posttoday

เทพรัตนแห่งแผ่นดิน (106)

16 กรกฎาคม 2560

นอกจากนี้ ทรงแปลนวนิยายจีนที่แสดงถึงพระปรีชาญาณด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน และด้วยทรงสนพระราชหฤทัยในภาษาจีนและจีนวิทยา

โดย...วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย

นอกจากนี้ ทรงแปลนวนิยายจีนที่แสดงถึงพระปรีชาญาณด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน และด้วยทรงสนพระราชหฤทัยในภาษาจีนและจีนวิทยา โดยมีพระราชนิพนธ์แปลที่เผยแพร่แล้วคือ เรื่อง “ผีเสื้อ” และ “เมฆเหินน้ำไหล” ซึ่งทรงแปลจากงานเขียนของ ฟังฟัง “นารีนครา” นวนิยายสมัยใหม่ของนักเขียนหญิงชื่อดังชาวจีน “ฉือลี่” ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในปี 2556 ในช่วงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ซึ่งพระองค์ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์แปลเหล่านี้ อันแสดงให้เห็นถึงแนวพระราชดำริอันลึกซึ้งของการถ่ายทอดวรรณศิลป์ และทรงเล็งเห็นความสำคัญของหนังสือที่จะช่วยเชื่อมสัมพันธ์ไทย-จีน ความตอนหนึ่งว่า

“เรื่องราวเกี่ยวกับชาติจีน ไม่ใช่มีแต่เรื่องบุคคลสำคัญที่ประวัติศาสตร์จดไว้เท่านั้น แต่การที่เราจะเข้าใจคนชาตินั้นให้ดี ต้องเข้าใจความเป็นอยู่ ความนึกคิดของคนธรรมดาๆ ในแง่มุมต่างๆ ตั้งแต่ได้อ่านวรรณกรรมจีน ทำให้เข้าใจเรื่องจิตใจของคนจีนสมัยต่างๆ ว่าทำไมถึงคิดอย่างนั้น อาจจะเคยมองในแง่มุมของเราแล้วเรารู้สึกว่าไม่ถูกใจ เมื่อได้อ่านสิ่งที่ผู้เขียนถ่ายทอดออกมา ทำให้รู้สึกเข้าถึงจิตใจ แล้วก็เห็นใจบุคคลที่มีบทบาทหรือได้รับผลกระทบเหตุการณ์บ้านเมืองแล้วถ้านำมาถ่ายทอดให้ผู้อ่านคนไทย ก็จะทำให้เข้าใจจีนได้ดีขึ้น ถือเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งจะช่วยสร้างเพิ่มพูนความสัมพันธ์ระหว่างคนจีนกับคนไทยในแง่ประชาชนได้ดียิ่งขึ้น”

เทพรัตนแห่งแผ่นดิน (106)

ในปี 2557 ทรงพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง “ตลอดกาลน่ะนานแค่ไหน” นวนิยายของนักเรียนชาวจีนนาม “เถี่ยหนิง” ด้วย

สำหรับพระราชนิพนธ์แปลวิชาการ ประกอบด้วยบทความวิชาการที่แปลจากภาษาอังกฤษ อาทิ “กำหนดอนาคต” เป็นพระราชนิพนธ์แปลจาก Where the Future Begins ของ Amadou-Mahtar M’Bow (อะมาดู-มาห์ตาร์ เอ็มโบว์) ชาวเซเนกัล ผู้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ระหว่างปี 2517-2530 ซึ่งสะท้อนให้เห็นสภาพสังคมทั่วโลกทั้งในด้านความเจริญและความเสื่อม ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ผู้แต่งได้นำเสนอปัญหาต่างๆ เหล่านี้เป็นตอนๆ ได้แก่ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ข้อสงสัยเกี่ยวกับความเจริญ เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และความไม่แน่นอน และการฟื้นฟูค่านิยม เป็นต้น ทั้งนี้พระราชนิพนธ์แปลดังกล่าวพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร “ยูเนสโก คูริเย” ฉบับแปลภาษาไทย

พระองค์ยังทรงพระราชนิพนธ์แปลหนังสือและวิชาการจากภาษาอื่นๆ เช่น “จารึกปราสาทหินพนมวัน” หรือ Une nouvelle inscription de Prasad Bnam Van นับเป็นพระราชนิพนธ์ชิ้นแรกที่ทรงอ่านและทรงแปลจารึกภาษาเขมรโบราณ โดยกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ จัดพิมพ์ในโอกาสเปิดนิทรรศการพิเศษ เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2520 รวมทั้งทรงศึกษาพุทธศาสนสุภาษิตของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วันละเล็กละน้อย แล้วทรงแปลและผูกเป็นโคลงวันละบทสองบท เมื่อรวมกันแล้วจึงเกิดเป็น “พุทธศาสนสุภาษิตคำโคลง” และ “พระจูฬปันถกเถระ” แปลจากภาษาบาลีในพระคัมภีร์ ธมฺมปทฏฺฐกถา เป็นต้น

เทพรัตนแห่งแผ่นดิน (106)

นอกจากพระราชนิพนธ์ประเภทต่างๆดังกล่าวแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ยังทรงพระราชนิพนธ์หนังสือและอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ “สมเด็จแม่กับการศึกษา” เป็นพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจด้านการศึกษาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นจากประสบการณ์จริงของพระองค์เอง และจากเรื่องที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเล่าพระราชทานแล้วทรงประทับพระราชหฤทัย ซึ่งล้วนถ่ายทอดถึงแนวพระราชดำริเกี่ยวกับงานพัฒนาประเทศด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษาที่พระองค์ทรงเห็นว่าสำคัญยิ่ง

พระราชนิพนธ์ “แก้วจอมแก่น” เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่ได้รับความนิยมและรู้จักกันทั่วไป ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นจากประสบการณ์จริงเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์มีตัวละครเอกคือแก้วและเหล่าผองเพื่อน พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2516 โดยทรงพระราชนิพนธ์ภาคต่อชื่อเรื่อง “แก้วจอมซน” เผยแพร่ในปี 2521

เทพรัตนแห่งแผ่นดิน (106)

นอกจากนี้ ยังมีวิทยานิพนธ์และงานศึกษาครั้งทรงศึกษาในระดับอุดมศึกษา อาทิ “การพัฒนานวัตกรรมเสริมทักษะการเรียนการสอนภาษาไทยสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย” ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาพัฒนาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อปี 2529  “ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาตะวันออก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2524 “บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์” เมื่อครั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงศึกษาเพิ่มเติมเรื่องการเมืองการปกครอง กฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม กับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หนังสือเล่มนี้เป็นพระราชนิพนธ์ที่ทรงเรียบเรียงเนื้อหาจากคำสอนในเรื่องดังกล่าว

ด้วยความเอาพระราชหฤทัยใส่ยิ่งในด้านภาษา สมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ ได้พระราชนิพนธ์บทความวิชาการเกี่ยวกับการใช้ภาษาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ อาทิ ข้อคิดจากบทอภิปรายเรื่อง “ภาษาไทยกับคนไทย” บทความเรื่อง “การใช้สรรพนาม” และ “วิจารณ์คำอธิบายเรื่องนามกิตก์ในไวยากรณ์บาลี” อันเป็นการอภิปรายและวินิจฉัยการประกอบศัพท์ในภาษาบาลีอย่างละเอียดด้วย

สำหรับพระนามปากกาที่ทรงใช้ในการพระราชนิพนธ์ นอกจากพระนาม “สิรินธร” แล้ว พระองค์ทรงใช้พระนามปากกาหรือพระนามแฝงในการพระราชนิพนธ์หนังสืออีก 4 พระนาม ตามลำดับเวลา ได้แก่

“ก้อนหินก้อนกรวด” เป็นพระนามแฝงที่ทรงหมายถึงพระองค์และพระสหาย สามารถแยกได้เป็น ก้อนหิน หมายถึง พระองค์เอง ส่วนก้อนกรวด หมายถึง กุณฑิกา ไกรฤกษ์ พระองค์มีรับสั่งถึงพระนามแฝงนี้เมื่อปี 2520 ว่า “เราตัวโตเลยใช้ว่า ก้อนหิน หวานตัวเล็ก เลยใช้ว่า ก้อนกรวด รวมกันจึงเป็น ก้อนหิน-ก้อนกรวด” นามปากกานี้ทรงใช้ครั้งเดียวตอนประพันธ์บทความ “เรื่องจากเมืองอิสราเอล” ซึ่งลงพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน

เทพรัตนแห่งแผ่นดิน (106)