posttoday

พระราชดำรัสสมเด็จพระราชินี "แผนที่" ของในหลวงรัชกาลที่9

15 ตุลาคม 2559

"ฉบับที่ทรงถือติดพระหัตถ์นั้น ความจริงมีขนาดใหญ่มาก เพราะทรงนำแผนที่มาต่อกันถึง 9 แผ่น หรือ 9 ระวาง"

โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

ในการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในแต่ละพื้นที่นั้น ภาพที่คุ้นตาประชาชนคนไทยทั้งประเทศคงเป็นภาพแผนที่ในพระหัตถ์ ซึ่งทรงถือติดพระองค์สำหรับใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการทรงงาน

ผู้ที่สามารถอธิบายและเล่าขานความสำคัญของแผนที่ทรงงานเหล่านี้ได้อย่างดี ก็คือผู้ที่ถวายงานใกล้ชิดอย่างต่อเนื่องและยาวนานเป็นที่ประจักษ์ยากที่ผู้ใดจะปฏิเสธได้ นั่นก็คือสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ในครั้งนี้จึงได้อัญเชิญบางตอนของพระราชเสาวนีย์และพระลิขิตที่ได้ทรงพระกรุณาถ่ายทอดให้พสกนิกรได้รับฟังในกาลต่างกัน ดังนี้

พระราชดำรัสสมเด็จพระราชินี "แผนที่" ของในหลวงรัชกาลที่9

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลที่มาเข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันพุธที่ 11 สิงหาคม พุทธศักราช 2553 ความว่า

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงติดตามเรื่องสถานการณ์น้ำอยู่ตลอดเวลา แม้ระหว่างประทับพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชก็ไม่ทรงว่างเว้นเลย...เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมนี่เอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้คณะผู้บริหาร สถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลรายงานสรุปสถานการณ์น้ำ ได้รับสั่งให้ย้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องน้ำทั่วประเทศ ให้ช่วยกันวางแผนเพื่อรับมือปัญหาน้ำที่ขาดแคลนเป็นประจำทุกฤดูแล้ง เพราะจะขาดแคลนมากขึ้นในอนาคต โดยให้คำนึงถึงการประสานประโยชน์ ไม่เน้นด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป

เวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ พระองค์ท่านจะต้องใช้แผนที่เป็นคู่มือทุกครั้ง ในห้องทรงงานที่พระตำหนักทุกๆ แห่งทั่วประเทศ จะมีแผนที่ประเทศไทยขนาดใหญ่ติดฝาห้อง และแผนที่ที่ขยายเฉพาะส่วนก็มีอีกหลายแผ่น ฉบับที่ทรงถือติดพระหัตถ์นั้น ความจริงมีขนาดใหญ่มาก เพราะทรงนำแผนที่มาต่อกันถึง 9 แผ่น หรือ 9 ระวาง แต่ทรงหาวิธีพับแบบพิเศษ จนมีขนาดที่ทรงถือได้สะดวก พลิกออกมาทอดพระเนตรได้ง่าย ทรงตรวจสอบแผนที่เสมอ ไม่ว่าจะเสด็จฯ ที่ไหน แม้ขณะทรงขับรถเอง ก็มีแผนที่วางอยู่ข้างพระองค์ตลอดเวลา

ถ้าประทับเฮลิคอปเตอร์ ก็จะทอดพระเนตรสภาพพื้นที่จริงเบื้องล่าง เปรียบเทียบไปกับแผนที่ตลอดทาง ไม่มีการหลับเด็ดขาด เสด็จฯ ไปถึงที่หมายแล้ว จะทรงถามชาวบ้านว่า ชื่อหมู่บ้าน แม่น้ำลำคลอง หรือถนน ตรงกับแผนที่ไหม มีหมู่บ้านใดเกิดขึ้นมาใหม่บ้าง ถ้ามีข้อมูลที่ต่างไปจากแผนที่ จะโปรดฯ ให้นายทหารแผนที่จดไว้และนำไปแก้ไข ในการพิมพ์แผนที่ครั้งต่อไปให้ถูกต้อง หากมีโครงการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ ทรงสามารถคำนวณพื้นที่รับน้ำคร่าวๆ ได้จากแผนที่ของพระองค์เอง ทรงชำนาญมาก จนทอดพระเนตรความสูงต่ำของภูมิประเทศได้ ราวกับทอดพระเนตรพื้นที่จริง นักวิชาการหลายท่านทราบดีถึงพระปรีชาสามารถด้านการทรงงานแผนที่ของพระองค์ท่านดี และความที่ทรงแม่นยำในแผนที่นี้ ทำให้ข้าราชการที่ปฏิบัติงานด้วยพลอยกระตือรือร้น ศึกษาหาความรู้เรื่องแผนที่ไปด้วย”

พระราชดำรัสสมเด็จพระราชินี "แผนที่" ของในหลวงรัชกาลที่9

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้ตามเสด็จทรงงานในหลายพื้นที่ ทรงเล่าถึงเรื่องแผนที่ของในหลวงไว้ในรายการวิทยุ “พูดจาภาษาช่าง” ทางสถานีวิทยุจุฬาฯ ความว่า

“...แผนที่ที่พระองค์ทรงใช้คือ มาตราส่วน 1 : 5 หมื่น สำนักงานของท่านคือห้องกว้างๆ ไม่มีเก้าอี้ มีพื้นแล้วท่านก้มอยู่กับพื้น แล้วเอากาวติดแผนที่เข้าด้วยกัน แล้วหัวกระดาษต่างๆ ท่านก็ค่อยๆ ตัดแล้วเรียงแปะเป็นหัวแผนที่เข้าด้วยกันใหม่ เพื่อจะได้ทราบว่าแผนที่ระวางไหนบ้าง...การปะแผนที่ท่านก็ทำอย่างพิถีพิถัน และถือเป็นงานที่ใครจะมาแตะต้องช่วยเหลือไม่ได้เลยทีเดียว”

สาเหตุที่ทรงโปรดทำทุกสิ่งด้วยพระองค์เองนั้น “...ท่านบอกว่าคนเป็นช่าง ช่างหมายถึงงานทำด้วยมือทั้งหลายแหล่ ซึ่งการทำอะไรด้วยมือได้ ไม่ใช่หมายความว่ามือทำเอง มันมาจากสมอง สมองสั่งให้มือทำจึงทำได้ งานช่างคืองานที่ผนวกกันระหว่างสมองกับมือ เพราะฉะนั้นต้องทำเอง ขีดเอง ลูบคลำมันไปแล้ว มันจะได้จากมือที่ลูบคลำ จากตาที่ดู ย้อนกลับมาที่สมอง ทำให้คิดอะไรขึ้นมาได้”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งว่า “แผนที่แต่ละแผ่นทรงหวง ท่านหวงแผนที่ของท่าน อันเดิมนั้นต้องเก็บไว้ โดยเฉพาะแผนที่ทางภาคใต้นั้นโดนฝนมา ทำให้ค่อนข้างเปื่อยยุ่ย ต้องถือด้วยความระมัดระวัง...ถ้าแผนที่นั่นเน่าเต็มทน คือโดนฝน โดนอะไรมา หลายปีหลายฤดูกาล ท่านก็ต้องย้ายข้อมูลจากแผ่นเก่ามาแผ่นใหม่ ซึ่งท่านก็ต้องทำเองอีกเหมือนกัน...ขณะที่ทรงงานจะทรงเติมข้อมูลต่างๆ ลงไปมาก และทรงแก้ไขความผิดพลาดคลาดเคลื่อนที่ทรงพบด้วย เมื่อทรงได้ข้อมูลใหม่จึงส่งตรงไปพระราชทานกรมแผนที่ทหารเสมอ...”

พระราชดำรัสสมเด็จพระราชินี "แผนที่" ของในหลวงรัชกาลที่9

นอกจากสองพระองค์ผู้ถวายงานใกล้ชิดแล้ว ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ถวายงานในเรื่องชลประทานอย่างต่อเนื่องยาวนานเช่นกัน

ปราโมทย์ เล่าว่า พระองค์ทรงเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านแผนที่อย่างมาก ในหลายโครงการชลประทานหลังทรงลงพื้นที่สำรวจสภาพแวดล้อมด้วยพระองค์เองแล้ว จะสามารถนำมาจัดวางและกำหนดพิกัดได้ด้วยพระองค์เอง และให้กรมชลประทานไปตรวจสอบดูก็พบว่าเป็นพิกัดที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นในเรื่องแผนที่ส่วนพระองค์ที่จะหวงมาก และจะทรงใช้ติดพระองค์ตลอดเวลาไม่ว่าจะไปทรงงานอะไร

บรรดาพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ที่ได้รวบรวมมาเบื้องต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพระราชกรณียกิจที่ไม่สามารถประมาณคุณค่า คุณประโยชน์ ที่พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายและพระทัยใส่ เพื่อประโยชน์สุขของคนไทย ตลอดพระชันษา แม้ในยามทรงประชวรอยู่ระหว่างการรักษาพระวรกาย ก็ยังทรงห่วงใยประชาชนอย่างไม่เสื่อมคลาย

ดังที่ทรงกล่าวในปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ข้อมูลจากคลังปัญญาไทยและกรมชลประทาน