posttoday

ทรงครองราชย์ด้วย ทศพิธราชธรรม

15 ตุลาคม 2559

ตลอด ๗๐ ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปกครองราษฎรโดยตั้งอยู่บนทศพิธราชธรรม ธรรมะ ๑๐ ประการ

โดย...วราภรณ์ ผูกพันธ์

ตลอด ๗๐ ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปกครองราษฎรโดยตั้งอยู่บนทศพิธราชธรรม ธรรมะ ๑๐ ประการเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาพสกนิกรชาวไทยมาช้านาน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีที่ทรงขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่สำคัญต่อประเทศชาตินานัปการทั้งทางด้านการเมือง การศึกษา เศรษฐกิจ สมดั่งพระปฐมบรมราชโองการว่า

"เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"

ธรรมะข้อ ๑ ทาน

หมายถึง พระราชทานพัสดุสิ่งของ หรือปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีวิตแก่ผู้สมควรได้รับ ได้แก่ พระภิกษุสงฆ์ และราษฎรผู้ยากไร้ เป็นต้น ดังเช่นการตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕ ทางภาคใต้ ๑๒ จังหวัดของไทยได้เกิดพายุโซนร้อน แฮเรียต พัดผ่านทำให้เกิดความเสียหายมากมาย จึงมีรับสั่งฝากผ่านไปยัง พูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ อดีตเลขาธิการสำนักพระราชวัง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองมหาดเล็กว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงผู้ประสบภัยและทรงติดต่อขอเครื่องบินจากกองทัพอากาศไว้แล้ว ขอให้รีบเดินทางไปช่วยเหลือโดยด่วน อีกทั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถานีวิทยุ อส. พระราชวังดุสิตประกาศโฆษณาเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์ และสิ่งของ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยทรงรับและพระราชทานสิ่งของด้วยพระองค์เอง

ทรงครองราชย์ด้วย ทศพิธราชธรรม

 

ธรรมะข้อ ๒ ศีล

หมายถึง การทรงศีล หรือการที่ทรงตั้งสังวรรักษาพระอาการ กาย วาจา ให้สะอาดปราศจากโทษอันควรครหา พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาในบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้เสด็จออกทรงผนวช เพื่อทรงศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัย อุทิศพระราชกุศลพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยตลอดระยะเวลาแห่งการทรงผนวช ทรงดำรงพระองค์ได้งดงามบริสุทธิ์ สมควรแก่การเป็นพุทธสาวก จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พสกนิกรโดยทั่วหน้า

ธรรมะข้อ ๓ บริจาค

หมายถึง การที่พระองค์พระราชบริจาค เช่น ในด้านการสงเคราะห์ ได้ทรงเสียสละพระราชทรัพย์และสิ่งของจำนวนมากมายจนสุดที่จะประมาณได้ เพื่อดับความทุกข์ยากของพสกนิกรในยามประสบภัยพิบัติและในถิ่นทุรกันดาร

ธรรมะข้อ ๔ อาชวะ

หมายถึง ความซื่อตรง ทรงมีพระราชอัชฌาสัย อันประกอบด้วยความซื่อตรง ดำรงในสัตย์สุจริต ดังเช่นพระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะคณาจารย์โรงเรียนต่างๆ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ๑๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๒๓ มีใจความบางตอนว่า... ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง เด็กๆ จึงต้องฝึกฝนอบรมให้ เกิดมีขึ้นในตนเอง เพื่อจักได้เติบโตขึ้นเป็นคนดีมีประโยชน์ และมีชีวิตที่สะอาดที่เจริญมั่นคง..."

ทรงครองราชย์ด้วย ทศพิธราชธรรม

 

ธรรมะข้อ ๕ มัททวะ

หมายถึง ความอ่อนโยน ทรงมีพระราชอัชฌาสัยอ่อนโยน ดังเช่นการไปทรงเยี่ยมเยือนราษฎร จะทรงรับสั่งกับพสกนิกรที่ไปเฝ้ารับเสด็จอย่างไม่ถือพระองค์ เช่นภาพแม่เฒ่าตุ้ม อายุ ๑๐๒ ปี ชาวบ้านศรีบุญเรือง บ้านธานน้อย ตำบลพระกลางทุ่ง อำเภอธาตุพนม รอรับเสด็จตั้งแต่เช้าโดยเตรียมดอกบัวจำนวน ๓ ดอก เพื่อเฝ้ารับเสด็จฯ แต่เฝ้ารอเป็นเวลานานจนดอกบัวสีชมพูเหี่ยวเฉา กระทั่งเมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาถึงตรงหน้าที่แม่เฒ่ารอรับเสด็จอยู่ แม่เฒ่าได้ยกดอกบัว ๓ ดอกนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแสดงความจงรักภักดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ก็ทรงโน้มพระองค์ลงมาต่ำที่สุดจนพระพักตร์แนบชิดกับศีรษะของแม่เฒ่า แย้มพระสรวลอย่างเมตตา พระหัตถ์แตะที่มือซึ่งกร้านคล้ำของเกษตรกรหญิงชราชาวอีสานอย่างอ่อนโยน

ธรรมะข้อ ๖ ตบะ

หมายถึง ความเพียร ดังเช่นพระบรมราโชวาทเรื่อง "ความเพียร" มีใจความว่า ความเพียรที่ถูกต้องเป็นธรรม และพึงประสงค์นั้นคือความเพียรที่จะกำจัดความเสื่อมให้หมดไปและระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นใหม่ อย่างหนึ่งกับความเพียรที่จะสร้างสรรค์ความดีงามให้บังเกิดขึ้นและระวังรักษามิให้เสื่อมสิ้นไป ความเพียรทั้งสองประการนี้ เป็นอุปการะอย่างสำคัญ ต่อการปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน ถ้าทุกคนในชาติจะได้ตั้งตนตั้งใจอยู่ในความเพียรดังกล่าวประโยชน์และความสุขก็จะบังเกิดขึ้นพร้อมทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม พระราชดำรัสพระราชทานในพิธีกาญจนาภิเษกทรงครองราชย์ ครบ ๕๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๓๙

ธรรมะข้อ ๗ อักโกธะ

คือ ความไม่โกรธ ดังเช่นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก เป็นที่สนใจต่อสื่อมวลชนของอเมริกาเป็นอย่างมาก จึงได้มีพระราชทานสัมภาษณ์ นักข่าวหนุ่มคนหนึ่งได้ทูลถามว่า "ทำไมพระองค์จึงทรงเคร่งขรึมนัก… ไม่ทรงยิ้มเลย?” ทรงหันพระพักตร์ไปทางสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พลางรับสั่งว่า “นั่นไง… ยิ้มของฉัน” แสดงให้เห็นพระราชอารมณ์ขันของพระองค์ ที่ทำให้เป็นที่รักของประชาชนอเมริกันโดยทั่วไป ในวันที่เสด็จฯ สภาคองเกรส เพื่อทรงมีพระราชดำรัสต่อสภา จึงทรงได้รับการถวายการปรบมืออย่างกึกก้องและยาวนานหลายครั้ง

ธรรมะข้อ ๘ อวิหิงสา

ความไม่เบียดเบียน หมายถึง ความกรุณาต่อคนทั่วไป ดังเช่นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า

ไม่ใช่อย่างทุกคนอยู่มีบ้านหรูหรา และร่ำรวยกันทุกคน ...เราประเทศไทยถ้าสามัคคีกันดี ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางที่มีเหตุผล เราเองจะเป็นที่ตั้งของความมั่นคงผาสุกของราษฎรที่เป็นประชากรแห่งประเทศนี้ เป็นตัวอย่างแก่มวลมนุษย์ มวลมนุษย์ก็มนุษยชาตินี้เอง และประเทศอื่นก็อาจเอาอย่างบ้างก็เกิดความไม่เบียดเบียนขึ้น...

...ความอยู่ในโลกนี้อย่างสบาย พอสมควร คือไม่ใช่หรูหรา ประเทศไทยเราจะอยู่ไม่ใช่อย่างทุกคนอยู่ มีบ้านหรูหรากันทุกคน และร่ำรวยกันทุกคน แต่ว่าทุกคนก็พอมีพอกิน...

...ผู้ที่มีความอยู่ดีกินดีนั้นย่อมสามารถป้องกันเหตุร้ายต่างๆ ได้ ทั้งในยามปกติ ทั้งในยามคับขัน เพราะว่าผู้ที่มีชีวิตที่ดี มีอาหารพอเพียง มีฐานะมั่นคง ย่อมมีจิตใจแข็งแรง และทำให้ร่างกายแข็งแรง ทำให้เกิดความเข้าใจในความมั่นคง คือการรักษาความปลอดภัยของประเทศ และหวงแหนแผ่นดินของตัว...

(พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หนังสือคำพ่อสอน ในโครงการตามรอยเบื้องพระยุคลบาทด้วยความรัก และความดี 60 ปี 60 ล้านความดี น้อมเกล้าฯ ถวายในหลวง)

ธรรมะข้อ ๙ ขันติ

หมายถึง ความอดทน ทรงมีพระราชหฤทัยดำรงมั่นในขันติ มีความอดทนต่อสิ่งที่ควรอดทน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ การเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรมเพื่อสังคมไทย มีบางส่วนบางต่อกล่าวถึงความอดทนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในงานสัมมนาทางวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๐ ปี ผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๓ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นต้นแบบของความอดทน เคยรับสั่งว่าทรงนั่งอยู่สูงสุดบนยอดพีระมิด แต่ประเทศไทยเป็นพีระมิดหัวกลับทุกสิ่งทุกอย่างเทใส่พระองค์หมด ชีวิตเป็นธรรมดามีแดดออกต้องมีพายุ แล้วจะมีฟ้าสดใส ไม่มีสุขหรือทุกข์ตลอด จึงต้องอดทน สละประโยชน์ส่วนน้อยของตนเพื่อประเทศอยู่รอด ไม่ใช่เพื่อใครแต่เพื่อตัวเราเองจะได้อยู่บนแผ่นดินไทยไม่ใช่ฐานะผู้อพยพในประเทศอื่น แค่บริจาคเพียง ๑ ใน ๖๒ ล้านคน แต่นี่ไม่ช่วยกันหยอดแล้วยังทำลาย ตนไม่เห็นคนไทยฆ่ากันมานานแล้ว สุดท้ายจึงขอให้ยึดมั่นในทศพิธราชธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงคิดอย่างลึกซึ้ง ไม่ยอมทำผิดและทำผิดไม่ได้

ธรรมะข้อ ๑๐ อวิโรธนะ

หมายถึง ความเที่ยงธรรม ตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์ครบ ๗๑ ปี ทรงดำรงอยู่ในพระราชจริยวัตรของพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง ไม่ว่าประเทศไทยจะประสบปัญหาความเชื่อของคนบางกลุ่มในเรื่องลัทธิการปกครองที่แตกต่างกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระราชหฤทัยที่จะพระราชทานความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาสเพื่อให้เขาเหล่านั้นไม่ถูกชักชวนไปในทางที่ผิด และทรงให้อิสระในการนับถือศาสนาใดก็ได้ของประชาชนทั้งประเทศ และทรงทำนุบำรุงทุกศาสนาเท่าเทียมกัน