posttoday

ถอดรหัสคำอำลา "สรยุทธ"

04 มีนาคม 2559

เฟซบุ๊ก Warat Karuchit

เฟซบุ๊ก Warat Karuchit

ทฤษฎี Symbolic Interactionism เชื่อว่าคำพูดของคน เป็นสัญญะที่สะท้อนให้เห็นความคิดของผู้พูด รวมไปถึงการเลือกคำ การเรียบเรียง และอื่นๆ (เช่นวิธีการพูดหรือการเขียน) ซึ่ง "ความคิด" ก็จะสะท้อนให้เห็น "ตัวตน" ของคนผู้นั้นอีกต่อหนึ่ง

"เหตุผล"
เหตุผลแรก ซึ่งเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุดที่สรยุทธให้ในการยุติการทำหน้าที่ คือ "ไม่ให้เกิดผลกระทบกับช่อง 3" จึงตีความได้ว่า เหตุผลสำคัญที่หยุดทำหน้าที่ ไม่ได้มาจากความต้องการของตนเอง แต่มาจากแรงกดดันต่อสถานี ซึ่งเราได้เห็นว่ามีหลายบริษัทเริ่มที่จะแบนรายการ และเริ่มจะแบนสถานีไปด้วย ซึ่งอันนี้ก็ไม่แน่ชัดว่าทางช่องเริ่มเข้ามาคุยและกดดัน หรือตัวเองตัดสินใจเอง แต่ชัดเจนก็คือ "ผลกระทบ" ในที่นี้เป็น "เหตุผลทางธุรกิจ"

เหตุผลที่สองคือ "เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย" ก็สะท้อนถึงความไม่พอใจ แรงกดดันจากฝ่ายต่างๆ ทั้งสื่อ นักวิชาการ หน่วยงานราชการ องค์กรต่างๆที่ต่อต้านคอร์รัปชั่น รวมทั้งภาคประชาชน ที่เรียกร้องให้ยุติหน้าที่เนื่องจาก "เหตุผลทางจริยธรรม" ซึ่งเจ้าตัวรับรู้ได้ แต่เหมือนเดิมก็คือ ไม่ได้บ่งบอกว่าตนเองต้องการยุติเอง

"ขอบคุณ"
สรยุทธขอบคุณสามกลุ่ม กลุ่มแรก (ซึ่งสำคัญที่สุดในสายตาเขา) คือ "ครอบครัวช่อง 3" ซึ่งเป็นการเลือกคำที่น่าสนใจ เนื่องจากช่อง 3 เพิ่งประกาศว่านับเขาเป็นครอบครัวเดียวกัน แสดงว่าสรยุทธให้ความสำคัญกับคำนี้ หรือไม่อย่างนั้น ก็อาจจะยอมรับว่าตนเองเป็นครอบครัวเดียวกัน และพยายามเน้นว่าตนเองเป็นครอบครัวเดียวกันนะ อย่าเพิ่งทิ้งกันไป

อีกสองกลุ่มที่สรยุทธขอบคุณคือ "แฟนข่าว" และ "ทุกกำลังใจ" ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่เป็นแฟนคลับของเขา และคนอื่นๆที่แม้อาจจะไม่ใช่ผู้ชมแต่ส่งกำลังใจมาให้ การขอบคุณสองกลุ่มนี้ สะท้อนให้เห็นว่า เขาขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาเท่านั้น ไม่ได้ขอบคุณเลยไปถึงกลุ่มคนอื่นๆที่ "ไม่ได้ให้กำลังใจ" แต่ "กระตุ้นเตือนทางจริยธรรม" ซึ่งจริงๆก็ไม่แปลก แต่ก็เป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นว่า ตนเองยังไม่ได้ก้าวข้ามไปสู่การยอมรับในความรับผิดชอบเรื่องจริยธรรม

"จนกว่าเราจะพบกันใหม่"
คำพูดนี้สะท้อนว่า เขาตัดสินใจยุติหน้าที่ โดยยังมีความหวังลึกๆว่า สักวันหนึ่งอาจจะได้กลับมาอีก เป็นการประกาศว่าเขายังไม่ยอมแพ้ และให้ทุกคนรอเขา เป็นการลงท้ายในแบบที่ทำให้ตัวเองรู้สึกมีความหวัง ไม่น่าโศกเศร้าหรือดูเป็นผู้แพ้ นัยหนึ่งก็คือ เป็นการอำลาแบบให้กำลังใจตัวเองไปด้วย

"คำที่หายไป"
ทั้งหมด ตั้งแต่เกิดเรื่องมาจนถึงโพสต์สุดท้าย ยังไม่มีคำเหล่านี้จากสรยุทธ
- "ขอโทษ"
- "เสียใจ"
- "จริยธรรม" / "จรรยาบรรณ"
สะท้อนให้เห็นว่า เขาไม่ได้คิดถึงสิ่งเหล่านี้ หรืออาจจะคิดถึงแต่เลือกที่จะไม่พูด

สำหรับผม ทั้งหมดนี้ สะท้อนซ้ำๆหลายครั้ง ซึ่งเป็นการยืนยัน ว่าสรยุทธไม่ได้ตัดสินใจยุติการทำหน้าที่ด้วยเหตุผลทางจริยธรรม โดยเฉพาะจรรยาบรรณของการเป็นสื่อมวลชน และไม่ได้มาจากความต้องการที่แท้จริงของตนเอง แต่มาจาก "ความจำเป็น" ที่บังคับให้ต้องตัดสินใจ

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ การที่สรยุทธระบุว่า ขอยุติหน้าที่ "พิธีกร" สะท้อนให้เห็นว่า สรยุทธเอง มองตัวเองว่าเป็น "พิธีกร" ไม่ใช่ "คนข่าว" หรือแม้แต่ "กรรมกรข่าว" อย่างที่เคยเรียกตัวเองมาแล้ว แต่ตอนนี้สรยุทธมองว่าตนเองเป็นเพียงคน "ดำเนินรายการ" เท่านั้น (ซึ่งไม่แน่ว่า การมองตัวเองด้วยบทบาทเช่นนี้ จึงทำให้สรยุทธรู้สึกว่าตนเองไม่จำเป็นต้อง "เคร่ง" เรื่องจริยธรรมของนักข่าวก็เป็นได้)

หมายเหตุ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ Warat Karuchit

ที่มาจากเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1267919239890379&set=a.105292419486406.13725.100000169455098&type=3&theater