posttoday

ความเข้าใจผิดเรื่องราชสวัสดิ์ ใช้สอนข้าราชบริพารสมัยอยุธยาแต่รัชกาลที่6ไม่ได้แต่ง

22 ตุลาคม 2562

นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาบาลีได้อธิบายเอาไว้ว่า คือหลักปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสุขสวัสดีแก่พระราชา

หลังจากที่มีประกาศในราชกิจานุเบกษา เรื่องโปรดเกล้าฯ ถอดยศเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี เนื่องจากกระทำความผิดราชสวัสดิ์ สำนักข่าวต่างๆ ได้พยายามอธิบายเรื่องราชสวัสดิ์ด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

โดยระบุว่าเป็น พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่แท้จริงแล้วรัชกาลที่ 6 ไม่ได้ทรงพระราชนิพนธ์ แต่เป็นแบบแผนของข้าราชสำนักฝ่ายหน้า (ขุนนางผู้ชาย มาแต่โบราณ) ปรากฎในหลักฐานเก่าที่สุดคือโคลงราชสวัสดิ์ สมัยอยุธยา

แม้แต่โคลงราชสวัสดิ์ก็เคยถูกเข้าใจผิดว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระนารายณ์ แต่จากการศึกษาโดยเล็กดา อิ่มใจ ในวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยศิลปากรเรื่อง "การศึกษาเปรียบเทียบโคลงพระราชนิพนธ์ ๖ เรื่องในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ" พบว่า โคลงราชสวัสดิ์เป็นพระราชนิพนธ์พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยปรากฎหลักฐานในบานแพนกของสมุดไทยฉบับตัวเขียน เรื่องโคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์ พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จกรมพระราชวังบวร พระอนุชาในพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ

คราวนี้มาถึงคำถามว่า "ราชสวัสดิ์คืออะไร?" นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาบาลีได้อธิบายเอาไว้ว่า ราชสวัสดิ์คือ ราช + สวัสดิ์ = ราชสวัสดิ์ แปลตามศัพท์ว่า “ความสุขสวัสดีของพระราชา” หรือแปลแบบตีความเพื่อให้สอดคล้องกับความเข้าใจของคนทั่วไปว่า “หลักปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสุขสวัสดีแก่พระราชา”

หลักราชสวัสดิ์ปรากฎอยู่ในวิธุรชาดก ว่าด้วยข้อปฏิบัติต่อพระราชา มีคาถาภาษาบาลีกำกับไว้หลายแห่งว่า “ส ราชวสตึ วเส” ซึ่งแปลว่า “ผู้นั้นพึงอยู่กับพระราชาได้” แล้วมีคำอธิบายว่าด้วยวิธีการใดที่คนๆ หนึ่งจะอยู่กับพระราชาได้ในฐานะข้าราชบริพาร

แนวคิดนี้อาจถูกนำมาขยายความต่อในโคลงราชสวัสดิ์ของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยแยกออกเป็นแนวทาง 55 ข้อที่ขุนนางหรือมหาดเล็กควรหรือไม่ควรปฏิบัติในเวลาที่คอยถวายการรับใช้ เช่น บทที่ 25 ว่า "อย่าแถลงแสดงอรรถให้ ลวนลาม/คุมเคียดเสียดสกลตาม แต่งตั้ง/อย่าทุจริตผิดผลความ เควียนโทษ/ไปล่เปลื้องประเทืองยับยั้ง เรื่องร้าย สลายแสลง" เป็นต้น

วรรณคดีอีกเรื่องหนึ่งที่เอ่ยถึงราชสวัสดิ์ คือ เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ตอนที่ 15 ขุนแผนต้องพรากนางลาวทอง เริ่มข้อความว่า "โบราณว่าเป็นข้าจอมกษัตริย์/ราชสวัสดิ์ต้องเพียรเรียนรักษา" จากนั้นไล่เรียงข้อปฏิบัติ 10 ประการของขุนนาง ไปจบด้วยข้อความว่า "ราชสวัสดิ์จัดจบครบสิบข้อ/พ่อจงจำไว้ให้หนักแน่น"

เนื้อคำสอนมีอยู่ว่า

ท่านกำหนดจดไว้ในตำรา/มีมาแต่โบราณช้านานครัน

หนึ่งวิชาสามารถมีอย่างไร/ไม่ปิดไว้ให้ท่านทราบทุกสิ่งสรรพ์ /หนึ่งกล้าหาญทำการถวายนั้น/มุ่งมั่นจนสำเร็จเจตนา

หนึ่งมิได้ประมาทราชกิจ/ชอบผิดตริตรึกหมั่นศึกษา/ หนึ่งสัตย์ซื่อถือธรรมจรรยา/เหมือนสมาทานศีลไว้มั่นคง

หนึ่งเสงี่ยมเจียมตัวไม่กำเริบ/เอื้อมเอิบหยิ่งเย่อเฟ้อหลง/ หนึ่งอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์/ไม่ทำเทียมด้วยทะนงพระกรุณา

หนึ่งไซร้ไม่ร่วมราชาอาสน์/ด้วยอุบาทว์จัญไรเป็นหนักหนา/ หนึ่งเข้าเฝ้าสังเกตซึ่งกิจจา/ไม่ใกล้ไกลไปกว่าสมควรการ

หนึ่งผู้หญิงชาวในไม่พันพัว/เล่นหัวผูกรักสมัครสมาน/ หนึ่งสามิภักดิ์รักใคร่ในภูบาล/ถึงถูกกริ้วทนทานไม่ตอบแทน

เนื้อหาทั้งหมดของเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนนี้ถูกอ้างว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ในความจริงแล้วเป็นเนื้อหาจากวรรณคดีเก่าแต่งโดยผู้เขียนหลายท่านที่ไม่ปรากฎนาม โดยนักประพันธ์โบราณได้เขียนบรรยายไว้ว่า ผู้บอกกล่าวคือนางทองประศรีที่สอนลูกชายคือขุนแผนที่จะไปรับราชการ ดังความตอนจบบอกว่า "พ่อแผนของแม่จงใส่ใจ/จงไปดีมาดีศรีสวัสดิ์/พ้นวิบัติเสี้ยนหนามความเจ็บไข้/ให้พระองค์ผู้ทรงภพไตร/โปรดปรานประทานให้เป็นพระยา" นั่นคือสอนให้ขุนแผนจดจำและปฏิบัติราชสวัสดิ์เพื่อจะได้ดีเป็นเจ้าใหญ่นายโตถึงระดับพระยาในอนาคต

โปรดสังเกตว่าราชสวัสดิ์เป็นคำแนะนำสำหรับฝ่ายหน้า ไม่ใช่ฝ่ายใน คือพระสนมนางกำนัลที่เป็นขุนนางหญิง เนื้อหาที่บอกสอนผู้ชายไว้อย่างชัดเจนคือ "หนึ่งผู้หญิงชาวในไม่พันพัว/เล่นหัวผูกรักสมัครสมาน"

แต่ในคำประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้เอ่ยคำว่าราชสวัสดิ์ในลักษณะที่เป็นข้อปฏิบัติสำหรับฝ่ายหน้า คือพระภรรยาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งถือเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

อ้างอิงจาก

ภาษาไทย มหาวิทยาลัยรามคำแหง. (2562) "โคลงพระราชนิพนธ์ ๓ เรื่อง ไม่ใช่ของสมเด็จพระนารายณ์ หากแต่เป็นพระราชนิพนธ์พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ". สืบค้นเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 จากเว็บไซต์ https://www.facebook.com/1786070958104479/photos/a.1787145604663681/2215481148496789/?type=3&permPage=1 

เล็กดา อิ่มใจ. (2528). "การศึกษาเปรียบเทียบโคลงพระราชนิพนธ์ 6 เรื่องในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (A comparative study of the six literary works attributed to King Paramakosa)" บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ทองย้อย แสงสินชัย (2560). "ราชสวัสดิ์ ผิดจนถูก อ่านว่า ราด-ชะ-สะ-หฺวัด ประกอบด้วยคำว่า ราช + สวัสดิ์". สืบค้นเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 จากเว็บไซต์ http://dhamma.serichon.us/ราชสวัสดิ์-ผิดจนถูก-อ่า/ 

ศิลปากร , กรม. (2524) " โคลงทศรถสอนพระราม โคลงพาลีสอนน้อง โคลงราชสวัสดิ์ สมุทรโฆษคำฉันท์ตอนกลางโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช". กรุงเทพฯ, เจริญวิทย์การพิมพ์.

หอพระสมุดวชิรญาณ. "เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ" สืบค้นเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 จากเว็บไซต์ https://vajirayana.org/ขุนช้างขุนแผน-ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ/ตอนที่-๑๕-ขุนแผนต้องพรากนางลาวทอง 

 

ภาพ Patipat Janthong / Bangkok Post