posttoday

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในมิติของโภชนาการ

20 กุมภาพันธ์ 2560

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนพระราชหฤทัยงานด้านโภชนาการเป็นอย่างยิ่ง

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนพระราชหฤทัยงานด้านโภชนาการเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงริเริ่มและดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นทุรกันดารตั้งแต่ปี 2523 โดยมีงานและเป้าหมายเพื่อปรับปรุงภาวะโภชนาการของเด็กและเยาวชนในประเทศ ไม่ผิดเลยหากจะกล่าวว่า โภชนาการที่ดีขึ้นของเด็กและเยาวชนไทยช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งก็เพราะพระปรีชาและพระวิริยอุตสาหะของพระองค์ท่าน

พระองค์ท่านสนพระราชหฤทัยวิชาการด้านโภชนาการอย่างต่อเนื่อง มีพระราชดำริให้สถาบันวิจัยโภชนาการ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันโภชนาการ) มหาวิทยาลัยมหิดล จัดสัมมนาพิเศษด้านโภชนาการ และทรงร่วมสัมมนาอย่างต่อเนื่องทุกปีนับตั้งแต่ปี 2535-2549 ผลจากการทรงงานด้วยพระปรีชาและพระวิริยอุตสาหะ มีผลทำให้ภาวะโภชนาการของเด็กและเยาวชนตามโครงการพระราชดำริดีขึ้นเป็นอย่างมาก จนเป็นที่ยอมรับและชื่นชมในระดับนานาชาติ

ศ.นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ที่ปรึกษางานโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งประธานคณะจัดทำหนังสือ “สักวาและดอกสร้อยโภชนาการ” เล่าว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในมิติของงานโภชนาการ ทรงเป็นเจ้าฟ้าที่ทรงงานหนักเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน เมื่อทรงพระเยาว์ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปยังถิ่นทุรกันดารในชนบทในหลายวาระ ด้วยเหตุนี้จึงเข้าพระราชหฤทัยในความต้องการของประชาชน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในมิติของโภชนาการ

“ทรงมีความสนพระราชหฤทัยในเรื่องการกินอยู่ของประชาชนมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อแรกก็เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรทั่วไปก่อน ต่อมาเจริญพระชันษาขึ้น ได้ทรงอาสาทำหน้าที่ซักประวัติสุขภาพและความเจ็บป่วย รวมทั้งความเป็นอยู่ของประชาชนที่มาเข้าเฝ้าฯ ทรงมีต้นทุนที่สนพระราชหฤทัยจะเรียนรู้ โดยได้ทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ยาก และทรงมีพระเมตตาคุณที่จะช่วยเหลือพสกนิกรเหล่านั้น”

ทรงทราบดีว่าการที่จะยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนต้องอาศัยความรู้หลากหลาย อาทิ การพัฒนาการเกษตรต้องใช้ความรู้ด้านภูมิศาสตร์ พฤกษศาสตร์ การปรับปรุงพันธุ์พืช การจัดการแหล่งน้ำ แผนที่ และอื่นๆ ทรงเชี่ยวชาญการใช้เทคโนโลยีและทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทรงเน้นเรื่องสุขอนามัยและโภชนาการด้วยมีบทบาทที่สำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ปฐมบทของการพัฒนา

โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เริ่มต้นขึ้นในปี 2523 โดยทรงริเริ่มให้ “โรงเรียน” เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา เนื่องจากทรงพระเนตรเห็นว่าคือจุดศูนย์รวมของเด็ก โดยทรงเน้นที่คุณภาพชีวิตของเด็กเยาวชน อันดับแรกเริ่มที่งานอาหารและโภชนาการ จากนั้นจึงค่อยๆ พัฒนาแบบองค์รวม เชื่อมโยงสู่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย เกษตร สุขภาพ การศึกษา งานอาชีพ สิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์วัฒนธรรม โดยทั้งหมดค่อยๆ เสริมและเติมเต็มจนครบถ้วนในเชิงบูรณาการ

“ทรงเน้นการเรียนรู้โดยการฝึกปฏิบัติ ทรงให้โรงเรียนเป็นศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิต จากนั้นขยายสู่ชุมชน เพื่อการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน” ศ.นพ.ไกรสิทธิ์ เล่า

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในมิติของโภชนาการ

 

ย้อนกลับไปเกือบเมื่อ 40 ปีก่อน โรงเรียนแห่งแรกของโครงการ คือ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนจำนวน 3 แห่ง ที่ จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จากวันนั้นถึงวันนี้ โรงเรียนและศูนย์การศึกษาภายใต้โครงการพระราชดำริ (ปี 2557) เพิ่มเป็น 825 โรงเรียนและศูนย์การศึกษาใน 54 จังหวัด และ 196 โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน รวมจำนวนนักเรียน 121,087 คน โดยนักเรียน 1,600 คน ได้รับพระราชทานทุนเพื่อศึกษาในระดับที่สูงขึ้นจนถึงอุดมศึกษาในทุกปีไป

“ในครั้งหนึ่งพระองค์ท่านเล่าว่า ตอนที่เริ่มงาน ฉันแอบทำ ไม่บอกผู้ใหญ่ เพราะว่าถ้าไม่ประสบความสำเร็จ จะถูกหาว่าคบเด็กสร้างบ้าน ทรงมีความมุ่งมั่นมากที่จะให้โอกาสเด็กในท้องที่ห่างไกลยากไร้ มีโอกาสที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยทรงเริ่มต้นจากอาหารและโภชนาการ เพื่อเชื่อมต่อถึงเรื่องสุขภาพ ทรงมองว่านี่คือพื้นฐานหรือปฐมบทการพัฒนาในทุกเรื่อง” ศ.นพ.คนเดิม กล่าว

เป็นที่ทราบกันดีทั้งภายในประเทศและต่างประเทศว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงอุทิศพระวรกายทรงงานอย่างหนัก เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่โภชนาการของเด็กและเยาวชนไทยจะดีขึ้นอย่างมาก หากพระมหากรุณาธิคุณยังแผ่ไพศาลด้วยทรงถ่ายทอดและประยุกต์ความรู้ด้วยพระปรีชาในศาสตร์ต่างๆ อีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การแพทย์และสาธารณสุข การส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ก็เพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนทุกหมู่เหล่ามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในมิติของโภชนาการ

 

ในระดับนานาชาติ ทรงเป็นที่ปรึกษาพิเศษด้านสุขภาพของประชากรกลุ่มชายขอบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตก ขององค์การอนามัยโลก, กรรมการกิตติมศักดิ์ของคณะกรรมการที่ปรึกษาสาขาสุขภาพของ Bloomberg School of Public Health, Johns Hopkins University, มนตรีของ Refugees Education Trust, ทูตพิเศษด้านอาหารในโรงเรียนของ World Food Program แห่งสหประชาชาติ

พระเกียรติคุณระดับนานาชาติ กล่าวคือ รางวัลรามอน แมกไซไซ ด้านบริการสาธารณะ ปี 2534 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์, โล่เกียรติยศ ผู้นำดีเด่นอุทิศตนเพื่อโครงการกำจัดโรคขาดสารไอโอดีนอย่างยั่งยืนในประเทศไทย จากสภานานาชาติ เพื่อการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน (ICCIDD) ณ กรุงเทพมหานคร, ทูตพิเศษของโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (WFP) ด้านโครงการอาหารโรงเรียน ปี 2547 กรุงโรม ประเทศอิตาลี

นอกจากนี้ ยังมีรางวัลอินทิรา คานธี ด้านสันติภาพและการพัฒนา ปี 2548 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย, ทูตสันถวไมตรี แห่งองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ด้านการเสริมสร้างศักยภาพเด็กชนกลุ่มน้อยด้วยการศึกษาและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ปี 2548 ณ กรุงเทพมหานคร รวมทั้งรางวัลพิเศษสมาพันธ์โภชนาการนานาชาติ (IUNS) เพื่อเทิดพระเกียรติงานดีเด่นในการช่วยเหลือและส่งเสริมโภชนาการของผู้ด้อยโอกาส อันเป็นพื้นฐานของการพัฒนามนุษย์ 2 ต.ค. 2552 ณ กรุงเทพมหานคร

สักวาและดอกสร้อยโภชนาการ

การว่าสักวาและดอกสร้อยกลอนสดเรื่องโภชนาการ เป็นกิจกรรมพิเศษ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดขึ้น ณ สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2535 และวันที่ 8 มี.ค. 2536 ตามลำดับ โดยพระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์ร่วมกับคณาจารย์จากสถาบันต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ ทั้งในเรื่องของการว่ากลอนสด และความรู้ความเข้าใจเรื่องสารอาหารคณะทำงานจัดทำหนังสือ "สักวาและดอกสร้อยโภชนาการ" มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท นานมีบุ๊คส์ ได้จัดทำทั้งบทเพลงขับร้องประกอบการบรรเลงดนตรีไทย (วงปี่พาทย์ไม้นวม) และหนังสือที่นำเสนอความรู้เรื่องโภชนาการผ่านสักวาและดอกสร้อย โดยยกศัพท์ที่มีความเกี่ยวข้องกับโภชนาการมาอธิบายความหมายเฉพาะเป็นคำๆ เรียงตามลำดับไปในแต่ละบท ขออัญเชิญมาเป็นเพียงบางบท ดังนี้

บทสักวาโภชนาการสักวาบทที่ 1 ไหว้ครู

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบอก

สักวาไหว้ครูใหญ่ในสวรรค์ ที่สร้างสรรค์ธัญญาผลาหาร

มวลมนุษย์น้อยใหญ่ในจักรวาล ต้องคิดอ่านกินให้ถูกปลูกให้เป็น

ถ้ากินน้อยก็ผอมยอมไม่ได้ กินมากไปก็ล้นหลามตามที่เห็น

ครูท่านสอนความพอดีซึ่งยากเย็น ยกประเด็นหลายอย่างต่างต่างเอย

บทดอกสร้อยโภชนาการดอกสร้อยบทที่ 1

ศ.นพ.ไกรสิทธิ์กราบบังคมทูลเชิญทรงบทดอกสร้อย

กราบเอ๋ย กราบพระบาท สมเด็จราช กุมารี ศรีเขตขันฑ์เป็นเจ้าฟ้า โภชนาการ งานสำคัญ ทรงสร้างสรรค์ ชีวิตไทย ให้ไพบูลย์ขอเชิญทรง ดอกสร้อย ร้อยกรอง ให้เพราะพร้อง เป็นแบบไว้ ไม่เสื่อมสูญครูอาจารย์ โปรดด้วย ช่วยเกื้อกูล ให้แต่งกลอน สมบูรณ์ น่าฟังเอย

ดอกสร้อยบทที่ 2

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงตอบบทดอกสร้อยว่าด้วยผัก 1 บท

ปลูกเอ๋ย ปลูกผัก ไม่ยากนัก สอนลูก ให้ปลูกง่ายสารอาหาร ของดี มีมากมาย ช่วยขับถ่าย จิตปลอดโปร่ง โล่งกายาจะกินผัก ต้องล้าง ให้สะอาด มิฉะนั้น ปวงพยาธิ จะถามหาขอเชิญ เหล่าเด็ก และคนชรา จงตั้งหน้า กินผักเถิด ประเสริฐเอย