posttoday

"ข้อสรุปจากการคุย2ฝ่าย เรื่องแนวทางจัดการสัมปทานรอบที่ 21"

21 กุมภาพันธ์ 2558

เฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล

เฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล

วันที่20 ก.พ 2558 หลังประชุมภาคเช้า ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ท่านนายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้ผู้นำเสนอบนเวทีช่วงเช้าทั้งฝ่ายประชาชน และฝ่ายกระทรวงพลังงานหารือต่อในภาคบ่าย เพื่อเสนอแนวทางปฏิบัติที่เห็นพ้องกัน และนำเสนอต่อท่านนายกรัฐมนตรี

การหารือได้มีการยกประเด็นปัญหาเรื่องความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนที่มีต่อภาครัฐ ซึ่งสองฝ่ายเห็นว่าความไว้เนื้อเชื่อใจของภาคประชาชนต่อหน่วยงานรัฐมีความสำคัญ

ปัญหาเกิดจากกิจการปลายน้ำของพลังงานได้แก่ราคาก๊าซที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้นกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ทั้งค่าก๊าซ ราคาอาหาร ค่ารถเมล์ ค่าแท็กซี่ ในขณะที่ราคาตลาดโลกลดลง และเมื่อเปรียบเทียบกับราคาก๊าซที่บริษัทปิโตรเคมีเอกชนใช้ก็มีราคาถูกกว่าประชาชนที่ใช้เพื่อการดำรงชีพ

ทำให้มีผลกระทบมาถึงกิจการต้นน้ำ คือสัมปทานรอบ21 ที่ประชาชนไม่เห็นว่าตนเองจะได้ประโยชน์อะไร จากการรีบเร่งให้สัมปทานปิโตรเลียม เพราะอย่างไรเสียก็ต้องจ่ายราคาพลังงานในราคาตลาดโลกอยู่แล้ว จึงเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายก่อนเปิดสัมปทาน

หลังจากการประชุมกว่า3ชั่วโมง มีข้อสรุป3ข้อ ดังนี้

1) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าควรให้มีการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม มั่นคง เพื่อแก้ไขความรู้สึกที่ประชาชนเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นเหตุให้ประชาชนขาดความไว้เนื้อเชื่อใจภาครัฐ

จึงเสนอให้ทางฝ่ายนโยบายพิจารณาแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรมในราคาพลังงาน

2) เสนอให้รัฐบาลมีพันธะสัญญาว่าจะแก้พ.ร.บ ปิโตรเลียมให้เสร็จภายในอายุของรัฐบาลนี้ เพื่อให้มีทางเลือกอื่นๆในการให้สิทธิเอกชนมาสำรวจ ผลิตปิโตรเลียม เช่น การจ้างผลิต หรือแบ่งปันผลผลิต

ที่ต้องแก้ไขพ.ร.บ ปิโตรเลียมพ.ศ.2514 รวมทั้งฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากสัมปทานใน2แหล่งใหญ่คือ บงกช และเอราวัณจะหมดอายุสัมปทานในปี 2565,2566 ซึ่งตามกฎหมายไม่สามารถต่อสัมปทานได้อีก แหล่งที่หมดสัมปทานนั้น มีการยอมรับว่าปริมาณสำรองยังไม่หมด จึงต้องมีการแก้ไขพ.ร.บ ปิโตรเลียมให้ใช้ระบบอื่นๆได้ เช่น จ้างผลิต หรือแบ่งปันผลผลิตมารองรับก่อนหมดสัมปทาน หากไม่มีการแก้ไขกฎหมาย ก็จะเกิดปัญหาในอนาคตได้

3) กรณีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ21 ทั้งสองฝ่ายเห็นไม่ตรงกัน ก.พลังงานยืนยันว่าต้องเดินหน้า แต่ปชช.เห็นว่าไม่ควรเดินหน้าภายใต้เงื่อนไขปัจจุบัน

ฝ่ายประชาชนเห็นว่าควรแก้ไขพ.ร.บ ปิโตรเลียมก่อน และให้รัฐบาลแยกการสำรวจออกจากการผลิต โดยให้รัฐบาลเดินหน้าสำรวจก่อน แต่ทางกระทรวงพลังงานไม่เห็นด้วย อ้างว่าปิโตรเลียมมีน้อย หรืออาจจะสำรวจแล้วไม่พบ จะเสียเงินเปล่า ซึ่งเป็นเหตุผลที่ขัดแย้งกันเอง กล่าวคือ ถ้ามีน้อย หรือไม่เจอก็แสดงว่าการให้สัมปทานรอบ21ไม่ได้ตอบโจทย์ความมั่นคงทางพลังงาน จึงไม่น่าต้องเร่งรีบมแต่ถ้าเชื่อว่าอย่างน้อย 3แปลงในทะเลมีโอกาสสูง ก็แสดงว่าการลงทุนของรัฐในการสำรวจก็ยังมีจำเป็นและเป็นประโยชน์ที่รัฐจะได้เป็นเจ้าของข้อมูล

ในที่สุดก็ตกลงว่า เสนอท่านนายกรัฐมนตรีตั้งคณะทำงาน2ฝ่ายขึ้นมา ทำข้อเสนอเรื่องที่ต้องแก้ไข ควรมี กำหนดเวลาภายใน16 มีนาคมที่กระทรวงพลังงานเลื่อนเวลาปิดรับผู้ขอสัมปทานจากวันที่18 กุมภาพันธ์ หากยังไม่จบค่อยให้ท่านนายกฯพิจารณาขยายเวลา

ท่านนายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในที่ประชุม เพื่อรับฟังและนำข้อเสนอจากที่ประชุมกราบเรียนต่อท่านนายกรัฐมนตรี

เวทีนี้เป็นเวทีสาธารณะเพื่อให้ข้อมูลต่อประชาชนทั้งสองด้านเพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจว่าจะเดินหน้าสร้างความมั่นคงด้านพลังงานตามแนวทางใด และหวังว่าท่านนายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจกรณีอันสำคัญยิ่งนี้โดยฟังเสียงประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมตัวจริง