posttoday

"รัชกาลที่10" ราชวงศ์จักรี

01 ธันวาคม 2559

พระราชประวัติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร

โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๙ คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ประชุมร่วมวาระพิเศษ เพื่อรับทราบกระบวนการอัญเชิญพระรัชทายาทสืบราชสันตติวงศ์ จากนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่อง การสถาปนาแต่งตั้งพระรัชทายาทตามกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ต่อมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีการประชุมเพื่อรับทราบขั้นตอนอัญเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นพระรัชทายาททรงขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๑๐ ตามความในรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง ก่อนจะมีการเข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลอัญเชิญต่อไป

"รัชกาลที่10" ราชวงศ์จักรี

พระราชประวัติ รัชกาลที่10

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๕ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

พระองค์มีพระเชษฐภคินี ๑ พระองค์ คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐา ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี 

เมื่อทรงเจริญพระชนมายุได้ ๑ เดือน กับ ๑๘ วัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ในระหว่างวันที่ ๑๔-๑๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๕ โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์ในเย็นวันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๕

"รัชกาลที่10" ราชวงศ์จักรี

วันรุ่งขึ้น วันที่ ๑๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๕ จึงมีพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ในห้องพิธี เมื่อถึงพระฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงจรดพระกรรไกรไทยขลิบพระเกศา และทรงหลั่งน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์จากเต้าพระราชทาน แล้วทรงผูกด้ายพระขวัญทรงเจิมพระราชทาน

เมื่อทรงเจริญพระชนมายุได้ ๑ พรรษา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงตั้งพระนามถวาย ว่า

“สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ
 บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล  
 อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร
 กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร”

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงอธิบายว่า เป็นพระมงคลนามตามพระราชตระกูล คือได้อัญเชิญพระนามฉายาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระไปยิกาธิราช ซึ่งปรากฏในขณะทรงพระผนวชว่า “วชิรญาณะ” ผนวกกับ “อลงกรณ์” จากพระนาม “จุฬาลงกรณ์” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

"รัชกาลที่10" ราชวงศ์จักรี

 

"รัชกาลที่10" ราชวงศ์จักรี

เมื่อทรงเจริญพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม  พุทธศักราช ๒๕๑๕ มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร”

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระธิดา  ๒ พระองค์คือ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา  พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ และพระโอรส ๑ พระองค์ คือ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ

"รัชกาลที่10" ราชวงศ์จักรี

 

"รัชกาลที่10" ราชวงศ์จักรี

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ ๑ เมื่อเดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๙ เมื่อพระชนมายุ ๔ พรรษา ณ โรงเรียนจิตรลดาชั้นอนุบาล ที่ตั้งอยู่ ณ พระที่นั่งอุดร ในพระราชวังดุสิต โรงเรียนจิตรลดา เป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นสำหรับพระราชโอรสและพระราชธิดา บุตรข้าราชบริพารในพระราชวัง เริ่มแรกเปิดสอนชั้นอนุบาลขึ้น ณ ห้องชั้นล่างของพระที่นั่งอุดร ในพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๙๘

ต่อมาเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๐ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ มาประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารเรียนชั้นเดียวในบริเวณสวนจิตรลดา และพระราชทานนามว่า โรงเรียนจิตรลดา 

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงศึกษา ณ โรงเรียนจิตรลดาจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ จึงเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษโดยระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๐๙ ทรงเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด เมืองซีฟอร์ด แคว้นซัสเซกส์ ประเทศอังกฤษ และในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ได้เสด็จไปทรงศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลล์ฟิลด์ เมืองสตรีท แคว้นซอมเมอร์เซท ประเทศอังกฤษ จนถึงเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๓ 

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยในกิจการเกี่ยวกับกองทัพและกิจการทหารเป็นอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินจากประเทศอังกฤษไปทรงศึกษาวิชาการทหารที่ประเทศออสเตรเลีย เมื่อเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๓ ที่โรงเรียนคิงส์ เขตพารามัตตา นครซิดนีย์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเตรียมทหาร เป็นเวลา ๕ สัปดาห์ 

พุทธศักราช ๒๕๑๕ ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา โดยหลักสูตรของวิทยาลัยการทหารแห่งนี้ แบ่งเป็น ๒ ภาค คือ ภาควิชาการทหาร รับผิดชอบและดำเนินการโดยกองทัพบกออสเตรเลีย นักเรียนที่สำเร็จตามหลักสูตรนี้จะได้เป็นนายทหารยศนายร้อย ส่วนอีกภาคหนึ่งเป็นการศึกษาวิชาสามัญ ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ รับผิดชอบการวางหลักสูตร

"รัชกาลที่10" ราชวงศ์จักรี

 

"รัชกาลที่10" ราชวงศ์จักรี

 

"รัชกาลที่10" ราชวงศ์จักรี

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเลือกศึกษาในสาขาวิชาอักษรศาสตร์ ทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๙ เมื่อนิวัตประเทศไทย ทรงรับราชการทหารแล้วทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ ๔๖ พุทธศักราช ๒๕๒๐ ทรงเข้าศึกษาในสาขาวิชานิติศาสตร์ รุ่นที่ ๒ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พุทธศักราช ๒๕๒๕ ทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ ๒)

นอกจากนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับการฝึกอบรมหลักสูตรทางการทหารและการบินต่างๆ อาทิ หลักสูตรวิชาอาวุธพิเศษการทำลายและยุทธวิธีการรบนอกแบบ

ขณะเดียวกัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงผ่านการฝึกอบรมเครื่องบินรบจนมีพระปรีชาสามารถและมีจำนวนชั่วโมงบินสูงมาก รวมทั้งทรงศึกษาหลักสูตรนักบินพาณิชย์ จากสถาบันการบินพลเรือน ทรงสอบได้ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี และในพุทธศักราช ๒๕๔๗ ทรงเข้าศึกษาหลักสูตรนักบินพาณิชย์เอก จากบริษัท การบินไทย และทรงสำเร็จการศึกษาและการบินด้วยเครื่องบินพาณิชย์จริง ทรงได้รับใบอนุญาตเป็นกัปตันเครื่องบินโบอิ้ง ๗๓๗

"รัชกาลที่10" ราชวงศ์จักรี

สายใยแนบแน่นพี่น้อง

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระเชษฐภคินี คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ด้วยความที่ทรงมีพระชนมายุห่างกัน ๑ พรรษา ทำให้ทูลกระหม่อมทั้งสองพระองค์สนิทกันมาก แม้จะทรงแยกห้องกันในเวลากลางคืน แต่เวลากลางวันทรงอยู่ด้วยกันมากที่สุด ทรงรักกันมาก ความรักระหว่างทั้งสองพระองค์แนบแน่นและลึกซึ้ง

วันที่ทูลกระหม่อมหญิงต้องสูญเสียคุณพุ่ม พระโอรสพระองค์เดียว ที่ถึงแก่อนิจกรรมจากเหตุการณ์สึนามิ ที่เขาหลัก จังหวัดพังงา เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงขับเครื่องบินพระที่นั่งไปรับร่างคุณพุ่ม พร้อมทรงขับรถพระที่นั่งนำทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ และคุณสิริกิติยา เจนเซน พระธิดาองค์เล็ก นำขบวนรถยนต์พระที่นั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ รถพยาบาลหลวง หมายเลขทะเบียน รยล. ๘๓๙ นำศพคุณพุ่มเข้ามาทางประตูวิเศษไชยศรีมายังศาลาสหทัยสมาคม พระบรมมหาราชวัง เพื่อบำเพ็ญกุศลกับพระขนิษฐา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือทูลกระหม่อมหญิงน้อย ของทูลกระหม่อมชาย ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระนิสัยคล้ายคลึงกันหลายอย่าง จึงทรงรู้เท่าทันกันเสมอ

"รัชกาลที่10" ราชวงศ์จักรี

ในบทพระราชนิพนธ์ “น้องน้อยของพี่ชาย” ซึ่งเป็นบทความที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระราชนิพนธ์ เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจริญพระชนมพรรษา ๓ รอบเมื่อวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๔

ตอนหนึ่งทรงพระราชนิพนธ์ว่า

“เมื่อตอนเล็กๆ ถือได้ว่าเราสองคนเป็นลูกคนกลางทั้งคู่ จึงเป็นเพื่อนเล่นกันมาตลอด น้องน้อยเป็นเด็กที่เชื่อฟังและอยู่ในโอวาทของพี่ๆ เสมอ อยากที่จะมีส่วนร่วมกิจกรรมต่างๆ กับพี่ๆ เป็นเด็กที่กล้า ตรงไปตรงมา ซนแบบเด็กๆ ทั่วไป และชอบเล่นแบบผู้ชาย

น้องน้อยจะเป็นผู้ช่วยที่ดีของพี่ๆ ช่วยถือของตามไปเสมอ ยังเป็นผู้ดูแล และเป็นองครักษ์ที่ดีของพี่อีกด้วย ไม่เอาเปรียบใคร ไม่คิดถึงตัวเองก่อน

พอช่วงหลัง เมื่อพี่ชายต้องจากทุกคนไปเรียนเมืองนอก เราก็เริ่มห่างกัน แต่น้องน้อยก็ยังเขียนจดหมายถึงพี่ชายสม่ำเสมอ และยังคอยดูแลของให้พี่ชายที่อยู่เมืองไทยอีกด้วย

ความทรงจำของพี่ที่นึกถึงน้องน้อยนี้ อาจจะเป็นบางส่วนบางเสี้ยวในชีวิตของเราเมื่อเด็กๆ แต่ความดี ความน่ารักของน้องน้อยที่มีต่อพี่น้อง และที่พี่จำได้ดีเสมอ คือ น้องน้อยมีน้ำใจกับพี่น้อง เป็นเด็กดี ฉลาด ร่วมรับผิดชอบในสิ่งที่ปฏิบัติร่วมกันเสมอ ไม่เคยหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ ไม่เคยทำให้ใคร หรือผู้อื่นเดือดร้อน ไม่เคยฟ้อง ไม่เคยแก้ตัว และเมื่อมีอะไรก็จะหันซ้าย-หันขวานึกถึงพี่น้องก่อนเสมอ

ในโอกาสที่น้องน้อยครบ ๓ รอบในครั้งนี้ พี่ขอมีส่วนร่วมกับประชาชนชาวไทยส่งความรักมายังน้องน้อยที่ดีและน่ารักของพี่ ขอให้น้องน้อยจงเป็นที่รักเคารพของประชาชนตลอดไป และมีกำลังกาย กำลังใจที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติ เป็นมิ่งขวัญของประชาชนตลอดไป

จากพี่ชายที่รักน้องเสมอมา

“พี่ชาย”

๒ เม.ย. ๓๔

กับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงโปรดทูลกระหม่อมหญิงเล็กมาก เหมือนกับว่ามีพระกระแสจิตตรงกัน ทรงมีเค้าพระพักตร์แบบเดียวกัน พระฉวีขาวผ่อง ทรงตามพระทัยทูลกระหม่อมหญิงเล็กเป็นพิเศษ ขณะที่ทูลกระหม่อมหญิงเล็กทรงยอมไม่ว่าพระเชษฐาจะทรงทำอะไร จะรับสั่งเรียกแต่ “พี่ชายๆ”

"รัชกาลที่10" ราชวงศ์จักรี

 

"รัชกาลที่10" ราชวงศ์จักรี

 

"รัชกาลที่10" ราชวงศ์จักรี