posttoday

มโนโซเชียลระวังติดคุก

01 มกราคม 2558

เดชา กิตติวิทยานันท์ คอลัมน์นิสต์ทนายคลายทุกข์ นสพ.โพสต์ทูเดย์

เดชา กิตติวิทยานันท์ คอลัมน์นิสต์ทนายคลายทุกข์ นสพ.โพสต์ทูเดย์

เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวการโพสต์ข้อความทางโซเชียลมีเดีย อ้างว่ามีชายคนหนึ่งติดกล้องแอบถ่ายไว้ที่รองเท้าด้านซ้ายเพื่อแอบถ่ายใต้กระโปรง โดยเนื้อหาในข้อความมีใจความว่า “ไม่รู้ว่าพี่เขาเป็นใคร แต่พี่เขาไฮเทค มีกล้องตัวจิ๋วที่ปลายรองเท้าด้านซ้ายด้วยอ่ะ กระโปรงสั้นก็ระวังหน่อยนะสาวๆ @BTS Onnut”  ในภาพปรากฏให้เห็นชายคนหนึ่งแต่งกายปกติ ยืนเล่นมือถือบนรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่ก็ต้องแปลกใจเมื่อสังเกตที่รองเท้าชายดังกล่าว จะพบปลายรองเท้ามีลักษณะคล้ายกับกล้องตัวจิ๋วติดอยู่ คล้ายกับติดไว้เพื่อไว้ใช้แอบถ่ายใต้กระโปรงสตรี

หลังจากภาพดังกล่าวถูกแชร์และส่งต่อไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ชายที่ตกเป็นเหยื่อต้องเปลี่ยนการเดินทางจากรถไฟฟ้าเป็นรถแท็กซี่แทน เพราะได้รับความอับอายเป็นอย่างมาก ต่อมามีหญิงคนหนึ่งโพสต์ข้อความว่า ชายคนดังกล่าวเป็นเพื่อนของแฟน และชี้แจงว่า “หนุ่มโรคจิตซ่อนกล้องไว้ที่รองเท้า!!!  ในรองเท้าคู่นั้นไม่มีกล้องจิ๋วแต่อย่างใด แต่ที่รองเท้าเป็นรูเพราะโดนสะเก็ดเชื่อมแอร์ สังเกตดีๆ ว่าเป็นทั้งสองข้าง แต่อีกข้างไม่ได้เป็นวงกลมชัดเจน  ตอนนี้เพื่อนของแฟนดิฉันกำลังรวบรวมข้อมูลที่จะฟ้องผู้ที่เผยแพร่ภาพดังกล่าว ที่ทำให้เขาได้รับความเสียหาย"  กลายเป็นกรณีตัวอย่างที่กระตุ้นเตือนผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียให้พิจารณาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนก่อนแชร์ข้อมูลผิดๆ

มีท่านผู้อ่านซึ่งเป็นแฟนคอลัมน์ สอบถามมาเกี่ยวกับการโพสต์ข้อความและโพสต์รูปภาพที่มีคำบรรยายประกอบตามที่เป็นข่าว ผู้โพสต์มีความผิดหรือไม่ และถ้าเราเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการมโนโซเชียล จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร หรือจะดำเนินคดีอะไรได้บ้าง เพื่อป้องกันสิทธิของเรา

ทนายคลายทุกข์ขออธิบายข้อกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นประมาททางสื่อสังคมออนไลน์ และการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ดังนี้

1.การโพสต์ข้อความเข้าสู่สื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก ตามกฎหมายถือว่าเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ถ้าผู้ที่โพสต์ข้อความนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550  มาตรา 14 (1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.การโพสต์ข้อความเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ถ้าเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 อีกส่วนหนึ่ง การกระทำของผู้โพสต์ นอกจากจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 แล้ว ยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย เรียกว่า “กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท”

3.ผู้ที่เผยแพร่และส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน มีความผิดเช่นเดียวกันกับผู้โพสต์ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (5) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328

4.ผู้ที่กด Like หรือกดชื่นชอบ ก็อาจมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วม หรือเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดดังกล่าวด้วย

5.ผู้โพสต์จะอ้างว่ากระทำการโดยสุจริต เนื่องจากเห็นรูที่บริเวณรองเท้าของผู้เสียหาย จึงเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นพวกโรคจิตที่ซ่อนกล้องรูเข็มไว้บริเวณรองเท้าเพื่อแอบถ่ายใต้กระโปรงผู้หญิง ข้ออ้างดังกล่าวจะพอฟังขึ้นหรือไม่ ถ้าเป็นความเชื่อหรือการมโน เป็นเพียงการคาดคะเน ไม่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ไม่เป็นการใส่ความ ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท (อ้างอิง ฎ.2180/2531, ฎ.2155/2531, ฎ.1734/2503 (ประชุมใหญ่)) แต่การที่ไปโพสต์ข้อความในลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่า ผู้เสียหายตามภาพที่โพสต์เป็นพวกโรคจิต ถือว่าเป็นการใส่ความ มีความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว (อ้างอิง ฎ.380/2503, ฎ.2822/2515) และถือว่ามีเจตนานำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายแล้ว จะอ้างว่าสุจริตไม่ได้ เพราะตัวเองจะต้องตรวจสอบให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนที่จะโพสต์ข้อความ เพราะผู้โพสต์ก็ไม่มีพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่ามีกล้องขนาดเล็กอยู่บริเวณรองเท้าของผู้เสียหาย การกระทำของผู้โพสต์ย่อมเล็งเห็นผลแล้วว่า ถ้ามีการโพสต์ข้อความดังกล่าวจะมีผู้พบเห็นจำนวนมากและมากด Like กดแชร์ ด่าผู้เสียหาย ซึ่งจะได้รับความเสียหายอย่างแน่นอน จึงต้องรับผิด

6.สิ่งที่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการมโนโซเชียลควรทำ คือ  แคปภาพออกมาจากเฟซบุ๊กและนำไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนท้องที่ใดก็ได้ทั่วราชอาณาจักร เพราะความผิดเกิดทุกที่ เพื่อให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน แต่จากการตรวจสอบทางสื่อสารมวลชน ปรากฏว่าผู้เสียหายไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น  จึงไม่ถือว่าเป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมาย เพราะผู้เสียหายยังไม่ได้ประสงค์ที่จะให้ลงโทษผู้ที่โพสต์ข้อมูลแต่อย่างใด ควรกลับไปพบพนักงานสอบสวนแจ้งความประสงค์ว่าต้องการดำเนินคดีถึงที่สุด

ตัวบทกฎหมายอ้างอิง

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

มาตรา 14  ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)