posttoday

แปรรูป ปตท.

01 ธันวาคม 2558

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

โดย...ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

การเตรียมคดีทำให้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องพลังงานมาก แต่ผมยังไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอยึดคืน ปตท. เพราะรัฐจะต้องจ่ายเงินให้ผู้ถือหุ้นอย่างเป็นธรรมจึงอาจจะไม่คุ้ม แต่ผมสนใจข้อเรียกร้องให้คืนสาธารณสมบัติครบถ้วนมากกว่า

เพราะทุกวันนี้ยังมีหลายคนที่ติดใจกรณีการแปรรูป ปตท.ที่ดำเนินการไปในปี 2544

คุณบรรยง พงษ์พานิช ในฐานะประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายหุ้นได้เขียนบทความเพื่อตอบ 3 คำถาม

(1) ราคาที่ขายหุ้นละ 35 บาท ต่ำเกินไปหรือไม่ เป็นการเอาทรัพย์สินของชาติไปขายถูกๆ ให้กับพรรคพวกหรือไม่ เพราะหลังแปรรูปราคาหุ้นได้พุ่งขึ้นไปเกินกว่า 300 บาท

(2) ส่วนที่แบ่งขายให้ประชาชนทั่วไปขายหมดภายในเวลาเพียง 1 นาทีกับ 17 วินาที ประชาชนจองได้น้อยมาก แสดงว่ามีการล็อกหุ้นเอาไว้หรือไม่

(3) ผู้ได้รับสิทธิในการจองหุ้นมีชื่อนักการเมืองและพรรคพวกอยู่หลายคน ยิ่งเป็นการยืนยันข้อสงสัยข้างต้นหรือไม่

แต่ในฐานะที่ผมมีความรู้ตลาดทุน ผมกลับเห็นว่าคำถามที่น่าวิเคราะห์มากกว่าคือเรื่องเกี่ยวกับราคาหุ้น

ภายหลังแปรรูป ราคาในตลาดได้ลดลงต่ำสุดเหลือเพียงหุ้นละ 29 บาท และถึงแม้ต่อมาได้กลับสูงขึ้นไปก็ตาม แต่กว่าราคาหุ้นจะทะยานสูงขึ้นมากจริงๆ ก็เมื่อสอดคล้องกับตัวเลขกำไรในแต่ละปี

ฝ่ายที่สนับสนุนว่าราคาขายหุ้นละ 35 บาท เหมาะสมแล้วจึงพากันชี้ว่า ในช่วงเวลาที่ราคาหุ้นลดต่ำกว่าราคาจอง ถ้าหากประชาชนจะเข้าไปซื้อก็ย่อมทำได้ ทำไมจึงไม่ซื้อ ผมเองก็สงสัยว่าในขณะนั้นทำไมนักวิเคราะห์ไม่แนะนำให้กว้านซื้อ

นักวิเคราะห์ตลาดทุนล้วนมีความรู้สูง แต่ทำไมไม่มีใครคาดการณ์ได้เลยว่า ราคาหุ้นหลังแปรรูปจะดีดสูงขึ้นหลายเท่าตัว

คำตอบอาจจะอยู่ที่การปฏิบัติ หรือการไม่ปฏิบัติ ตามกติกาแปรรูปก็ได้

ทุกรัฐวิสาหกิจก่อนหน้าการแปรรูปมีรัฐเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว และการทำงานจะขึ้นกับกฎหมายมหาชน แต่ภายหลังแปรรูปจะมีผู้ร่วมถือหุ้นทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และจะเปลี่ยนไปขึ้นกับกฎหมายเอกชนแทน

เนื่องจากมีเอกชนมาร่วมเป็นเจ้าของด้วย ขบวนการแปรรูปจึงจำเป็นจะต้องแยกทรัพย์สินและสิทธิที่เกิดขึ้นตามกฎหมายมหาชนออกไปเสียก่อน มิให้ตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถือหุ้นเอกชน

เพราะสินทรัพย์เหล่านี้เป็นของประชาชน ผู้ถือหุ้นเอกชนคนไทยหรือต่างชาติไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของ

ปัญหาหลักอยู่ที่ด้านทรัพย์สิน เพราะจะต้องคิดว่าบรรดาทรัพย์สินซึ่งเดิมเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้น ควรจะแบ่งกองอย่างไร ระหว่าง (1) ทรัพย์สินที่ต้องแบ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทที่จะเกิดขึ้นใหม่ กับ (2) ทรัพย์สินที่จะต้องแบ่งเป็นของกระทรวงการคลัง

พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 มาตรา 24 จึงได้กำหนดวิธีปฏิบัติเรื่องนี้เอาไว้ ดังนี้

“วรรคหนึ่ง : ในวันที่จดทะเบียนบริษัทตามมาตรา 22 ให้บรรดากิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิด และสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ โอนไปเป็นของบริษัทหรือเป็นของกระทรวงการคลังแล้วแต่กรณี”

“วรรคสาม : สิทธิตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงสิทธิตามสัญญาเช่าที่ดินที่เป็นที่ราชพัสดุ หรือสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่รัฐวิสาหกิจมีอยู่ในวันจดทะเบียนบริษัทนั้นด้วย”

“วรรคสี่ : ส่วนสิทธิในการใช้ที่ราชพัสดุหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่รัฐวิสาหกิจเคยมีอยู่ตามกฎหมายที่ราชพัสดุหรือกฎหมายอื่น ให้บริษัทมีสิทธิในการใช้ที่นั้นต่อไปตามเงื่อนไขเดิม แต่ต้องจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายได้แผ่นดินตามที่กระทรวงการคลังกำหนด”

พูดภาษาง่ายๆ คือคณะรัฐมนตรีจะต้องแบ่งกองทรัพย์สินเสียก่อน ทรัพย์สินใดที่เป็นสาธารณสมบัติก็ต้องโอนไปที่กระทรวงการคลัง และถ้าบริษัทที่จะเกิดขึ้นใหม่อยากจะใช้ทรัพย์สินดังกล่าวต่อไป ก็ขออนุญาตได้ แต่ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่กระทรวงการคลัง ไม่ฟรี

ในปี 2544 รัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ เพื่อปฏิบัติตามมาตรา 26 และตามมาตรา 28 แต่ผมไม่พบพระราชกฤษฎีกาหรือมติคณะรัฐมนตรี สำหรับมาตรา 24 แต่อย่างใด

ถามว่าถ้าไม่มีการแบ่งกองสมบัติก่อน ผลจะเป็นอย่างไร

ถ้าหากไม่มีการแบ่งกองสมบัติเสียก่อน ก็จะทำให้สาธารณสมบัติของแผ่นดินทั้งหมด ตกไปอยู่กับบริษัทที่เกิดขึ้นใหม่โดยอัตโนมัติ และจะสามารถใช้งานได้ฟรีด้วย

กรณีนี้เองหรือเปล่าที่นักวิเคราะห์ตลาดทุนส่วนใหญ่มองไม่ออกว่าราคาหุ้นจะพุ่งขึ้นไปสูงกว่าราคาจองหลายๆ เท่าได้อย่างไร เพราะถ้าหากบริษัทที่เกิดขึ้นใหม่สามารถใช้สาธารณสมบัติได้ฟรี บริษัทก็จะมีรายได้และกำไรมากกว่าที่นักวิเคราะห์ทั่วไปจะสามารถคาดคิด

และยิ่งกรณีถ้าหากสาธารณสมบัติดังกล่าวมีอำนาจผูกขาดโดยสภาพของตัวเอง ตัวอย่างสมมติเช่น ถ้าเป็นระบบท่อก๊าซธรรมชาติเพียงระบบเดียวที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยให้เดินท่อจากทะเลขึ้นบก เพื่อมาที่โรงแยกก๊าซ หรือเพื่อมายังโรงผลิตไฟฟ้า กรณีอย่างนี้ รายได้และกำไรที่เกิดขึ้นจากการใช้สาธารณสมบัติดังกล่าวได้ฟรี ยิ่งจะเป็นตัวเลขที่สูงและยิ่งมีนัยสำคัญมากขึ้น

เนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 24 อาจจะเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา โดยเฉพาะถ้าหากมีเจตนาสมคบกันเพื่อประโยชน์เรื่องราคาหุ้น และถึงแม้จะมีการโอนคืนสาธารณสมบัติภายหลัง รัฐก็ยังอาจจะมีความเสียหาย และเนื่องจากงานนี้เป็นหน้าที่โดยตรงของกระทรวงการคลัง แต่ผมมิได้รับทราบเรื่องในขณะที่เป็น รมว.คลัง ดังนั้น เมื่อต้นเดือน ต.ค.นี้ ผมจึงได้แจ้งข้อสังเกตนี้ไปยังหน่วยราชการต่างๆ แล้ว รวมทั้ง รมว.คลัง และ ป.ป.ช.