรวดเร็วและดีที่สุดคือ “กองทุนหมู่บ้าน” แต่การดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการโดยไม่เข้าใจกลไกของกองทุนหมู่บ้าน ทำให้การอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่นไม่รวดเร็วเหมือนอย่างที่เคยทำมาและไม่ได้เป็นไปอย่างที่รัฐบาลต้องการ

การดำเนินการในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการโดยการอัดฉีดเงินผ่านระบบกองทุนหมู่บ้าน หรือโครงการเพิ่มสินเชื่อให้กับประชาชนและช่วยเหลือเกษตรกรที่มอบหมายให้ธนาคารของรัฐ ทั้งธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการ

โครงการการปล่อยเงินกู้ผ่านธนาคารของรัฐที่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ได้เป้าหมายการปล่อยเงินกู้ตามที่รัฐบาลได้กำหนดวงเงินให้แต่ละธนาคารไปดำเนินการ ธนาคารจึงได้ตั้งเป้าและเร่งรัดให้แต่ละสาขาดำเนินการปล่อยสินเชื่อให้ได้ตามวงเงินและอยู่ในกรอบเวลาตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้สั่งการลงมา จึงขาดความรอบคอบและเริ่มมีปัญหาในเรื่องหนี้ด้อยคุณภาพและหนี้เสียซึ่งจะมีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาก็คือแต่ละสาขาต้องไปขอร้องให้ลูกค้ามากู้หรือกองทุนหมู่บ้านช่วยหาลูกค้ามากู้เงินเพื่อให้ได้ตามเป้าที่ได้รับมอบหมายมา ประกอบกับปัญหาความฝืดเคืองทางด้านเศรษฐกิจ ภัยแล้งและการว่างงาน ทำให้รายได้ไม่พอรายจ่ายไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ตามกำหนด ยกเว้นกองทุนหมู่บ้านที่ใช้กลไกของกองทุนที่มีอยู่เข้ามาบริหารจัดการกันเอง

แม้ว่ารัฐบาลจะเร่งรัดให้มีการใช้จ่ายเงินและการกู้ยืมเงินผ่านโครงการที่รัฐบาลได้กำหนดขึ้น แต่การเร่งรัดดังกล่าวก็ไม่ได้สามารถทำให้เกิดความรวดเร็วได้ เช่นโครงการที่ได้จัดสรรให้ตำบลละ 5 ล้านบาท เพราะระบบราชการมีความสลับซับซ้อนมีกฎระเบียบที่ต้องยึดถือและปฏิบัติ โดยเฉพาะในยุคที่มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด จึงทำให้ข้าราชการต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นไม่สามารถดำเนินการให้รวดเร็วอย่างที่รัฐบาลได้กำชับและเร่งรัดไป

ทำให้การไหลของเงินเข้าไปในระบบเป็นไปอย่างกะปริบกะปรอยเช่นที่เป็นอยู่ ไม่สามารถทำให้เกิดผล (Impact) ในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้

โครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นระบบรางหรือโครงการอื่นๆ ที่รัฐบาลตั้งใจจะให้เสร็จในรัฐบาลนี้ก็จะมีปัญหาและเกิดความล่าช้า แม้ว่ารัฐบาลจะใช้ความเด็ดขาดและใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขระเบียบและกฎหมายต่างๆ เพื่อให้โครงการสามารถเดินได้อย่างรวดเร็ว แต่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็ไม่สามารถจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้

เพราะการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ แต่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ทำให้เกิดความขัดแย้ง ปัญหายังคงอยู่เพราะไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง

ปัญหาของประชาชน ต้องแก้โดยประชาชน เพื่อประชาชน เพราะคนที่จะรู้ปัญหาอย่างแท้จริงก็คือคนที่อยู่กับปัญหา อยู่กับประชาชนจึงจะเข้าใจ เข้าถึงและแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน

ตราบใดที่รัฐบาลยังไม่ไว้วางใจและไม่มีความเชื่อมั่นว่าประชาชนคิดเองได้ ทำเองเป็น การแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตศรัทธา ความแตกแยกที่เกิดขึ้นก็จะไม่สามารถแก้ไขได้

นโยบายประชารัฐที่เริ่มต้นด้วยความตั้งใจที่ดี อยากให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมืองก็จะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ในขณะนี้ตรงกันข้ามกับนโยบายที่รัฐบาลได้วางไว้ เพราะเกิดจากการมีส่วนร่วมเฉพาะในระดับบนที่อาจไม่เข้าใจชาวบ้านฐานราก จึงเกิดช่องว่างและที่ผ่านมารัฐบาลยังคิดว่าชาวบ้านคิดเองทำเองยังไม่ได้ รัฐบาลจะต้องชี้นำและทำให้

หากคนกำหนดนโยบายติดดินจะต้องรู้ว่า ขณะนี้ภาคเศรษฐกิจตั้งแต่ฐานรากขึ้นมามีปัญหาในการเพาะปลูก ค้าขาย รายได้ตกต่ำอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่ใช่ดูแต่รายงานที่เป็นตัวเลข แล้วให้หน่วยราชการทำโปรโมชั่นเชิงการตลาดผ่านสื่อและงานอีเวนต์

ขอความกรุณานายกรัฐมนตรี ส่งคนของท่านที่ติดดิน ไว้ใจได้และกล้าที่จะพูดความจริง ลงไปตรวจสอบในพื้นที่ต่างๆ แล้วนำข้อมูลความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดขึ้นในขณะนี้มาเสนอ เพื่อท่านจะได้ปรับเปลี่ยนนโยบายแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างแท้จริงในเชิงคุณภาพไม่ใช่ในเชิงตัวเลขหรือปริมาณ

แหล่งทุนชาวบ้านมีกองทุนหมู่บ้านแล้ว แต่ยังมีปัญหาเรื่องน้ำและที่ดินทำกิน ที่ต้องพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตและสร้างงาน สร้างรายได้ที่สม่ำเสมอ ถ้าทำได้ครบวงจรก็แก้ปัญหาของชาติได้แน่นอน

เพลงชาติไทย “ประเทศไทย...เป็นประชารัฐ” หมายถึง “รัฐของประชาชน”

หากเข้าใจตรงกัน ปัญหาก็แก้ง่าย