posttoday

สงครามในที่จอดรถ

02 สิงหาคม 2558

อินทรชัย พาณิชกุล

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

อาชีพที่น่าเห็นใจที่สุดอาชีพหนึ่งในสายตาผมคือ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในลานจอดรถ

คิดดูสิครับ ทำงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ กรำแดดกรำฝน ดมควันพิษ แถมยังต้องใช้สมองขบคิดแก้ปัญหาสารพัดในลานจอดรถที่วุ่นวายและดุเดือดไม่ต่างจากสมรภูมิย่อมๆ

ไหนจะจอดรถกีดขวาง จอดในที่ห้าม จอดซ้อนคันโดยไม่ใส่เกียร์ว่าง ประกาศเรียกแล้วก็ไม่ยอมมา ต้องลำบากขนแม่แรงมาเคลื่อนย้ายออกไป แต่ที่เด็ดสุดหนีไม่พ้นจอดรถแย่งที่คนพิการ

ยามตัวเล็กๆ เงินเดือนน้อยๆ จะห้ามจะปรามใครก็ทำได้ไม่เต็มปาก เพราะจะเจอลูกคนใหญ่คนโตเบ่ง วางอำนาจใส่จนแบนบี้หรือเปล่าก็ไม่รู้ วันดีคืนดีซวยเจอร้องเรียนมีหวังถูกไล่ออกอีก

นี่คือความบัดซบของคนจนที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย

ผมเคยฟังพี่ยามของลานจอดรถห้างดังคนหนึ่งระบายให้ฟังว่า วันหยุดสุดสัปดาห์นี่ยิ่งกว่าฝันร้าย คนแออัดยัดเยียด การจราจรติดขัด ทั้งร้อนทั้งเครียด เขาต้องวิ่งวุ่นโบกรถอำนวยความสะดวก เข็นรถที่จอดขวาง ช่วยลูกค้าหิ้วของ ที่น่าตลกที่สุดคือ ต้องไปยืนเฝ้าแผงกั้นไม่ให้คนมาจอดแย่งที่สำหรับผู้พิการ

“เจอบ่อยคือ อ้างมีคนแก่มีเด็กมาในรถ บางคนทำฉุนเฉียวใส่แล้วรีบเดินเข้าห้าง หนักใจที่สุดคือ คนรวยขับรถหรูดื้อจะจอดให้ได้ พอปรามก็ด่าด้วยคำหยาบๆ ดูถูกสารพัด ผมเคยเจอถุยน้ำลายใส่หน้ามาแล้ว”

“ลูกค้าคือพระเจ้า” เราต้องการแบบนี้จริงๆ หรือ

ที่ผ่านมามีการแก้ปัญหามาหลากหลายรูปแบบ ทั้งรณรงค์ปลุกจิตสำนึก ทั้งถ่ายรูปประจานลงโซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อเป็นการกดดันทางสังคม แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้ผล เพราะยังมีอีกหลายคนที่หน้าด้านใจหยาบเกินกว่าจะขัดเกลาได้

ผมว่าผู้ที่มีบทบาทสำคัญจริงๆ ที่จะแก้ไขปัญหาวุ่นวายในลานจอดรถได้คือ เจ้าของสถานที่ เช่น หน่วยงานราชการ ศูนย์ประชุม วัด ห้างสรรพสินค้า ต้องออกกฎระเบียบที่เข้มงวดและมีบทลงโทษที่รุนแรงเพียงพอที่จะทำให้คนหวาดเกรง เช่น การจอดรถแย่งที่ผู้พิการ นอกจากจะติดป้ายสัญลักษณ์ชัดเจน มีแผงกั้น มียามเฝ้า ถ้าไม่ดำเนินการอย่างเด็ดขาดจริงจังก็เท่านั้น แต่ถ้าคนไหนมาจอดทับที่ผู้พิการ ทางห้างดำเนินการล็อกล้อ และปรับหนักปรับจริง 1,000 หรือ 2,000 ก็ว่ากันไป รับรองได้ผลแน่

เพราะนิสัยคนไทยคือ “โดนด่าไม่ว่า แต่อย่าให้ข้าเสียตังค์” ที่สำคัญภาระจะได้ไม่ต้องตกไปอยู่กับยามตัวเล็กๆ คนเดียว

สำหรับสังคมแบบ “ไทยแลนด์ โอนลี่” วิธีแก้ปัญหาด้วยการปลูกฝังจิตสำนึกอาจจะโลกสวยและหน่อมแน้มเกินไปหน่อย บางทีอาจต้องลองใช้กฎระเบียบที่รุนแรงมาควบคุมน่าจะเวิร์กกว่า

พูดดีก็แล้ว ตักเตือนก็แล้วยังไม่เชื่อ ก็ถึงเวลาที่ต้องใช้ไม้แข็งกันบ้าง