posttoday

สมเด็จพระเทพฯตรัสถึงในหลวงร.9 "ทรงให้ความสำคัญกับการปลูกป่าในใจคน"

06 มีนาคม 2560

สมเด็จพระเทพฯเสด็จฯร่วมงาน "รักป่าน่าน"ครั้งที่ 3 และทรงบรรยายเรื่อง "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ไทย"

สมเด็จพระเทพฯเสด็จฯร่วมงาน "รักป่าน่าน"ครั้งที่ 3 และทรงบรรยายเรื่อง "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ไทย"

เมื่อวันที่ 6 มี.ค. เวลา 08.06 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานและเปิดการสัมมนา "รักษ์ป่าน่าน" ครั้งที่ 3 ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต.ผาสิงห์ อ.เมือง จ.น่าน โดยโครงการ "รักษ์ป่าน่าน" มีสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้อำนวยการโครงการ ร่วมกับกองทัพบก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยมีธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้สนับสนุนและประสานงานโครงการ โดยได้นำเสนอผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา รวมทั้งนำเสนอแนวคิด แนวทางปฏิบัติ พร้อมทั้งหาทางฟื้นฟู จัดการให้ประชาชนชาวน่านได้ประกอบอาชีพและอยู่กินกับป่าได้โดยไม่ทำลายป่า ตลอดจนปลูกจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนได้รักษาธรรมชาติป่าไม้

ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายเรื่อง "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ไทย" โดยมีความตอนหนึ่งว่า

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จไปตามที่ต่างๆ ของประเทศโดยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาต่างๆ ตามไปด้วย ทั้งกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตร ชลประทาน ที่ดิน และกรมแผนที่ทหาร เพราะความผาสุกของราษฎรจะทำโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ได้ เช่นเดียวกับป่าไม้ที่จะเจริญได้ต้องมีน้ำ มีความชุมชื้น มีดินดี มีปุ๋ย

สมัยก่อนการทำมาหากินในป่าไม่ค่อยมีปัญหา ปัญหามาเกิดเมื่อออกลูกออกหลาน เกิดการย้ายถิ่นฐาน และโอกาสที่จะทำลายป่าไม้ก็มีมากขึ้น ในยุคต่อมามีการสัมปทานป่าไม้ มีการตัดไม้แต่ก็ปลูกทดแทน ดังนั้น 30 ปีมานี้ป่าที่เห็นบางแห่งก็ไม่ใช่ป่าตามธรรมชาติ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตรัสว่า มีโอกาสฟังเรื่องราวเมื่อต้นรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากถ้อยคำบอกเล่าโดยนายแก้วขวัญ วัชรโรทัย อดีตเลขาธิการ สำนักพระราชวัง เรื่องจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ต้นยางนาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จยังจ.ประจวบคีรีขันธ์โดยรถไฟ ระหว่างทางผ่าน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรีซึ่งมีต้นยางจำนวนมาก จึงมีพระกระแสรับสั่งให้นำต้นยางมาไว้ในป่าสาธิตภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ซึ่งเป็นต้นกำเนิดการอนุรักษ์พันธุ์พืชหายากที่อาจถูกทำลายในประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีศูนย์ศึกษาการพัฒนา 6 แห่ง ที่เกิดจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กระจายอยู่ตามภาคต่าง ๆ ดังนี้ 1.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา 2. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี 3. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี 4. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร 5. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ 6. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส

"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้เวลาศึกษาแต่ละโครงการอย่างจริงจัง เข้าถึงปัญหาของราษฎร เช่น ทรงประทับอยู่จ.นราธิวาสและทรงขับรถไปทรงงานด้วยพระองค์เอง เป็นการปูพรมเรื่องการรักษาป่าและดินในทุกหมู่บ้าน ทรงให้ความสำคัญกับการปลูกป่าในใจคน คือต้องสอนตั้งแต่เด็กในเรื่องการอนุรักษ์ป่า สอนว่าป่าไม้มีประโยชน์อย่างไร เมื่อเขาเข้าใจชาวบ้านก็จะช่วยกันดูแลป่าไม้"

โดยสรุปคือ ทรงเน้นย้ำถึงความสำคัญของแหล่งดินแหล่งน้ำ พัฒนาคนในประเทศให้สุขภาพดี มีการศึกษา ประชาชนก็มีกำลังเพื่อพัฒนาประเทศชาติสืบไป

 

สมเด็จพระเทพฯตรัสถึงในหลวงร.9 "ทรงให้ความสำคัญกับการปลูกป่าในใจคน"

 

จากนั้นเวลา 10.30 น. นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย บรรยายเรื่อง "โครงสร้างการบริหารจัดการที่ส่งผลให้ได้ป่าต้นน้ำของจังหวัดน่านคืนมา" นายบัณฑูร กล่าวว่า ปัญหาเรื่องป่าไม้ในตังหวัดน่านเป็นเรื่องซับซ้อนตั้งแต่จุดเริ่มต้น คือการจัดสรรพื้นที่สำหรับให้ประชาชนทำกินไม่ถูกต้องมานานแล้ว และเมื่อระบบทุนนิยมเข้ามา เกษตรกรจึงถูกลากเข้ามา เริ่มทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เนื่องจากปลูกง่าย ขายสะดวก มีการรับซื้ออย่างเป็นระบบ ครบวงจร

"ข้าวโพดเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนต่ำพอเริ่มทำแล้วไม่พอก็ขยายพื้นที่ รุกป่าสงวน ซึ่งระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าสงวนของจ.น่าน หายไปแล้ว 30% เฉลี่ยปีละ 2 แสนไร่ เพราะอะไรน่านถึงหนีจากข้าวโพดไม่ได้ ไม่ใช่เพราะปลูกพืชอื่นไม่ได้ แต่เพราะพืชอื่นไม่มีตลาดมารองรับ"

ประธานกรรมการ ธ.กสิกรไทย กล่าวว่า ปัญหาน่านแก้ได้ด้วยหลายศาสตร์ ตั้งแต่ วนศาสตร์ เกษตรศาสตร์ อุทกศาสตร์ พานิชยศาสตร์ สุดท้ายคือรัฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะรัฐบาลจะต้องรับฟังชาวบ้านว่าต้องการอะไร ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุด ณ ตอนนี้คือการจัดสรรพื้นที่ให้ถูกต้อง

"เมื่อเดือน ธ.ค.ปี 2559 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จ.น่าน เพื่อรับฟังปัญหาจากผู้นำชุมชน นับว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี หลังจากน่านถูกลืมไปนาน ผมหวังว่าการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนี้จะได้รับการผลักดันในแนวทางที่ถูกต้องต่อไป"