posttoday

เทพรัตนแห่งแผ่นดิน (106)

23 กรกฎาคม 2560

“แว่นแก้ว” เป็นชื่อที่พระองค์ตั้งขึ้นเอง และทรงเริ่มใช้เมื่อปี 2521 เมื่อทรงพระราชนิพนธ์และทรงแปลเรื่องสำหรับเด็ก

โดย...วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย

“แว่นแก้ว” เป็นชื่อที่พระองค์ตั้งขึ้นเอง และทรงเริ่มใช้เมื่อปี 2521 เมื่อทรงพระราชนิพนธ์และทรงแปลเรื่องสำหรับเด็ก ได้แก่ แก้วจอมซน แก้วจอมแก่น และขบวนการนกกางเขน โดยทรงมีรับสั่งถึงพระนามแฝงนี้ว่า “ชื่อแว่นแก้ว นี้ตั้งเอง เพราะตอนเด็กๆ ชื่อลูกแก้ว ตัวเองอยากชื่อแก้ว ทำไมถึงเปลี่ยนไปไม่รู้เหมือนกัน แล้วก็ชอบเพลงน้อยใจยา นางเอกชื่อแว่นแก้ว”

“หนูน้อย” พระองค์มีรับสั่งถึงพระนามแฝงนี้ว่า “เรามีชื่อเล่นที่เรียกกันในครอบครัวว่าน้อย เลยใช้นามแฝงว่า หนูน้อย” โดยพระองค์ทรงใช้เพียงครั้งเดียวในบทความเรื่อง “ป๋องที่รัก” ตีพิมพ์ในหนังสือ 25 ปีจิตรลดา เมื่อปี 2523

“บันดาล” เป็นพระนามแฝงที่ทรงใช้ในงานแปลภาษาอังกฤษเป็นไทยที่ทรงทำให้สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เมื่อปี 2526 หลังจากนั้นก็ไม่เคยทรงใช้อีกเลย พระองค์มีรับสั่งถึงพระนามแฝงนี้ว่า “ใช้ว่า บันดาลเพราะคำนี้ผุดขึ้นมาในสมอง เลยใช้เป็นนามแฝง ไม่มีเหตุผลอะไรในการใช้ชื่อนี้เลย”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงใช้สำคัญกับ “หนังสือ” อันเป็นแหล่งรวบรวมความรู้และศิลปวิทยาการต่างๆ ที่สามารถถ่ายทอดสู่อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ เพื่อที่จะนำไปต่อยอดพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป โดยการที่จะถ่ายทอดความรู้ ความคิดเป็นตัวอักษรได้นั้น “ภาษา” เป็นสื่อสำคัญที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างผู้ส่งและผู้รับ พระองค์จึงทรงสนพระราชหฤทัยและทรงให้ความสำคัญกับงานด้านภาษาเป็นอย่างยิ่ง ดังทรงมีพระราชดำริที่ได้พระราชทานไว้ในหนังสือ “มณีพลอยร้อยแสง” ความตอนหนึ่งว่า

เทพรัตนแห่งแผ่นดิน (106)

“...ถ้าเรารู้ภาษา รู้จักการใช้ภาษาที่ดี ก็จะสามารถเอาความรู้ของตนมาใช้ให้ประโยชน์ ถ่ายทอดให้ผู้อื่นรู้...”

ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จึงยังคงสนพระราชหฤทัยศึกษาและฝึกฝนเรียนรู้ทักษะภาษา อาทิ ฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาจีน รวมทั้งทรงใฝ่แสวงหาเพิ่มพูนความรู้และวิชาการด้านต่างๆ อยู่มิได้ขาด เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ ดาราศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ โดยจะทรงเข้าร่วมการประชุม แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ศึกษาดูงาน และทรงพบปะสนทนากับปราชญ์ด้านต่างๆ อยู่เป็นประจำ เพื่อทรงรับความรู้ใหม่ๆ และทันสมัยอยู่เสมอ และทรงพยายามบันทึกเรื่องราวและความรู้ต่างๆ เป็นผลึกแห่งแนวคิดเจ้าหญิงนักพัฒนาผ่านตัวหนังสือถ่ายทอดความรู้สู่ผู้อ่าน ด้วยทรงตระหนักและเชื่อมั่นว่า ถ้าคนมีความรู้ที่ดี จะนำมาพัฒนาตนเองและประเทศชาติให้พัฒนาถาวรสืบไป

พระองค์ทรงมีหนังสือพระราชนิพนธ์ชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศที่ให้ความรู้และความบันเทิงแก่ผู้อ่านเป็นจำนวนมาก เช่น เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 1 ปักกิ่ง จำนวน 114 หน้า เกล็ดหิมะ
ในสายหมอก เล่ม 2 เหลียวหนิง จำนวน 140 หน้า เกล็ดหิมะในสายหมอก  เล่ม 3 จี๋หลิน จำนวน 228 หน้า และเกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 4 เฮอหลงเจียง จำนวน 151 หน้า

พระราชนิพนธ์เกี่ยวกับสาธารณรัฐประชาชนจีนทั้ง 4 เล่มนี้ พระราชนิพนธ์ขึ้นเมื่อคราวที่เสด็จฯ เยือนประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 4-17 ม.ค. 2537 โดยครั้งนี้ได้เสด็จฯ เยือนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน อันเป็นถิ่นกำเนิดของแมนจู ซึ่งเป็นดินแดนสำคัญทางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคมและการเมือง

เทพรัตนแห่งแผ่นดิน (106)

ส่วนพระราชนิพนธ์เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่มที่ 5 จำนวน 76 หน้า เป็นภาคผนวกที่พระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับประเทศจีน เช่น ราชวงศ์ที่ปกครองจีนและสุสานพระจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ชิง

พระราชนิพนธ์เรื่องแกะรอยโสม จำนวน 265 หน้า เป็นเรื่องราวการเสด็จฯ เยือนประเทศสาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) ระหว่างวันที่ 18-29 มี.ค. 2534 ซึ่งทรงบันทึกเหตุการณ์ ที่ทรงพบเห็นในระหว่างการเสด็จฯ เยือนสถานที่ต่างๆ ตลอดเวลาที่ทรงประทับอยู่ มีภาพประกอบสวยงามที่ได้ทรงบรรยายไว้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

พระราชนิพนธ์เรื่อง ขอให้เจ้าภาพจงเจริญ จำนวน 159 หน้า เป็นพระราชนิพนธ์ที่ทรงไว้เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 27 ส.ค.-2 ก.ย. 2534 เป็นการเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ครั้งแรกของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลฟิลิปปินส์ และยังได้เสด็จฯ ไปทรงรับรางวัลของมูลนิธิรามอน แมกไซไซ สาขาบริการชุมชน (Public Service)

พระราชนิพนธ์เรื่อง ข้ามฝั่งแห่งฝัน จำนวน 175 หน้า เป็นพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับการเสด็จฯ เยือนสหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 4-10 ก.ค. 2538 หลังจากที่ได้เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศส ตามรายละเอียดในพระราชนิพนธ์ “สวนสมุทร” การเสด็จฯ เยือนสหราชอาณาจักรครั้งนี้ได้เสด็จฯ ไปทรงเปิดงานสำคัญ 2 งานในกรุงลอนดอน คือ งานด้านดนตรีไทยศึกษาที่มหาวิทยาลัยลอนดอน และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ณ สมาคมภูมิศาสตร์แห่งชาติ และได้เสด็จฯ เยือนสถานที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ สวนพฤกษศาสตร์คิว พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ พิพิธภัณฑ์ดนตรี ตลาดปลาบิลลิงสเกต พระราชวังวินด์เซอร์ ฯลฯ