posttoday

เทพรัตนแห่งแผ่นดิน (105)

09 กรกฎาคม 2560

“ข้าวไทย” เป็นพระราชนิพนธ์ที่ทรงจัดทำขึ้นเมื่อครั้งเสด็จฯ ไปทรงบรรยายเรื่องข้าวไทยที่สถาบัน International Rice Instiute

โดย...วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย

“ข้าวไทย” เป็นพระราชนิพนธ์ที่ทรงจัดทำขึ้นเมื่อครั้งเสด็จฯ ไปทรงบรรยายเรื่องข้าวไทยที่สถาบัน International Rice Instiute เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2537 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยทรงถ่ายทอดพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งถอดความจากอังกฤษ อันแสดงถึงแนวพระราชดำริที่มุ่งมั่นช่วยเหลือพสกนิกรชาวไทยตามรอยพระยุคลบาท ความตอนหนึ่งว่า

“... ‘ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาและทดลองทำนามาบ้าง และทราบดีว่าการทำนานั้นมีความยากลำบากเป็นอุปสรรคอยู่ไม่ใช่น้อย จำเป็นต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดีและต้องใช้วิชาการต่างๆ ด้วย จึงจะได้ผลเป็นล่ำเป็นสัน อีกประการหนึ่งที่นานั้น เมื่อสิ้นฤดูทำนาแล้ว ควรจะปลูกพืชอื่นๆ บ้างเพราะจะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่น้อย ทั้งจะช่วยให้ดินร่วน ช่วยเพิ่มปุ๋ยกากพืชทำให้ลักษณะเนื้อดินดีขึ้นเหมาะสำหรับจะทำนาในฤดูต่อไป’ ข้อความข้างต้นเป็นพระราชดำรัสซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่กลุ่มผู้นำชาวนา แสดงถึงความสนพระทัยที่ทรงมีต่อพสกนิกรอันเป็นชาวนาชาวไร่โดยตรง...”

นอกจากนี้ ในฐานะ “ทูลกระหม่อมอาจารย์” พลเอกหญิงศาสตราจารย์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระราชนิพนธ์เอกสารคำสอน สำหรับให้นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าใช้ประกอบการเรียน รวมทั้งบทความวิชาการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์เผยแพร่อยู่เนืองๆ ใน “วารสารทางวิชาการ” ของสภาอาจารย์ส่วนการศึกษา และในนิตยสาร “เสนาศึกษา” โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โดยมีความมุ่งหมายในชั้นต้นเพื่อเป็นแหล่งบำรุงความรู้ทางวิชาการทั่วไป ดังตัวอย่างที่หยิบยกมาแสดง ดังนี้

เทพรัตนแห่งแผ่นดิน (105)

พระราชนิพนธ์เอกสารหรือหนังสือ อาทิ “ภูมิศาสตร์กับวิถีชีวิตไทย” และ “ประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ : การปฏิรูปการปกครอง” หนังสือประกอบการสอนวิชา HI 452 ประวัติศาสตร์ไทยโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จ.นครนายก โดยมีเนื้อความบางส่วน ดังนี้

“...รัชกาลที่ 5 ก็มิได้ทรงทอดทิ้งการศึกษาที่มีอยู่แล้ว เช่น โรงเรียนของพวกคริสเตียน และการศึกษาของพระ ซึ่งมีการเรียนพระธรรมวินัยอยู่แล้ว บุตรเจ้านายที่เรียนดี ทรงส่งไปศึกษาวิชาการอังกฤษที่สิงคโปร์สำหรับการศึกษาของสตรีทรงตั้งโรงเรียนสุนันทาลัยขึ้นใน พ.ศ. 2423 ต่อมาได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนนายร้อยนายสิบขึ้น เพื่อฝึกหัดเป็นทหารโดยเฉพาะครั้นมีนักเรียนเพิ่มขึ้นมาก จึงทรงมีพระราชดำริว่าการศึกษาไม่ควรจำกัดอยู่ในกรมทหารมหาดเล็ก ใน พ.ศ. 2425 ทรงตั้งโรงเรียนเฉพาะนายทหารมหาดเล็ก ให้โรงเรียนที่มีอยู่เดิมสอนวิชาทั่วๆ ไป ผู้ต้องการศึกษาวิชาทหารซึ่งถือว่าเป็นวิชาเฉพาะให้แยกไปเรียนทีหลัง...”

พระราชนิพนธ์บทความที่พิมพ์เผยแพร่ใน “วารสารทางวิชาการ” เช่น “โลกานุวัตร” (Globalization) ปี 2537 “ถนนสายรุ่งเรือง” ปี 2548  “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับการพัฒนา” ปี 2549 “ความมั่นคงของมนุษย์ : พื้นฐานสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางสังคม” ปี 2550 “อาเซียนกับโลกตะวันออก” ปี 2552 และ “การปฏิรูปทางการทหาร : การสร้างทหารอาชีพและสถาบันทหาร และบทบาทของทหารที่มีต่อความมั่นคงของชาติ” ปี 2553

เทพรัตนแห่งแผ่นดิน (105)

พระราชนิพนธ์บทความ พิมพ์เผยแพร่ในนิตยสาร “เสนาศึกษา” อาทิ “ศาสนากับการปกครองระบอบประชาธิปไตย” พิมพ์เผยแพร่ฉบับเดือน เม.ย.-พ.ค. 2526 “เล่าเรื่องประเพณีและเทศกาลของไทย” ฉบับเดือน ส.ค.-ก.ย. 2532 “โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ากับสยามใหม่ในช่วง พ.ศ. 2430-2475” ฉบับเดือน ก.พ.-มี.ค. 2535 “สายธารแห่งอารยธรรมไทย” ฉบับเดือน ธ.ค. 2534-ม.ค. 2535 “บางเรื่องเกี่ยวกับสหรัฐอเมริกาจากสายตาผู้มาเยือน” ฉบับเดือน ก.พ.-พ.ค. 2536 และ “ตามเสด็จเยือนลาวเปิดสะพานเชื่อมไมตรี” ฉบับเดือน มี.ค.-พ.ค. 2537

พระราชนิพนธ์เอกสารคำสอนและบทความที่ประกอบด้วยสาขาวิชาต่างๆ ดังกล่าว แสดงถึงความรู้ ความสามารถในศิลปวิทยาการที่หลากหลายของพระองค์ และเมื่อได้อ่านและศึกษาแล้วจะพบว่าในแต่ละเรื่องล้วนสะท้อนถึงแนวพระราชดำริที่ทรงใฝ่พระราชหฤทัยในการทรงงานต่างๆ โดยจะทรงแสวงความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ และจะทรงค้นคว้าหาข้อมูลอย่างเจาะลึกละเอียดลออ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มิได้ทรงเชี่ยวชาญเฉพาะภาษาไทยเท่านั้น หากแต่ทรงพระปรีชาสามารถในภาษาต่างประเทศอีกหลายภาษา ทั้งภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน จีน เขมร บาลี และสันสกฤต
โดยทรงพระราชนิพนธ์บทกวีภาษาฝรั่งเศสไว้กว่า 20 บท ได้พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในปี 2522 จำนวน 14 บท ใช้ชื่อหนังสือว่า “ความคิดคำนึง” รวมทั้งทรงพระราชนิพนธ์แปลวรรณกรรมเยาวชนฝรั่งเศส เรื่อง Rossogols en Cage ของ Madeleine Treherne หรือ “ขบวนการนกกางเขน” ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2524 และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย

ในปี 2523 ทรงเริ่มเรียนภาษาจีน และทรงแปลบทกวีจีนตั้งแต่ปี 2525 ต่อเนื่องกันมา 6-7 ปี กับพระอาจารย์หลายคน และในปี 2541 ภาควิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญบทกวีจีนที่ทรงแปลไว้ส่วนหนึ่ง จำนวน 34 บท ไปพิมพ์เป็นตำราเรียนของนักศึกษาและเผยแพร่แก่ผู้สนใจ พระองค์ได้ทรงพิจารณาชำระใหม่อีกครั้งด้วยทรงเห็นว่าทรงแปลไว้นานแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รวมพระราชนิพนธ์แปลบทกวีจีน “หยกใสร่ายคำ” และทรงให้เผยแพร่ซึ่งได้รับความนิยมมากจนต้องพิมพ์ถึง 3 ครั้งในช่วงเวลาเพียง 6 เดือน

เทพรัตนแห่งแผ่นดิน (105)