posttoday

บุญคุณ หรือ หน้าที่ ?

10 สิงหาคม 2558

เฟซบุ๊ก ไพรวัลย์ วรรณบุตร

เฟซบุ๊ก ไพรวัลย์ วรรณบุตร

บุญคุณ หรือ หน้าที่ ?

การที่มีใครสักคนหนึ่งตั้งคำถามขึ้นมาว่า การเลี้ยงลูกของคนเป็นพ่อเป็นแม่นี่ถือว่าเป็นหน้าที่หรือว่าบุญคุณ มันอาจไม่ได้หมายความว่า คนคนนั้น ต้องเป็นคนที่ห่างไกลศาสนา หรือเป็นคนจิตใจเสื่อมทรามอะไร มันไม่เกี่ยวกันเลย หากเราเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะตั้งถามต่อทุกๆคนหรือต่อทุกๆเรื่องที่ตนสงสัย การจะตั้งคำถามอะไรแบบนี้ ไม่ถือเป็นเรื่องแปลก ที่สำคัญปรากฎการณ์ทางสังคมมีความซับซ้อน และไม่ได้สวยงามอย่างที่เราเข้าใจเสมอไป ไม่เว้นแม้แต่เรื่องใกล้ตัวอย่างเรื่องของครอบครัว (พ่อแม่ลูก)

เช่น เมื่อก่อนเราอาจจะถือว่าลูกเป็นสมบัติของพ่อแม่ พ่อแม่มีสิทธิ์เหนือชีวิตและร่างกายของลูกตนเอง ในการที่จะข่มเหงน้ำใจอย่างไรก็ได้ พ่อแม่สามารถบังคับให้ลูกแต่งงานกับคนอื่นที่เขาไม่ได้สมัครใจรักใคร่ได้ พ่อแม่สามารถขายลูกของตนเองเพื่อชดใช้หนี้สินที่ตนก่อขึ้นได้ เป็นต้น โดยไม่ต้องสนใจถึงความรู้นึกคิดของลูกเลยแม้แต่นิดเดียว ทั้งยังไม่ต้องรู้สึกผิดกับการกระทำของตนเองอีก เพียงแค่ยกเรื่องของบุญคุณต่างๆ ที่ตนมี มารองรับความชอบธรรมในการกระทำเหล่านั้น

แต่ถามว่า ในยุคปัจจุบัน ทำเช่นนั้นได้หรือไม่ ตอบเลยก็ได้ว่า ไม่ได้ การทำเช่นนั้น อย่างการขายลูกตนเอง อาจถือเป็นความผิด และพ่อแม่ก็ไม่มีสิทธิ์ปฏิบัติกับลูกของตนเองเช่นนั้น กลับกัน คนเป็นลูกอาจมีสิทธิ์ในการตั้งคำถามต่อตัวของคนเป็นพ่อเป็นแม่มากขึ้น นอกจากการต้องรับฟังโอวาทหรือปฏิบัติตามเพียงอย่างเดียว เพราะพ่อแม่บางคนเองก็ไม่ได้ทำหน้าที่ ในฐานะของความเป็นพ่อเป็นแม่อย่างที่ควรจะทำ เรื่องนี้ปฏิเสธได้ยาก ไม่เช่นนั้นคงไม่ปรากฎภาพของแม่ที่ทำแท้ง หรือแม่ที่ทิ้งลูกแรกเกิดของตนเอง ไม่เช่นนั้นคงไม่ปรากฎภาพของพ่อที่ใช้ความรุนแรงหรือแม้แต่ทำอนาจารกับลูกในใส้ได้ลงคอ ซึ่งมีเห็นได้เกลื่อนไป ตามหน้าของสื่อต่างๆ

ดังนั้น จากปรากฎการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น มันก็อาจเป็นสาเหตุให้ลูกในยุคปัจจุบัน สามารถตั้งคำถามได้ว่า ตกลงแล้ว การเลี้ยงลูก ในฐานะของคนเป็นพ่อแม่นี่ ถือว่า เป็นหน้าที่ใช่หรือไม่ แล้วหากพ่อแม่ไม่ทำหน้าที่เหล่านั้นหละ เราจะอธิบายการกระทำของพ่อแม่ว่าอย่างไร ในทางศาสนาพูดเรื่องนี้ไว้หรือเปล่า หรือในทางข้อกฎหมายว่าอย่างไร หากพ่อแม่ละทิ้งการดูแลลูกของตนเอง ถือว่ามีความผิดตามข้อกฎหมาย หรือไม่ อย่างนี้เป็นต้น

หากเราจะมองเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด เราอาจจะบอกว่า การเลี้ยงดูลูก ถือว่าเรื่องของหน้าที่และความรับผิดชอบมากกว่าเรื่องบุญคุณ แน่นอนว่าในฐานะของผู้ให้กำเนิด พ่อแม่มีหน้าที่โดยตรงในการต้องรับผิดชอบต่อลูกของตนเอง ถือเป็นสัญชาตญาณที่เข้าใจได้ เพราะแม้แต่ในสัตว์เดรัจฉานก็มีเช่นกัน ในทางศาสนาก็พูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ ดั่งในสิงคาลกสูตร ที่กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของมารดาบิดาที่ต้องสงเคราะห์บุตรธิดาของตนเอง เรื่องของบุญคุณคงเป็นเรื่องของนามธรรม เป็นมโนธรรมสำนึก ที่จะเกิดขึ้นพร้อมกับการทำหน้าที่ทั้งของพ่อแม่และลูกนั่นเอง อาจจะกล่าวได้ว่า ถ้าไม่มีการทำหน้าที่ ก็ไม่มีบุญคุณ

เพราะถ้าเรามองว่าเป็นเรื่องของบุญคุณอย่างเดียวมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของหน้าที่และความรับผิดชอบ ก็อาจมีคำถามที่ลูกหลายคนซึ่งถูกพ่อแม่ของตนเองทอดทิ้งและปฏิเสธความรับผิดชอบจะแย้งเอาได้ว่า ในเมื่อพ่อแม่ไม่ทำคุณกับเขาก่อนและปฏิเสธความรับผิดชอบในชีวิตของเขาตั้งแต่ต้น พ่อแม่ควรจะได้ชื่อว่า เป็นผู้มีบุญคุณกับเขาหรือไม่ และหากเขาไม่ได้รู้สึกดีจนถึงขั้นไม่อยากจะเรียกว่าคนทั้งสองนั้นว่า เป็นพ่อเป็นแม่ จะถือว่า เขาเป็นคนที่เนรคุณ อย่างนั้นหรือ

เรื่องนี้สอดคล้องกับหลักธรรมทางศาสนา ที่พูดถึง บุคคลที่หาได้ยากในโลก ๒ ประเภท คือ คนที่ให้อุปการะคุณก่อน กับ บุคคลที่รู้อุปการะคุณของคนอื่นแล้ว ทำตอบแทนท่าน เหมือนกับเรื่องของพ่อแม่กับลูกที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ พ่อแม่จะชื่อว่า เป็นบุพพการี ก็เพราะมีอุปการะคุณกับลูกก่อน ส่วนลูกจะได้ชื่อว่า เป็นผู้กตัญญูกตเวที ก็เพราะตอบแทนอุปการะคุณที่พ่อแม่เคยทำให้แก่ตนแล้วนั้น นี่เป็นเรื่องของการทำหน้าที่ต่อกัน พ่อแม่ทำหน้าที่ของตนต่อลูก ลูกก็ทำหน้าที่ของลูกต่อพ่อแม่ นั่นเอง ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันในระดับของสังคมที่เป็นครอบครัว อันคนในครอบครัวจะพึงปฏิบัติอย่างเกื้อกูลต่อกัน โดยมองว่ามันคือสิ่งที่ตนจะต้องรับผิดชอบ แม้จะไม่มองเป็นเรื่องของบุญคุณหรือหนี้สินที่ต้องชดใช้อย่างไม่จบไม่สิ้น ก็จำเป็นต้องตระหนักรู้ เพราะถือว่าเป็นบทบาทและหน้าที่อันใกล้ตัวที่สุดที่ตนจะพึงปฏิบัติและละเลยเสียไม่ได้ อย่างที่พ่อแม่ควรทำกับลูก และลูกควรทำตอบกับพ่อแม่ ให้เหมาะสมนั่นเอง

ที่มา https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1657729464513597&id=100008296779338