posttoday

รถไฟไทย–จีน คุ้มหรือไม่

08 กันยายน 2558

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

โดย...ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

มีคนตั้งคำถามว่าโครงการรถไฟไทย-จีน จะคุ้มหรือไม่

ตามแผนการของกระทรวงคมนาคมนั้น โครงการรถไฟจะใช้สำหรับขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้า โดยมีความเร็วปานกลาง 160-180 กม./ชั่วโมง จะเชื่อมต่อจากประเทศจีนลงมาถึงกรุงเทพฯ และต่อไปยังท่าเรือทั้งที่มาบตาพุด และที่เมืองทวายประเทศเมียนมาได้

ถ้ามองย้อนหลังไป 50 ปี ในช่วง 30 ปีแรกนั้น เศรษฐกิจของเอเชียพัฒนาตามทฤษฎีฝูงห่านบิน หรือ Flying Geese อุตสาหกรรมเริ่มต้นที่ญี่ปุ่นซึ่งเริ่มฟื้นตัวเต็มที่จากสงครามโลกครั้งที่สอง ติดตามด้วยเกาหลีและไต้หวัน และตามด้วยประเทศอาเซียน โดยเฉพาะสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย โดยสินค้าหลักจะเริ่มต้นที่ประเทศจ่าฝูง และต่อมาก็จะเลื่อนไปที่ประเทศในลำดับหลัง ไม่ว่าเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้พลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ

แต่ในช่วง 20 ปีหลังนั้น การเปิดประเทศของจีนทำให้ทฤษฎีฝูงห่านบินเปลี่ยนไป เนื่องจากจีนมีกำลังแรงงานที่ไหลจากชนบทเข้ามายังศูนย์อุตสาหกรรมอย่างไม่หยุดหย่อน ประกอบกับค่าแรงต่ำมาก ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมของจีนโดดเด่นขึ้นอย่างรวดเร็ว

นอกจากอัตราค่าแรงที่ต่ำแล้ว แรงงานจีนยังมีวินัยและความอดทนอย่างสูง และรัฐบาลจีนยังเปิดประตูต้อนรับนักลงทุนต่างชาติอย่างเต็มใจ จึงทำให้ขบวนการบริหารคุณภาพสินค้า และประสิทธิภาพในการผลิตในจีนพัฒนาได้อย่างราบรื่น

โมเดลของการผลิตอุตสาหกรรมจึงเปลี่ยนไป จากทฤษฎีฝูงห่านบิน เปลี่ยนไปเป็นโมเดลโรงงานเอเชีย หรือ Factory Asia

ในโมเดล Factory Asia นั้น การเชื่อมโยงระหว่างประเทศต่างๆ ในเอเชียเข้มข้นมากขึ้น กล่าวคือ แทนที่สินค้าอย่างหนึ่งจะย้ายฐานการผลิตจากประเทศผู้นำไปยังประเทศที่เป็นผู้ตามในลำดับถัดไป ประเทศต่างๆ ในเอเชีย กลับผนึกกำลังเข้าด้วยกันเป็นห่วงโซ่อุปทาน โดยมีการผลิตชิ้นส่วนในประเทศเอเชียหลายประเทศ แล้วส่งไปประกอบเข้าเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ประเทศจีน เป็นต้น

โมเดล Factory Asia ทำให้เอเชียกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมส่งออกที่ไร้เทียมทาน สัดส่วนการผลิตอุตสาหกรรมในเอเชียเมื่อ 25 ปีก่อนเป็นเพียง 1 ใน 4 ของโลก แต่ล่าสุดได้สูงขึ้นเกือบเป็นร้อยละ 46 โดยเป็นการผลิตในจีนเกือบครึ่งหนึ่ง จนขณะนี้จีนผลิตและส่งออกร้อยละ 43 ของเสื้อผ้าของโลก ร้อยละ 80 ของเครื่องปรับอากาศ ร้อยละ 70 ของโทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 60 ของรองเท้าของโลก

การเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตในเอเชียนั้นควบแน่นมากขึ้นทุกปี สัดส่วนการส่งออกของโลกในสินค้าชนิดส่วนประกอบและชิ้นส่วนนั้น เมื่อ 15 ปีก่อนเกิดขึ้นในเอเชียเพียงร้อยละ 14 ของโลก แต่ล่าสุดได้พุ่งขึ้นสูงถึงร้อยละ 50 แล้ว

แต่ในอนาคต โมเดล Factory Asia กำลังจะเปลี่ยนไป เพราะเหตุใด

นโยบายลูกคนเดียวในจีนกำลังทำให้อัตราเพิ่มแรงงานลดลง และเมื่อคุณภาพชีวิตในต่างจังหวัดของจีนดีขึ้น การย้ายถิ่นฐานก็น้อยลง จึงทำให้ค่าแรงในจีนสูงขึ้นเรื่อยๆ

รัฐบาลจีนเองก็ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงได้กระตุ้นการใช้เทคโนโลยีซับซ้อนมากขึ้น ปัจจุบันนี้ ถ้าใครแวะไปเยี่ยมบริษัทขนาดใหญ่ของจีน จะพบว่าทุกบริษัทจะมีประกาศสิทธิบัตร (Patent) ประดับกำแพงในบริเวณต้อนรับแขกเป็นจำนวนมาก แสดงถึงศักยภาพในการศึกษาค้นคว้าของจีนที่เร่งตัวขึ้นมาก

ในโมเดล Factory Asia ที่กำลังจะเปลี่ยนไปนั้น จีนจะมีการกระจายการลงทุนอุตสาหกรรมออกไปยังประเทศอาเซียน และประเทศในเอเชียใต้ เพื่อใช้แรงงานที่ถูก และเพื่อขยายสินค้ายี่ห้อของจีนไปยังอาเซียน ดังนั้น ในอนาคตการประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปขั้นสุดท้าย จึงไม่จำเป็นต้องดำเนินการที่จีนเหมือนเดิม แต่จะเกิดขึ้นในประเทศเอเชียต่างๆ

ถามว่าทวีปอื่นๆ ของโลก จะสามารถก้าวขึ้นมาแทนที่เอเชียได้หรือไม่

ถึงแม้ทวีปอื่นๆ ของโลกอาจจะมีจำนวนประชากรมาก หรืออาจจะมีค่าแรงที่ต่ำกว่าเอเชีย หรือแม้แต่อาจจะมีทรัพยากรธรรมชาติมากก็ตาม แต่โอกาสที่ทวีปอื่นๆ จะก้าวขึ้นมาแทนที่เอเชียนั้น เป็นไปได้ยาก

สาเหตุเนื่องจากการผลิตสินค้าแต่ละตัวรวมไปถึงการบรรจุหีบห่อนั้น จะต้องใช้วัตถุดิบ อุปกรณ์และชิ้นส่วนจำนวนมาก ผลิตภัณฑ์บางอย่างอาจจะมีองค์ประกอบหลายสิบตัว หรือกรณีผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนอาจจะมีองค์ประกอบนับร้อยตัว

และขณะนี้การผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนนั้น มีอยู่ครบถ้วนในเอเชียอยู่แล้ว ไม่ว่าในจีนหรือประเทศอื่นๆ และหลายกรณีผู้ผลิตจีนได้ขยายกำลังการผลิตอย่างใหญ่โตทำให้ต้นทุนต่ำมาก การเชื่อมโยงการผลิตในเอเชียจึงสะดวก จะออกแบบใหม่ หรือใช้วัสดุหรือเทคโนโลยีใหม่ก็ทำได้ง่ายและรวดเร็ว ดังนั้น การที่ทวีปอื่นๆ จะแย่งชิงฐาน
การผลิตอุตสาหกรรมไปจากเอเชียนั้น จึงเป็นไปได้ยาก

โมเดล Factory Asia จึงยังจะคงอยู่กับเอเชียไปอีกเป็นเวลานาน และการเชื่อมโยงขนส่งสินค้าระหว่างจีนกับอาเซียน ไม่ว่าโดยทางรถยนต์ รถไฟ หรือเครื่องบิน จะต้องเป็นกลไกหลักของโมเดลนี้

ถามว่าเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวมาก จะทำให้โอกาสนี้แผ่วลงหรือไม่

เมื่อเอเชียมีระดับการพัฒนาสูงขึ้น การผลิตอุตสาหกรรมมีแต่จะต้องเชื่อมโยงข้ามพรมแดนกันมากขึ้น ธนาคารโลกชี้ว่าสัดส่วนการเพิ่มมูลค่าจากประเทศเพื่อนบ้าน (Foreign value added) ในเอเชียตะวันออกยังมีเพียงร้อยละ 56 (ละตินอเมริกาเพียงร้อยละ 30) ขณะที่ยุโรปตัวเลขนี้สูงถึงร้อยละ 72 ดังนั้น การเชื่อมโยงภายในเอเชียจึงน่าจะเพิ่มอีกมาก นอกจากนี้ การขนส่งระหว่างจีนกับอินเดีย และระหว่างแอฟริกาตะวันออกกับจีน ก็มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกวัน

โครงการรถไฟไทย-จีน จึงมีโอกาสจะคุ้มค่าอย่างมาก เพียงแต่ต้องเจรจาสัดส่วนการลงทุนและการแบ่งผลประโยชน์ให้รอบคอบเท่านั้น