posttoday

เทพรัตนแห่งแผ่นดิน (103)

25 มิถุนายน 2560

นอกจากนี้ พระราชนิพนธ์สักวากลอนสดยังสะท้อนความเป็นปฏิภาณกวีของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

โดย...วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย

นอกจากนี้ พระราชนิพนธ์สักวากลอนสดยังสะท้อนความเป็นปฏิภาณกวีของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ อันแสดงถึงลีลากวีที่เฉียบคม มีอารมณ์ขัน อันเป็น “รส” ทางวรรณศิลป์ดังตัวอย่างสักวากลอนสด เรื่อง “สังข์ทอง ตอนเลือกคู่” ซึ่งแสดง ณ ศูนย์วิจัยวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เมื่อวันศุกร์ที่ 23 ต.ค. 2530 ความตอนหนึ่ง ดังนี้

สักวาเร็วเกินไปลูกไม่พร้อม ขืนไปยอมอนาคตไม่สดใส

คำโบราณท่านว่านารีใด จะออกเรือนต้องให้ศึกษาดี

หนึ่งวิชาหมัดมวยช่วยสยบ โดยเตรียมรบพร้อมพรักสมศักดิ์ศรี

ทั้งกฎหมายอีกงานการบัญชี คุมสามีให้เรียบได้เปรียบเอย

เทพรัตนแห่งแผ่นดิน (103)

สำหรับพระราชนิพนธ์ร้อยแก้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเริ่มเรียงร้อยตั้งแต่ปี 2510 เมื่อพระชนมายุเพียง 12 พรรษาเช่นกัน ทรงเริ่มจากเรียงความ สารคดี งานวิชาการสั้นๆ เมื่อทรงเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ทรงได้พัฒนาต่อในด้านบทความวิชาการขนาดยาว และลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับความรู้ที่เพิ่มพูนจึงทรงมีงานวิชาการทั้งบทความ คำบรรยาย ปาฐกถา และงานค้นคว้าวิจัยทั้งในด้านภาษา วรรณคดี พุทธศาสนา ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี จารึกเขมร การศึกษา โภชนาการ และเทคโนโลยีสารสนเทศอีกด้วย

ในบรรดาพระราชนิพนธ์ร้อยแก้วที่ทรงประพันธ์ไว้มากคือ สารคดีเสด็จเยือนต่างประเทศ ซึ่งมีอยู่ถึง 49 เรื่อง โดยพระราชนิพนธ์สารคดีเสด็จเยือนต่างประเทศเรื่องแรกในปี 2516 พระองค์ทรงเขียนบันทึกการเดินทางและการเข้าร่วมพระราชพิธีพระบรมศพพระเจ้ากุสตาฟที่ 6 อดอล์ฟแห่งสวีเดน เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2516 โดยทรงตั้งชื่อเรื่องว่า “การเดินทางไปร่วมพิธีพระบรมศพพระเจ้ากุสตาฟที่ 6 อดอล์ฟ”

ต่อมาในปี 2524 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศจีนเป็นครั้งแรก เมื่อทรงเสด็จกลับมาแล้วทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “ย่ำแดนมังกร” ซึ่งนับเป็นการประเดิมการทรงเรียงร้อยสารคดีขนาดยาวเกี่ยวกับการเสด็จต่างประเทศเรื่องแรก หลังจากนั้นทรงพระราชนิพนธ์ต่อเนื่องเรื่อยมาเกือบทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปเยือนต่างประเทศ

เทพรัตนแห่งแผ่นดิน (103)

ด้วยพระนิสัยที่โปรดการท่องสู่โลกกว้างและทรงใฝ่แสวงหาความรู้ดังกล่าว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จึงทรงถ่ายทอดความรู้หลากหลายด้านที่น่าสนใจ ผ่านตัวหนังสือถึงผู้อ่าน ดังที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ใน “ย่ำแดนมังกร” ความตอนหนึ่งว่า

“...ข้าพเจ้าถือว่าการที่ได้ท่องเที่ยวไปในโลกกว้างทั้งในและนอกประเทศ เป็นการที่เราจะได้โอกาสศึกษาความเป็นไปของธรรมชาติและสังคม แม้ว่าชั่วชีวิตของคนจะน้อยนักเมื่อเทียบกับชีวิตของธรรมชาติ ภูเขา ทะเล และแม่น้ำ แต่เราอาจจะใช้เวลาที่มีอยู่ให้คุ้มค่าในการเรียนรู้ชีวิต เพื่อรับใช้สังคมและประเทศชาติที่เราอาศัยอยู่ การที่ได้ไปที่อื่นนอกจากบ้านเกิดเมืองนอนก็ดีไปอย่างหนึ่งคือ ได้เห็นว่าคนอื่นเขาทำอย่างไรกับชาติของเขา ยิ่งได้เป็นแขกของรัฐบาลอย่างนี้ก็ยิ่งดีใหญ่เพราะเขาย่อมจะพยายามเลือกสรรให้เราดูสิ่งที่เขาคิดว่าดีที่สุด ซึ่งเราจะได้โอกาสทราบทัศนคติและค่านิยมในสังคมปัจจุบันของประเทศนั้นๆ ส่วนดีบางส่วนของเขาอาจจะพอเข้ากับพื้นฐานของเรา และเป็นสิ่งที่เรายังนึกไม่ถึงเราก็จะได้ทำ เป็นการรับเอาวัฒนธรรมต่างชาติมากลั่นกรอง ดีกว่านั่งอยู่บ้านแล้วดูดซึมเอาของดีบ้างไม่ดีบ้างของเขามาโดยไม่รู้ตัว...”

การถ่ายทอดเรื่องราวจากประสบการณ์ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ เป็นสารคดีอันนำมาซึ่งความรู้อันน่าเพลิดเพลินที่แฝงด้วยวิชาการ เป็นคุณลักษณะอันโดดเด่นของพระองค์ที่ทรงไว้ด้วยความเป็นนักวิชาการและนักพัฒนาอย่างแท้จริง โดยจะทรงบันทึกสิ่งที่ได้ทรงพบเห็น และนำมาศึกษาเพิ่มเติมก่อนที่จะถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือในพระราชนิพนธ์ ดังเห็นได้จากตัวอย่างความตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์เรื่อง “ข้าวไทยไปญี่ปุ่น” พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2538 ว่า

“...เมื่อกลับมาเมืองไทยข้าพเจ้าได้ปรึกษากับท่านองคมนตรี อำพล เสนาณรงค์ ถึงสิ่งที่ได้ไปดูที่ญี่ปุ่นจึงได้ทราบเรื่องเพิ่มเติมเกี่ยวกับการติดต่อของสถาบันนี้กับภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่าได้ทำโครงการร่วมกัน ด้าน Microbiology และ Biotechnology ผู้ให้ข้อมูลคือ รศ.ลาวัณย์ ไกรเดช อดีตเลขานุการโครงการวิจัยร่วมกับ RIKEN...”

เทพรัตนแห่งแผ่นดิน (103)