posttoday

"อคติคือเมฆบัง" การโต้เถียงในสังคมเรื่องพระ

19 กุมภาพันธ์ 2559

การโต้เถียงกันในสังคมไทยเรื่องพระที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนของการมีอคติทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะอย่างเมื่อการถกเถียงลุกลามเป็นสงครามการเมืองสองข้าง คนที่อยู่ตรงกลางจะพูดอะไรก็ไม่มีใครอยากรับฟัง

โดย...เฟซบุ๊ก ปิยสีโลภิกขุ - พระภูวดล ปิยสีโล

การโต้เถียงกันในสังคมไทยเรื่องพระที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนของการมีอคติทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะอย่างเมื่อการถกเถียงลุกลามเป็นสงครามการเมืองสองข้าง คนที่อยู่ตรงกลางจะพูดอะไรก็ไม่มีใครอยากรับฟัง

ด้วยความลำเอียงแบบฉันทาคติ ไม่ว่าฝ่ายของตนจะทำอะไรก็กลายเป็นดีไปหมด เรื่องที่ปกติไม่น่าจะเห็นว่าถูกต้องก็สามารถให้เหตุผลได้ว่าถูกต้องและสมควรทำ แม้กระทั่งฝ่ายของตนทำผิดแบบเดียวกันกับอีกฝ่ายก็ยังอ้างได้ว่า ในเมื่ออีกฝ่ายทำได้ ฝ่ายของตนก็น่าจะทำได้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้กล่าวประณามการกระทำของอีกฝ่ายแบบสาดเสียเทเสีย ไปๆมาๆ ต่างฝ่ายต่างก็ใช้วิธีการกดดันให้คนอื่นคล้อยตามในลักษณะเดียวกัน เพียงแต่เป้าหมายไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง

ด้วยโทสาคติ ไม่ว่าฝ่ายตรงข้ามจะทำหรือพูดอะไรก็ชั่วไปหมด ไม่มีอะไรดีเลยแม้แต่อย่างเดียว ต่างคนต่างพร้อมจะขุดคุ้ยความไม่ดีไม่งามของอีกฝ่ายมาประจานเพื่อให้รู้สึกว่าการกระทำนั้นมีจุดมุ่งหมายเลวร้าย แม้ว่าเรื่องดังกล่าวจะเป็นอดีตที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการต่อสู้เรียกร้องในปัจจุบันก็ตาม บางคราวไปไกลถึงกับกล่าวร้ายป้ายสีอีกฝ่ายโดยไม่มีมูลความจริง และพร้อมจะบิดเบือนข้อมูลรวมทั้งภาพต่างๆ เพื่อให้อีกฝ่ายดูเลวร้ายกว่าเดิม

อาตมาเชื่อว่ามีคนในสังคมจำนวนมากที่ไม่ได้เลือกยืนข้างใดข้างหนึ่ง และรู้สึกเบื่อหน่ายต่อสิ่งที่ได้รับรู้ ครั้นจะแสดงความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะต้องถูกเหมาว่าเข้าข้างอีกฝ่าย ถ้าความเห็นนั้นไม่ได้เป็นไปในทางสนับสนุนฝ่ายของตน กลายเป็นว่าถูกบีบบังคับให้เลือกข้างไปโดยปริยาย

แต่ในความเป็นจริง คนเราต้องเลือกข้างเสมอไปด้วยหรือ ทำไมเราจึงไม่มีสิทธิที่จะเห็นด้วยในเหตุผลหรือข้อเรียกร้องบางส่วนของฝ่ายหนึ่ง แต่ไม่เห็นด้วยในบางส่วน เพราะคิดว่าอีกฝ่ายดูจะมีเหตุผลมากกว่า หรือทำไมจึงพูดไม่ได้ว่าเราไม่เห็นด้วยกับท่าทีหรือการกระทำของทั้งสองฝ่าย

หลักคำสอนในพระพุทธศาสนามีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่เรียกว่า วิภัชวาท หมายถึง การอธิบายแบบจำแนกแยกแยะ ไม่ตัดสินอะไรแบบเหมารวม ดังที่พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงปฏิเสธหรือกล่าวประณามความเชื่อในลัทธิอื่น แต่จะทรงแยกแยะว่าส่วนไหนดี ส่วนไหนไม่ดีโดยจะทรงให้เหตุผลประกอบการอธิบายด้วยเสมอ

พูดง่ายๆ ว่า พุทธศาสนาสอนให้เรารู้จักแยกแยะ ไม่ด่วนตัดสินอะไรไปตามความรู้สึกหรืออคติส่วนตัว แต่ยึดเอาความจริงหรือข้อมูลที่ได้รับเป็นหลัก

แน่นอนว่าแต่ละคนอาจได้รับข้อมูลไม่เหมือนกัน และย่อมส่งผลให้เห็นอะไรต่างกัน แต่หากเราเป็นผู้ที่รักในความจริงและยินดีขวนขวายเพื่อจะรู้ความจริงแล้ว เราต้องอ่อนน้อมและยอมรับว่าอาจจะยังไม่ได้รับข้อมูลครบถ้วนรอบด้านเพียงพอ หากจะมีความเห็นอะไรก็ต้องตระหนักว่าความเห็นนั้นตั้งอยู่พื้นฐานข้อมูลเท่าที่มีอยู่ และความจริงอาจจะไม่เป็นอย่างที่เรารู้ก็ได้

หลักการพื้นฐานนี้มีความสำคัญมากในการแก้ปัญหาขัดแย้ง ถ้าต่างฝ่ายต่างตระหนักว่าตนเองตัดสินใจไปตามข้อมูลที่ได้รับซึ่งอาจจะยังไม่ครบถ้วนรอบด้าน ต่างย่อมยินดีรับฟังเหตุผลของอีกฝ่ายมากขึ้น เพื่อให้การตัดสินใจของตนเองรอบคอบขึ้นกว่าเดิม แม้ในภายหลังจะเปลี่ยนท่าทีและความเห็นก็ไม่รู้สึกเสียหน้า เพราะเป็นผู้ที่รักความจริง พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นตามข้อมูลและเหตุผลตามข้อเท็จจริง

เมื่อใดก็ตามที่มุ่งเอาชนะโดยไม่รักความจริงเป็นพื้นฐาน เนื้อหาสาระก็ถูกละเลยไป เพราะมัวแต่จะเอาชนะคะคานในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น คำพูดหรือข้อผิดพลาดของอีกฝ่าย ดังจะเห็นได้จากความขัดแย้งครั้งนี้ว่า แทบจะไม่มีใครอภิปรายกันเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ว่าควรจะเป็นอย่างไร ต้องใช้หลักการใดมาพิจารณาว่าอะไรเป็นการก้าวก่ายหรือไม่ก้าวก่ายในกิจการของสงฆ์ หรือการก้าวก่ายนั้นส่งผลดีผลเสียอย่างไร หรือระบบโครงสร้างการปกครองในคณะสงฆ์ควรจะแก้ไขปรับปรุงอย่างไรบ้างเพื่อให้คณะสงฆ์เข้มแข็งและสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แม้กระทั่งประเด็นสำคัญที่เป็นหัวใจหลักของการเรียกร้อง คือ การเสนอให้ระบุในรัฐธรรมนูญพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ก็แทบจะไม่มีใครหยิบยกมาอภิปรายว่าจะส่งผลดีผลเสียต่อสังคมอย่างไร และมีวิธีอย่างไรที่จะทำให้ชาวพุทธสามารถรักษาหลักธรรมของตนเองในสังคมได้อย่างยั่งยืนโดยเคารพในความแตกต่างของศาสนาอื่น สามาถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข

แท้จริงแล้ว เราอาจจะพบว่าคนที่เห็นขัดแย้งกันในกรณีนี้ต่างก็มีความหวังดีต่อกิจการพุทธศาสนาด้วยกันทั้งสองฝ่าย และต่างมีจุดหมายร่วมกันคือ อยากให้ศาสนธรรมมีความหมายต่อคนในสังคมมากขึ้น จะได้ร่วมกันทางออกจากจุดยืนที่มีอยู่กันนี้ต่อไป

สำหรับชาวพุทธที่รู้สึกเบื่อหน่ายกับท่าทีในความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย อาตมาขอให้หลักคิดว่าเราสามารถเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้หลายอย่าง เป็นต้นว่า อันตรายของการปล่อยให้ใจมีอคติครอบงำดังที่อธิบายข้างต้น หรือทักษะในการสื่อสารที่ไม่จำเป็นต้องใช้คำหยาบคายหรือมองอีกฝ่ายเป็นศัตรู เป็นต้น หากเราใช้ท่าทีของการศึกษาเรียนรู้ (ปัญญา) มากกว่าจะใช้ความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ (เวทนา) เราจะได้รับประโยชน์ทางธรรมจากทุกๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว

ส่วนชาวพุทธที่เผลอกระโจนเข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้งครั้งนี้ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม เช่น ร่วมการชุมนุมเรียกร้อง ร่วมลงชื่อคัดค้าน หรือโพสต์รูปภาพและข้อความ แชร์หรือแสดงความเห็นทางสื่อออนไลน์ คงต้องใช้หลักเจริญสติให้มากเพื่อไม่ให้อารมณ์ขุ่นมัวมาครอบงำจิตใจ และหมั่นเตือนตัวเองว่าชาวพุทธมีปัญญาเป็นจุดมุ่งหมาย จะทำอะไรก็ต้องใช้สติและปัญญาเป็นเครื่องกำกับเสมอ การกระทำของเราจึงจะไม่ผิดเพี้ยนไปจากหลักธรรมที่เรายึดถือร่วมกัน

หวังว่าพลังของสติจะดำรงอยู่อย่างมั่นคงในทุกๆ ฝ่าย และหวังว่าพลังของเมตตาจะเอาชนะอารมณ์โกรธแค้นทั้งหลาย ทำให้แต่ละฝ่ายยึดเอาความจริงเป็นที่ตั้ง หากฝ่ายใดมีทุกข์จากการเข้าไม่ถึงความจริงก็ขอให้พ้นทุกข์ด้วยการเข้าถึงความจริง ด้วยการวางใจเป็นกลางในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และหากฝ่ายใดเป็นทุกข์จากถ้อยคำและวาจาอันหยาบคายก็ขอให้พ้นทุกข์ด้วยการใช้วาจาอันเป็นกุศล ขอความสุขและความดีงามจงดำรงอยู่ในใจของผู้รักความจริงทุกๆ ท่าน

ที่มา : เฟซบุ๊ก ปิยสีโลภิกขุ - พระภูวดล ปิยสีโล https://www.facebook.com/piyasilo.bhikkhu/posts/811733552289398:0