posttoday

เทพรัตนแห่งแผ่นดิน (107)

06 สิงหาคม 2560

พระราชนิพนธ์หนังสือเรื่องข้าวไทยไปญี่ปุ่น จำนวน 159 หน้า เป็นบันทึกการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่น ระหว่าง 23-26 พ.ย. 2537

โดย...วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย

พระราชนิพนธ์หนังสือเรื่องข้าวไทยไปญี่ปุ่น จำนวน 159 หน้า เป็นบันทึกการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่น ระหว่าง 23-26 พ.ย. 2537 เนื่องจากการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงรับเชิญจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI-International Rice Research Institute) ประเทศญี่ปุ่น เสด็จฯ ไปทรงร่วมงานและบรรยายพิเศษเรื่องข้าวไทยในงานวัน Japan-IRRI Day ที่กรุงโตเกียว สำหรับเนื้อหาของการบรรยายพิเศษนั้น ทรงกล่าวถึงประวัติของข้าวไทยตั้งแต่สมัยโบราณ ความสำคัญของข้าวต่อเศรษฐกิจของประเทศ พระราชกรณียกิจด้านการเกษตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนถึงเรื่องวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมต่างๆ ของไทยที่เกี่ยวเนื่องกับข้าว

พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เรื่องเขมรสามยก มีความหนา 309 หน้า ทรงบันทึกเรื่องราวการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศกัมพูชา 3 ครั้ง ครั้งแรกระหว่างวันที่ 25-27 ส.ค. 2535 ครั้งที่ 2 วันที่ 8 ม.ค. 2536 และครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 12-18 ม.ค. 2536 ทรงให้ความสนใจศึกษาเรื่องราวของประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะในเรื่องอิทธิพลของศิลปวัฒนธรรมเขมรที่มีต่อไทย เช่น ด้านภาษาและวรรณคดี รูปแบบทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม กัมพูชา เป็นดินแดนแห่งอารยธรรมอันเก่าแก่ มีมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ภาษา ประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ทรงคุณค่ามากมาย จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้สนใจศึกษาเรื่องราวด้าน ประวัติศาสตร์ศิลปะ อักษรศาสตร์ และนาฏศิลป์ ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระวิริยะบันทึกไว้อย่างน่าสนใจ ทั้งยังได้เพลิดเพลินไปกับพระสำนวนโวหารและพระอารมณ์ขันที่ทรงสอดแทรกไว้ด้วย

เทพรัตนแห่งแผ่นดิน (107)

พระราชนิพนธ์เรื่องคืนฟ้าใส จำนวน 175 หน้า เป็นบันทึกการเสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรนอร์เวย์ และราชอาณาจักรเดนมาร์ก ระหว่างวันที่ 17-18 มิ.ย. 2532 พระราชดำริเกี่ยวกับการเดินทางครั้งนี้ ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในคำนำ ว่า “หลังจากเคร่งเครียดกับการดูงานวิชาการ ดังที่ได้พรรณนาไว้ในหนังสือ “ปริศนาดวงดาว” แล้วในปีเดียวกันยังได้ไปประเทศนอร์เวย์ นับเป็นประสบการณ์ที่ดี คือได้ศึกษาพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหนือเส้นอาร์กติก ดินฟ้าอากาศช่วงนี้สว่างกระจ่างแจ้ง จึงเป็นที่มาของชื่อหนังสือ “คืนฟ้าใส”

พระราชนิพนธ์เรื่องเจียงหนานแสนงาม ความยาว 367 หน้า เป็นพระราชนิพนธ์ที่ทรงไว้เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 2-14 เม.ย. 2542 ทรงพระราชนิพนธ์ใน “คำนำ” เกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ ตอนหนึ่งว่า“...คนไทยคุ้นเคยกับคำว่าเจียงหนาน หรือที่ภาษาจีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า กังนั้ม และภาษาไทยออกเสียงเคลื่อนไปว่า กังหนำ เพราะมีภาพยนตร์เกี่ยวจักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จประพาสเจียงหนานมาฉายหลายเรื่อง ภาพยนตร์จีนกำลังภายในที่ฉายกันทางโทรทัศน์ก็มีอยู่หลายเรื่องที่กล่าวถึงเจียงหนาน เรื่อง มังกรหยก ของ กิมย้งก็เอาเจียงหนานมาเป็นฉากส่วนหนึ่งของเรื่อง มีผู้กล้าหาญทั้งเจ็ดแห่งกังหนำ อาจารย์ของก๋วยเจ๋งเป็นตัวละครในเรื่องด้วย เพลงในภาพยนตร์เรื่องจอมใจจักรพรรดิ หรือเจียงซาน เหม่ยเหริน ก็ร้องบรรยายถึงเจียงหนานเช่นกัน จนคำว่า เจียงหนานเห่า หรือ เจียงหนานแสนงามเป็นวลีที่ชาวจีนพูดกันติดปาก”

เทพรัตนแห่งแผ่นดิน (107)

หนังสือเฉลิมพระเกียรติและรวมพระราชนิพนธ์ (ปี 2510-2520) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 299 หน้า เป็นหนังสือรวมพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง และยังได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพระราชพิธีสถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดาฯ ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธ.ค. 2520 หนังสือเล่มนี้จัดแบ่งงานพระราชนิพนธ์ออกเป็นหัวข้อต่างๆ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา ประเพณี ประวัติศาสตร์ ภาษาและวรรณคดี สารคดี วรรณกรรมร้อยกรองภาษาไทย วรรณกรรมร้อยกรองภาษาต่างประเทศ ดนตรี และปกิณกะ

พระราชนิพนธ์ เรื่องชมช่อมาลตี จำนวน 335 หน้า เป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงบันทึกเมื่อเสด็จพระราชดำเนินประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 2-16 ต.ค. 2527 ภาพแรกเป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ส่งเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่ทรงคุกพระชานุกอด “ทูลกระหม่อมพ่อ” ที่ทรงวางพระหัตถ์ทั้งสองบนพระอังสะและพระปฤษฎางค์พระราชธิดาช่างน่ารักนักหนา ทรง “บอกเล่าเสียก่อน” เหมือนคำนำ ความว่าหนังสือ “ชมช่อมาลตี” มาจากสมุดบันทึกการเดินทาง ซึ่งเขียนขึ้นอย่าเร่งด่วน ในการที่พระองค์ท่านเสด็จฯ ต่างประเทศทุกครั้ง ที่ทรงใช้ชื่อ “ชมช่อมาลตี” เพราะดอกมาลตี คือ ดอกมะลิ ที่อินโดนีเซีย ถือเป็นดอกไม้ประจำชาติ

เทพรัตนแห่งแผ่นดิน (107)

เทพรัตนแห่งแผ่นดิน (107)