posttoday

ความท้าทายรอบใหม่ ในระบบเศรษฐกิจโลก

10 กุมภาพันธ์ 2559

กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

โดย...กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นับแต่ต้นปีเป็นต้นมา เหตุการณ์ที่ไม่ปกติในระบบการเงินโลก ไม่ว่าจะเป็นราคาหุ้นในจีนที่ตกแล้วตกอีกในช่วงหลังปีใหม่ จนต้องปิดตลาด หยุดการซื้อขายไปหลายครั้ง ราคาหุ้นในตลาดแนสแด็กของสหรัฐที่ได้ตกลงกว่า 13% ราคาน้ำมันโลกที่ลงไปต่ำกว่า 27 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 13 ปี ค่าเงินสกุลหลักที่ผันผวนขึ้นลง

ล่าสุด เงินเหรียญสหรัฐได้อ่อนลงอย่างรวดเร็วในต้นเดือน ก.พ. ลดลงเกือบ 3% ใน 2 วัน ทำให้หลายๆ คนอดถามไม่ได้ว่า “กำลังเกิดอะไรขึ้นในระบบเศรษฐกิจการเงินโลก และต่อไปจะเป็นอย่างไร”

ก่อนตอบคำถามเหล่านี้ ต้องขอฟันธงไว้ก่อนว่า “เศรษฐกิจโลกใน 3 ปีข้างหน้าจะต่างจากช่วงก่อนหน้า อย่างที่เรียกได้ว่าเป็นหนังคนละม้วน”

หากยังจำกันได้ หลังวิกฤตการเงินโลกปะทุขึ้น ทุกประเทศต่างพากันพร้อมใจ ร่วมกันอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อต่อสู้ป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะ Great Depression ซึ่งก็ได้ผลตามที่หวัง โดยสภาพคล่องที่ได้อัดฉีดจนท่วมระบบ และเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น นำไปสู่การเก็งกำไร ส่งผลให้ราคาทองคำขึ้นไปแตะระดับ 1,900 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ ราคาสินทรัพย์ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศต่างๆ พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และเงินได้ไหลไปท่วมประเทศเกิดใหม่ที่กู้ยืมเงินกันเป็นจำนวนมาก

8 ปีให้หลัง เรากำลังเข้าสู่ช่วงใหม่ของความท้าทาย

หลังจากแก้ไขปัญหากันมานาน เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มกลับเป็นปกติ การจ้างงานลดลงมาระดับต่ำกว่า 5% ขณะที่ยุโรปและญี่ปุ่นซึ่งฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงสั้นๆ ได้กลับไปสู่หล่มของปัญหาอีกครั้ง เศรษฐกิจไม่สามารถขยับเขยื้อนได้ ต้องเร่งอัดฉีดกันเพิ่มเติม ส่วนประเทศเกิดใหม่ที่เคยคึกคักก็กำลังเผชิญกับปัญหาจากเงินที่ไหลออกและอาจเกิดวิกฤตได้

ที่สำคัญที่สุด จีนซึ่งต่อสู้กับปัญหาเศรษฐกิจมานาน กำลังอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด และกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนสำคัญ

ทั้งหมดมีนัยอย่างยิ่งต่อทุกคน โดยมี 3 ประเด็นซึ่งเราต้องระวัง

1.ความผันผวนในระบบการเงินโลกที่จะเพิ่มขึ้นและจะปะทุเป็นระยะๆ โดยความแตกต่างของภาวะเศรษฐกิจ นำมาซึ่งความแตกต่างของนโยบายระหว่างธนาคารกลางสหรัฐ และกลุ่มของยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลหลักของโลกจะต้องปรับสมดุลกันเป็นระยะๆ และกระทบต่อการไหลเวียนของเงินทุนในระบบการเงินโลก จากเดิมที่ไหลออกจากประเทศหลักซึ่งร่วมกันอัดฉีดเงินไปสู่ตลาดต่างๆ กลายเป็นการไหลจากทุกที่กลับไปสู่สหรัฐ ที่กำลังดูดสภาพคล่องเพื่อขึ้นดอกเบี้ย

ความปั่นป่วนในตลาดการเงินโลกอาจปะทุขึ้นเป็นช่วงๆ จากคำพูด คำสัมภาษณ์ หรือคำประกาศนโยบายต่างๆ ที่ออกมา เช่นที่เกิดขึ้นหลังผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรปยืนยันว่า “พร้อมจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้เศรษฐกิจยุโรปเดินหน้าไปได้” หรือหลังธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ แม้กระทั่งธนาคารกลางสหรัฐที่กำลังอยู่ในช่วงการปรับขึ้นดอกเบี้ยเข้าสู่ระดับปกติ ก็สามารถสร้างความปั่นปวนให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน เพราะมีแผนเตรียมจะขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ แต่มีกำหนดการประชุม 8 ครั้ง ทำให้บางครั้งต้องขึ้นดอกเบี้ย บางครั้งไม่ขึ้นดอกเบี้ย สลับกันไป (ปกติเวลาธนาคารกลางสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ย จะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องกันทุกการประชุม ทำให้ง่ายต่อการเข้าใจ)

ดังนั้น การสื่อสารกับตลาดรอบนี้จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยนักลงทุนพร้อมตีความเสมอว่า การตัดสินใจไม่ขึ้นดอกเบี้ยบางครั้งนั้น เป็นสัญญาณว่าจะเป็นการกลับลำนโยบาย และเป็นการหยุดถาวร ส่งผลให้เงินเหรียญสหรัฐพร้อมปรับขึ้นลงแรง ดังที่เกิดขึ้นช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา

2.กำลังซื้อโดยรวมในระบบเศรษฐกิจโลกจะซบเซาลง ทำให้ราคาสินค้าเกษตร ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับต่ำไปอีกระยะ โดยปัญหาเศรษฐกิจของจีน ยุโรป และญี่ปุ่น จะใช้เวลาแก้ไขอีก 4-5 ปี เนื่องจากปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และปัญหาหนี้เสียต่างๆ ที่สะสมไว้ ซึ่งการจะแก้ไขสะสางปัญหาเชิงโครงสร้างและล้างหนี้เสียในระบบ ปกติแล้วต้องใช้เวลานาน ซึ่งหมายความว่าประเทศเหล่านี้อ่อนแอไปอีกระยะ (สหรัฐแม้จะใหญ่และกำลังดีขึ้น แต่การนำเข้าเป็นสัดส่วนเพียง 16-17% ของจีดีพีเท่านั้น) ทำให้กำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจโลกจะยังคงไม่กลับไปสู่ภาวะปกติไปอีกระยะหนึ่ง มีผลต่อเนื่องไปยังราคาสินค้าเกษตร ราคาน้ำมัน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์

3.กลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) จะอยู่ภายใต้แรงกดดันและต้องปรับตัวครั้งสำคัญ ทั้งจากเงินที่ไหลออกและจากดอกเบี้ยของสหรัฐที่กำลังจะปรับขึ้น โดยประเด็นนี้ไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เรียกได้ว่าอยู่หางของมรสุม ไม่ค่อยรับผลกระทบมากนัก แต่หากเราไปดูประเทศเกิดใหม่อื่นๆ เช่น อาร์เจนตินา รัสเซีย บราซิล ตุรกี หรือแอฟริกาใต้ รวมไปถึงกลุ่มที่ส่งออกน้ำมันหรือส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ ประเทศเหล่านั้นกำลังอยู่ในภาวะลำบากอย่างยิ่ง

ขณะที่เงินบาทอ่อนลงเพียง 21.5% จากที่เคยแข็งสุดในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ที่ 28.67 บาท/เหรียญสหรัฐ ค่าเงินของอาร์เจนตินา รัสเซีย บราซิล ตุรกี และแอฟริกาใต้ อ่อนค่าลงมาแล้วถึง 79.0% 71.9% 63.2% 62.4% และ 61.1% ตามลำดับ หรืออ่อนค่าลงถึง 3-4 เท่าของการอ่อนตัวของค่าเงินบาท ซึ่งเมื่อสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไป แรงกดดันและการปรับตัวของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ก็จะยิ่งเข้มข้นมากขึ้น

ทั้งหมดชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ช่วงใหม่ที่อึมครึมมากขึ้น ที่ผันผวนมากขึ้น

หมายความว่า เราต้องระมัดระวัง รู้จักปกป้องความเสี่ยง เร่งสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจไทยให้มีภูมิคุ้มกัน เพื่อให้สามารถผ่านช่วงของความท้าทายที่รออยู่ได้ โดยในประเด็นนี้ โชคดีที่เศรษฐกิจไทยโดยรวมมีพื้นฐานที่ดี มีความเข้มแข็ง ไม่ได้สะสมปัญหาต่างๆ ไม่ได้กู้ยืมเงินจำนวนมากจากต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมาเหมือนประเทศอื่นๆ

นอกจากนี้ รอบๆ ไทย ประเทศเพื่อนบ้านยังมีการขยายตัวในระดับที่ดีมาก ซึ่งจะเป็นกำลังซื้อทดแทนให้สินค้าไทย และเป็นเป้าหมายใหม่ของการลงทุน ที่เมื่อสำเร็จจะหลอมรวมกันเป็นห่วงโซ่การผลิตใหม่ของภูมิภาค ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมให้ไทยต่อไป

ผมขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนครับ...