posttoday

จริยธรรมกับทุนการศึกษา

08 กุมภาพันธ์ 2559

สมผล ตระกูลรุ่ง

โดย...สมผล ตระกูลรุ่ง

การหนีทุนมหาวิทยาลัยมหิดลของทันตแพทย์สาว จนทำให้อาจารย์ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชอบชดใช้แทน ได้กลายเป็นประเด็นในโลกออนไลน์ที่กำลังใช้โซเชียลมีเดียลงโทษ

การหนีทุนของทันตแพทย์ผู้นี้ไม่ใช่รายแรก และจะไม่ใช่รายสุดท้ายตราบใดที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในบ้านเมืองเรายังไม่ให้ความสำคัญกับคุณธรรมจริยธรรมบุคลากรเป็นอันดับแรก

การสอนให้เป็นคนเก่ง ง่ายกว่าสอนให้เป็นคนดี คนเก่งที่ขาดคุณธรรมจริยธรรมสร้างความเสียหายร้ายแรงกว่าคนไม่เก่ง ไม่ว่าจะมีคุณธรรมจริยธรรมหรือไม่มี เรื่องราวส่งต่อกันในโลกออนไลน์ที่สะท้อนถึงการยึดถือคุณธรรมจริยธรรมเป็นสิ่งสำคัญเหนือความรู้ เป็นเรื่องของนักศึกษาสาวไทยที่ไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส เธอใช้ความฉลาดในแบบศรีธนญชัยในการขึ้นรถประจำทาง โดยเธอพบว่าการเก็บค่าโดยสารเป็นระบบให้ผู้โดยสารจ่ายเงินเอง มีการสุ่มตรวจบ้างแต่ไม่บ่อยนัก และหากจับได้ก็ไม่ได้มีโทษรุนแรงอะไร เธอใช้ช่องโหว่นี้ประหยัดเงินได้มาก

เธอเรียนจบด้วยคะแนนดีเยี่ยมจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง วิทยานิพนธ์ของเธอถูกตีพิมพ์ในวารสารหลายฉบับ เธอไปสมัครงานที่บริษัทฝรั่งด้วยความมั่นใจ ทุกครั้งที่เธอไปสมัคร บริษัทเหล่านั้นสนใจประวัติการเรียนของเธอ แต่พอฟังผล ไม่มีบริษัทไหนยอมรับเธอเข้าทำงาน เธอผิดหวังมากและคิดว่าเป็นการกีดกันทางเชื้อชาติ ครั้งสุดท้ายเธอได้ขอทราบเหตุผลจากผู้จัดการของบริษัทที่ไม่รับเธอเข้าทำงาน ทั้งๆ ที่ผลการเรียนของเธอดีเยี่ยมจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศที่มีชื่อเสียง

คำตอบที่เธอได้รับคือ บริษัทได้ตรวจสอบเครดิตความน่าเชื่อถือแล้วพบว่า เธอมีประวัติโกงค่าโดยสารรถสาธารณะ 3 ครั้ง จึงไม่อาจรับเข้าทำงานได้

เธอพยายามอธิบายว่า เป็นเรื่องเล็กน้อยและโทษก็ไม่ได้รุนแรง เทียบไม่ได้กับความเก่งกาจสามารถของเธอ และพยายามแก้ตัวว่า ตอนนั้นไม่มีเงินย่อยที่จะจ่ายค่าโดยสาร แต่คำตอบที่ทำให้เธอต้องเสียใจกับการกระทำที่ผิดพลาดคือ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับบริษัท ครั้งแรกอาจยอมรับได้ว่า เธออาจไม่เข้าใจระบบการจ่ายเงินค่าตั๋วรถโดยสารเนื่องจากเป็นคนต่างชาติ แต่ยังพบการโกงตั๋วจากการสุ่มตรวจอีก 2 ครั้ง แสดงว่าเป็นความตั้งใจ และเป็นไปได้ว่าเธอน่าจะโกงค่าโดยสารเป็นร้อยครั้งที่ไม่ได้ถูกสุ่มตรวจ ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นพิสูจน์สรุปได้ 2 ประการ ว่า 1.เธอไม่เคารพ
กฎระเบียบ เธอหาช่องว่างของกฎระเบียบแล้วใช้ช่องว่างนั้นในทางเลวร้าย 2.เธอไม่มีค่าพอที่จะได้รับความไว้วางใจจากบริษัท และสรุปให้เธอฟังว่า บริษัทมีงานมากมายที่ต้องอาศัยความไว้วางใจ เมื่อเธอไม่มีเครดิตพอที่จะไว้วางใจได้ บริษัทจึงไม่อาจจ้างให้ทำงานได้

อีกเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นกับบริษัทที่เมืองไทย เมื่อพนักงานที่มีผลงานสร้างรายได้ให้บริษัทได้ดีเยี่ยม ถูกจับได้ว่า ให้สิทธิจอดรถกับเพื่อนๆ ที่ไม่ใช่ลูกค้าของบริษัท ผู้บริหารชาวไทยเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ฝรั่งเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะผลประโยชน์เล็กน้อยยังกล้าทำ ต่อไปถ้ามีอำนาจจัดการผลประโยชน์ก้อนใหญ่ ก็ไม่อาจไว้วางใจได้ จึงไม่สามารถจ้างให้ทำงานกับบริษัทต่อไป

ทั้งสองเรื่องสะท้อนความเป็นคนไทยที่ไม่ให้ความสำคัญกับคุณธรรมจริยธรรมเป็นอันดับแรก เราจึงมีปัญหาการหนีทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่ให้นักศึกษากู้เรียน โดยให้ใช้คืนเมื่อเรียนจบและทำงานแล้ว มีนักศึกษาที่เบี้ยวไม่ยอมใช้ทุนเป็นจำนวนมาก หลายหมื่นราย!!

นักศึกษาที่หนีทุนเหล่านี้ยังคงทำงานได้รับเงินตอบแทนอยู่ โดยไม่มีจิตสำนึกถึงความถูกต้อง ไม่มีคุณธรรมจริยธรรมพื้นฐานอยู่ในตัวเลย หน่วยงานที่รับนักศึกษาเหล่านี้เข้าทำงาน ไม่ได้สนใจที่จะตรวจสอบประวัติ หรือบางแห่งแม้จะทราบประวัติ แต่เห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย

หากสังคมออนไลน์จะให้ความสำคัญกับคุณธรรมจริยธรรม ควรจะเรียกร้องให้มีมาตรการสร้างจิตสำนึกให้กับผู้รับทุน กยศ. กดดันให้ภาครัฐออกมาตรการป้องกันไม่ให้มีการหนีทุน

เป็นไปได้หรือไม่ที่หน่วยงานรัฐจะไม่รับคนหนีทุน กยศ. เป็นไปได้หรือไม่ที่หน่วยงาน กยศ. จะมีประวัติให้บริษัทห้างร้านตรวจสอบ และขอให้ใช้วิจารณญาณในการรับคนเหล่านี้เข้าทำงาน

มาตรการเหล่านี้อาจดูแรง ดูเป็นการรังแกเด็ก แต่ขอให้คิดให้ดี คิดให้รอบ เปรียบเทียบกับพ่อแม่ที่ตีลูก ครู (สมัยก่อน) ที่ตีนักเรียน แม้จะเป็นมาตรการที่แรงแต่ก็เพื่อสอนให้เด็กรู้ผิดรู้ชอบ สอนให้มีคุณธรรมจริยธรรม อันเป็นพื้นฐานของความเป็นคน

ทำเถอะครับ เพื่ออนาคตของเด็กเอง เพราะหากศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ