posttoday

ปฏิรูปพลังงานแบบไหน

08 ธันวาคม 2557

เฟซบุ๊ก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เฟซบุ๊ก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ปฏิรูปพลังงานแบบไหน ทำไมราคาน้ำมันโลกดิ่งแต่ประชาชนซื้อก๊าซ-น้ำมันแพง

การปฏิรูปพลังงานเป็นความคาดหวังที่สำคัญของประชาชนในการปฏิรูปประเทศ แต่ที่ผ่านมาประเด็นการปฏิรูปพลังงานยังเต็มไปด้วยความขัดแย้งและสับสน จนถึงขณะนี้สภาปฏิรูปแห่งชาติยังไม่ได้กำหนดกรอบความคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปพลังงาน แต่ที่สำคัญรัฐบาลได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายราคาพลังงานโดยมีแนวทางที่น่าจะขัดแย้งกับข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปพลังงานโดยสิ้นเชิง

การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปพลังงานเกิดจากความรู้สึกของประชาชนที่เห็นว่าธุรกิจพลังงานใช้ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของประเทศและประชาชนทุกคน แต่ในปัจจุบันธุรกิจพลังงานซึ่งตกอยู่ในมือของภาคเอกชนหลังจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจกำลังทำกำไรมหาศาล ในขณะที่ภาระต้นทุนของประชาชนในการแบกรับราคาพลังงานไม่ได้ลดน้อยลง

ตัวอย่างที่ดีที่สุดของนโยบายพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน คือ กรณีของราคาก๊าซหุงต้มและราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งหากพิจารณาจากข้อเท็จจริงของตลาดโลกและโครงสร้างราคาแล้วจะพบว่า มิได้เป็นไปตามคำโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายรัฐบาลซึ่งพยายามอ้างว่านโยบายดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของการสะท้อนกลไกตลาด ราคาหรือต้นทุนที่แท้จริง ตลอดจนถึงความเป็นธรรมด้วย

เริ่มต้นจากกรณีก๊าซหุงต้มก่อน ข้อเท็จจริงพื้นฐานที่สำคัญมีอยู่ว่าก๊าซในอ่าวไทยซึ่งถูกนำขึ้นมาสู่โรงแยกเพื่อผลิตก๊าซหุงต้มนั้นมีเพียงพอสำหรับทุกครัวเรือนให้ใช้ในการหุงต้ม โดยไม่จำเป็นจะต้องมีการนำเข้าหรือซื้อเพิ่มเติมจากที่ใด

ในอดีตนโยบายของรัฐบาลจนถึงประมาณปี 2556 จึงอยู่บนหลักการที่ว่าให้ประชาชนใช้ก๊าซหุงต้มในราคาต้นทุน ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมถูกกำหนดให้ใช้ราคาก๊าซหุงต้มที่สะท้อนราคาตลาดโลก ส่วนกรณีของภาคขนส่งนั้นจะให้ใช้ในราคาที่เหมือนหรือใกล้เคียงกับภาคครัวเรือนเพราะการนำก๊าซครัวเรือนไปใช้สามารถกระทำได้ง่าย ดังนั้นราคาก๊าซหุงต้มสำหรับครัวเรือนจึงถูกตรึงไว้ที่ประมาณ 18 บาทในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องใช้ก๊าซในราคาประมาณ 30 บาท

รัฐบาลปัจจุบันต้องการเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้โดยเหตุผลหลายประการซึ่งเป็นเท็จ เช่น

1. ประชาชนต้องใช้ก๊าซหุงต้มในราคาแพงขึ้นเพราะต้นทุนและราคาในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น แต่ปรากฏว่าในห้วงเวลาเดียวกันนี้รัฐบาลกลับลดราคาก๊าซอุตสาหกรรมลงมาจากกิโลกรัมละ 30 บาท เหลือเพียง 24 บาทซึ่งสวนทางกับเหตุผลดังกล่าว นอกจากนี้ยังปรากฏว่าบริษัทปิโตรเคมีบางแห่งยังได้รับสิทธิ์ในการซื้อก๊าซหุงต้มในราคาถูกกว่าประชาชน

2. ประชาชนต้องซื้อก๊าซหุงต้มแพงขึ้นเพราะก๊าซกำลังจะหมดจากประเทศ แต่ในระยะเวลาเดียวกันรัฐบาลมีนโยบายเปิดเสรีการส่งออกก๊าซหุงต้ม ซึ่งสวนทางกับเหตุผลดังกล่าว ที่สำคัญการใช้ก๊าซหุงต้มของครัวเรือนในการประกอบอาหารเป็นการใช้ตามความจำเป็น การใช้ในราคาถูกหรือแพงมีผลกระทบน้อยมากต่อปริมาณการใช้

สำหรับข้ออ้างที่ว่าการปรับนโยบายครั้งนี้จะเป็นการลดปัญหาการลักลอบก็เป็นตรรกะสำหรับนโยบายสาธารณะที่แปลก ที่รัฐลงโทษประชาชนที่ถูกอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ลักลอบเอาเปรียบแต่เอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มหลัง

3. ประชาชนต้องซื้อก๊าซหุงต้มแพงขึ้นเพราะกองทุนน้ำมันไม่สามารถแบกรับภาระได้ แต่ข้อเท็จจริงคือปัจจุบันกองทุนน้ำมันไม่มีภาระในการอุดหนุนการใช้ก๊าซของประชาชนแต่อย่างใด และยังมีการลดการเก็บเงินเข้ากองทุนจากผู้ใช้ภาคอุตสาหกรรมด้วย

4. การขึ้นราคาก๊าซหุงต้มไม่กระทบคนยากจนเพราะมีโครงการให้คูปองผู้มีรายได้น้อยให้สามารถซื้อได้ในราคา 18 บาทตามเดิม แต่ข้อเท็จจริงคือประชาชนมีปัญหาในในการเข้าถึงคูปองและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการโดยปัจจุบันครัวเรือนเพียงร้อยละ 1 ถึง 2 เท่านั้นที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้

แท้ที่จริงแล้วนโยบายของรัฐบาล เป็นการเปลี่ยนแปลงเหตุผลของการให้ประชาชนใช้ก๊าซของตัวเองในราคาเป็นธรรม มาเป็นการเฉลี่ยต้นทุนของก๊าซในประเทศกับต้นทุนการนำเข้าให้ประชาชนและภาคอุตสาหกรรมแบกรับภาระเท่าๆกัน จึงเท่ากับตอกย้ำความไม่เป็นธรรมของโครงสร้างราคาพลังงาน และสวนทางกับเหตุผลที่มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปโดยสิ้นเชิง

สำหรับกรณีราคาน้ำมันดีเซลนั้น เดิมจะมีความพยายามตรึงราคาไว้เพราะน้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนสำคัญของกระบวนการผลิตและการขนส่ง ไม่เหมือนกับเบนซินซึ่งเป็นการใช้ส่วนบุคคล นโยบายที่หลายรัฐบาลทำไว้ไม่ได้เป็นการเอาเงินภาษีหรือกองทุนน้ำมันเข้าไปชดเชย เพียงแต่ใช้กลไกการกำหนดอัตราภาษีและการเก็บเงินเข้ากองทุน เพื่อให้ราคาน้ำมันดีเซลมีเสถียรภาพสอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

แต่ปรากฏว่าในปัจจุบันราคาน้ำมันดิบซึ่งลดลงถึงร้อยละ 40 ตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร ไม่ได้นำไปสู่การลดราคาน้ำมันให้แก่ประชาชนด้วย ราคาหน้าโรงกลั่นลดลงเพียงประมาณร้อยละ 20 ขณะที่ผู้ใช้น้ำมันดีเซลใช้น้ำมันในราคาลดลงเพียงร้อยละ 4 ที่มีการกล่าวอ้างว่าไม่สามารถลดลงได้เพราะจะกระทบกับฐานะการเงินของกองทุนน้ำมันก็ไม่จริง เพราะในปัจจุบันกองทุนมีเงินสะสมสุทธิประมาณ 7,000 ล้านบาท ส่วนการกล่าวอ้างว่าเก็บภาษีและเงินกองทุนน้ำมันสำหรับน้ำมันทุกประเภทควรจะเท่ากันก็ไม่มีหลักเศรษฐศาสตร์ใดๆ รองรับทั้งสิ้น และในข้อเท็จจริงรัฐบาลก็ยังเก็บเงินเข้ากองทุนและภาษีสำหรับน้ำมันแต่ละประเภทไม่เท่ากัน

โดยสรุป นโยบายปัจจุบันไม่ได้เป็นการสะท้อนการเคลื่อนไหวของราคาในตลาดโลก ไม่ได้มีหลักการที่อิงกับต้นทุนที่แท้จริง (จนถึงวันนี้ การที่อ้างว่าต้นทุนก๊าซหน้าโรงกลั่นเท่ากับ 16.54 บาท ก็ยังไม่มีการตรวจสอบ) แต่เป็นเพียงการผลักภาระของภาคอุตสาหกรรมมาให้ประชาชน และความพยายามที่จะทำให้น้ำมันดีเซลแพงเท่าน้ำมันเบนซิน โดยไม่มีเหตุผล

นอกจากนโยบายนี้จะสวนทางกับทิศทางการปฏิรูปแล้ว ยังเป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเพราะปัญหาหลักของเศรษฐกิจขณะนี้คือการขาดกำลังซื้อของประชาชน การซ้ำเติมประชาชนให้ต้องมีต้นทุนในการประกอบหรือซื้ออาหารแพงขึ้นก็ดีหรือการเพิ่มค่าขนส่งหรือไม่ลดค่าขนส่งก็ดี มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวลง ปัญหาแม่ค้าพ่อค้า แท็กซี่หรือผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ขอขึ้นราคาจะเป็นปมปัญหาความขัดแย้งในการบริหารเศรษฐกิจต่อไป

ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลและคสช.ต้องทบทวนนโยบายเรื่องนี้ หรืออย่างน้อยควรเปิดเวทีให้ผู้ที่เห็นต่างสามารถให้ข้อมูลที่เป็นไปตามความเป็นจริง เพื่อให้มีการกำหนดนโยบายให้ถูกต้อง มิใช่ปล่อยให้ภาคธุรกิจซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้บริหารในภาครัฐ กำหนดนโยบายเพื่อประโยชน์ขององค์กรของตนโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมและความเป็นธรรมกับประชาชน

ที่มา : www.facebook.com/Abhisit.M.Vejjajiva