posttoday

ย้อนความทรงจำ "ชั่งหัวมัน" โครงการพระราชดำริ "รัชกาลที่9" พลิกแล้งจนเขียวขจี

13 ตุลาคม 2562

"โครงการชั่งหัวมัน" หนึ่งในโครงการตามพระราชดำริของ "ในหลวงรัชกาลที่9" ที่พลิกฟื้นแผ่นดินที่แห้งแล้ง จนกลายเป็นพื้นที่เกษตรอันยั่งยืน

"โครงการชั่งหัวมัน" หนึ่งในโครงการตามพระราชดำริของ "ในหลวงรัชกาลที่9" ที่พลิกฟื้นแผ่นดินที่แห้งแล้ง จนกลายเป็นพื้นที่เกษตรอันยั่งยืน

โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ตั้งอยู่ ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เกิดขึ้นจากความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีต่อเกษตรกรในการที่จะพัฒนาส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้ประสบความสำเร็จ สามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน

โครงการนี้แรกเริ่มตอนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประทับอยู่ ณ วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แล้วมีชาวบ้านนำมันเทศมาถวาย ช่วงนั้นพระองค์ต้องรีบเสด็จฯ กลับกรุงเทพมหานคร เลยรับสั่งให้เจ้าหน้าที่นำหัวมันเทศไปวางไว้บนตาชั่งในห้องทรงงาน

หลังจากพระองค์เสด็จฯ กลับกรุงเทพฯ เวลาล่วงเป็นเดือน เมื่อเสด็จฯ กลับมาหัวหินทรงพบว่ามันเทศนั้นได้แตกใบ พระองค์เลยตรัสว่า “มัน อยู่ที่ไหนก็ขึ้น” ดังนั้นจึงมีพระราชดำริให้จัดหาที่ดินเพื่อทำโครงการด้านการเกษตรขึ้นในปี 2551 โดยได้ซื้อที่ดินจำนวน 120 ไร่ และต่อมาในกลางปี 2552 ทรงซื้อที่ดินแปลงติดกันเพิ่มอีก ณ บ้านหนองคอไก่ ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี จำนวน 250 ไร่ เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์รวบรวมพืชเศรษฐกิจนานาชนิด เป็นแนวทางให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ท่ายาง ที่มีพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ทรงพระราชทานพันธุ์มันเทศ ซึ่งงอกออกมาจากหัวมันที่ตั้งโชว์ไว้บนตาชั่งในห้องทรงงานที่วังไกลกังวล ให้นำมาปลูกไว้ที่ที่ดินแปลงนี้ พระราชทานชื่อโครงการว่า “โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ”

ศรราม ต๋องาม อายุ 61 ปี อยู่บ้านเลขที่ 88 หมู่ 8 ต.กลัดหลวง อ.ท่ายาง ผู้ที่เคยถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในโครงการชั่งหัวมัน เล่าย้อนอดีตในช่วงที่พระองค์มาซื้อที่ดินเพื่อจัดตั้งทำเป็นโครงการนี้ว่า ชาวบ้านต่างพากันดีใจอย่างมาก แม้ว่าพื้นที่แห่งนี้จะทำการเกษตรได้ แต่ก็ขาดแคลนน้ำ ชาวบ้านปลูกพืชผักแบบเชิงเดี่ยว มีน้ำก็ได้ทำไม่มีก็ไม่ได้ทำ หน้าแล้งทำให้ต้องออกไปรับจ้างทั่วไป ซึ่งอดีตก่อนเกิดโครงการชั่งหัวมัน หลายสิบปีก่อนหน้านี้พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพพื้นที่ค่อนข้างสมบูรณ์เพราะยังมีป่าไม้ แต่ภายหลังได้มีการตัดไม้ทำลายป่า จนเกิดความแห้งแล้งอย่างหนัก

“ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมาซื้อที่ดินเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่รวมทั้งผู้ที่ขายที่ดินให้ด้วย ต่างปลาบปลื้มใจ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเหมือนเทวดามาโปรด ไม่ใช่เทวดาธรรมดาแต่เป็นเทวดาที่พูดได้” ศรราม กล่าวด้วยความปลื้มปีติ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพระองค์ซื้อที่ดินเรียบร้อยแล้วก็ดำเนินการแบบประชาชนทั่วไป ไปจดขึ้นทะเบียนเกษตร ทรงปลูกสร้างบ้านพักธรรมดา เสียค่าน้ำค่าไฟ และเริ่มปลูกพืชผักในพื้นที่ โดยชาวบ้านทั้งในพื้นที่ และใน จ.เพชรบุรี รวมทั้งเจ้าของที่เดิมที่ขายที่ให้พระองค์ ต่างพากันเข้าไปช่วยพระองค์ปลูกพืชผัก ตามความรู้แบบชาวบ้าน ใครมีพืชผักอะไรก็นำไปปลูก เช่น กล้วย สับปะรด มะนาว ตลอดจนพืชผักสวนครัวอื่นๆ

ศรราม เล่าอีกว่า มีความรู้เรื่องการปลูกหน่อไม้ฝรั่ง ก็นำหน่อไม้ฝรั่งไปปลูกพร้อมแนะนำชาวบ้านไปร่วมทำกัน สิ่งที่ภาคภูมิใจมากที่สุด คือ การทำนาข้าว เริ่มแรกทำแบบข้าวหยอดหรือข้าวไร่ แต่ผลที่ได้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เนื่องด้วยสภาพพื้นที่แห้งแล้ง จึงเปลี่ยนมาทำนาดำแบบใช้น้ำ ชาวบ้านมาช่วยกันทำกระทงนา ช่วยกันไถนาช่วยกันปักดำ ดูแล ไปจนถึงเก็บเกี่ยวข้าวด้วยการใช้เคียวเกี่ยวแบบชาวนาในอดีต เป็นภาพที่น่าประทับใจมาก

กระทั่งมาปลาบปลื้มใจอีกครั้งในวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จมาเปิดป้าย โครงการชั่งหัวมัน เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2552 ซึ่งได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่านพร้อมด้วยนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เขากระปุกและกลัดหลวง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พระองค์ท่านทรงตรัสถามว่า เอาน้ำที่ไหนใช้ ซึ่งพระองค์ท่านจะเป็นห่วงประชาชนตลอด มีการพูดคุยสนทนาแบบไม่ได้ใช้คำราชาศัพท์ พระองค์ท่านถามถึงความเป็นอยู่ของชาวบ้านตลอดเวลา

“ผมเองเห็นพระองค์ท่านทรงยิ้มอย่างมีความสุข ที่สำคัญเวลาพูดคุย ผมจะพูดสำเนียงท้องถิ่นของชาวเพชรบุรีในการพูดคุย ซึ่งผมเองได้ขอพระองค์ท่าน จับและลูบคลำคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง ที่ติดตามพระองค์ท่านมาด้วย ซึ่งพระองค์ท่านก็อนุญาต พร้อมกับตรัสให้ผมอนุรักษ์เสียงการพูดของชาวเพชรบุรีเอาไว้ พระองค์ท่านยังได้ตั้งชื่อให้กับผมใหม่เป็น ศรราม ซึ่งชื่อเดิมชื่อ ราม เฉยๆ นอกจากนั้นยังได้เงินพระราชทานจากพระองค์ท่านเดือนละ 3,000 บาท” ศรราม กล่าวด้วยความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต

ปัจจุบัน ศรรามได้เกษียณอายุ การทำงานเรียบร้อยแล้ว และได้มาทำงานอยู่ที่บ้าน แต่ศรรามปฏิญาณตนจะยึดแนวดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ที่เป็นพ่อของแผ่นดินตลอดไป

แหล่งเรียนรู้ทำเกษตรไร้เคมี

เนื้อที่ภายในโครงการชั่งหัวมันกว้างไกลตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา พื้นที่แห่งนี้สภาพเดิมโดยทั่วไปแห้งแล้ง เจ้าของเดิมปลูกต้นยูคาลิปตัสเพื่อตัดไม้ขาย มีแปลงปลูกมะนาวเดิมอยู่ประมาณ 35 ไร่ แปลงอ้อยประมาณ 30 ไร่ การพัฒนาพื้นที่ส่วนที่เป็นแปลงยูคาลิปตัสทั้งหมด

แต่ปัจจุบันได้จัดสรรทำการเกษตรเป็นอย่างดี มีทั้งแปลงพืชเศรษฐกิจที่ปลูกหลายชนิด อาทิ สับปะรด มะนาว มะพร้าว รวมทั้งมันเทศ นอกเหนือจากพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ ก็ยังมีการปลูกไม้ผล พืชไร่ และพืชผักต่างๆ อาทิ แก้วมังกร ชมพู่เพชร กล้วย ฟักทอง กะเพรา โหระพา พริก ฯลฯ มีแปลงปลูกข้าว ทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ปลูกยางพารา

ทั้งหมดนี้จะเน้นไม่ให้มีการใช้สารเคมี หรือหากต้องใช้ก็ต้อง มีในปริมาณที่น้อยที่สุด มีฟาร์มโคนม ฟาร์มไก่ และแปลงเกษตรที่ จัดเป็นสวนสวยให้คนที่แวะมาเยี่ยมชม เรียนรู้วิธีการทำเศรษฐกิจแบบพอเพียงตามรอยพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

*********************************

ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ 18 ตุลาคม 2559