posttoday

จากยุวกษัตริย์ สู่พระมหากษัตราธิราช

14 ตุลาคม 2559

เป็นเวลา ๗ ทศวรรษแล้วที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ นับจากวันที่มีพระราชปรารภว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะละทิ้งอย่างไรได้”

โดย...พุสดี สิริวัชระเมตตา

เป็นเวลา ๗ ทศวรรษแล้วที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ นับจากวันที่มีพระราชปรารภว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะละทิ้งอย่างไรได้” พระองค์ได้ทรงทุ่มเทพระวรกาย พระวิริยอุตสาหะ ประกอบพระราชกรณียกิจมากมาย เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรเป็นสำคัญ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซสต์ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ ทรงมีพระนามเดิมว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ซึ่งภายหลังทั้งสองพระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระเชษฐภคินีและพระเชษฐา คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

เมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ พรรษา ทรงเข้ารับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอี แต่ด้วย ขณะนั้นประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ การเมืองผันผวนเป็นอย่างมาก หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา จึงทรงนำพระธิดา พระโอรส เสด็จฯ ไปประทับ ณ กรุงโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงรับการศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษา

จากยุวกษัตริย์ สู่พระมหากษัตราธิราช

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษ ณ โรงเรียนเมียร์มองต์ จากนั้นทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ณ เอกอล นูแวล เดอ ลา ชืออิส โรมองต์ และเมื่อทรงเจริญวัยถึงขั้นอุดมศึกษา จึงทรงเข้าศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโลซาน

ครั้นเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในพุทธศักราช ๒๔๘๘ รัฐบาลไทยได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ และพระเชษฐภคินี พระอนุชา พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนีเสด็จฯ กลับประเทศไทย นำความปลาบปลื้มปีติชื่นชมโสมนัสให้แก่ชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทว่าความชื่นชมโสมนัสนั้นดำรงอยู่มินาน วันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง

ในวันเดียวกันนั้น รัฐสภาลงมติเป็นเอกฉันท์อัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขณะนั้นมีพระชนมพรรษา ๑๘ พรรษา ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป แต่เนื่องจากยังมีพระราชกิจด้านการศึกษา กอปรกับยังทรงพระเยาว์ รัฐบาลจึงได้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ บริหารราชการแผ่นดินแทนพระองค์ ขณะที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม แต่ได้ทรงเปลี่ยนมาศึกษาในวิชาที่จำเป็นต่อการปกครอง

จากยุวกษัตริย์ สู่พระมหากษัตราธิราช

ในพุทธศักราช ๒๔๙๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพบหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสเป็นครั้งแรก ขณะนั้นทั้งสองพระองค์มีพระชนมพรรษา ๒๑ พรรษา และ ๑๕ พรรษา ตามลำดับ กระทั่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมอร์เซส์ ระหว่างรักษาพระองค์ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ เยี่ยมพระอาการเป็นประจำ จนกระทั่งหายจากพระอาการประชวร อันเป็นเหตุให้ทั้งสองพระองค์มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด

จวบจนวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีทรงหมั้นขึ้นเป็นการภายใน ณ โรงแรมวินด์เซอร์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้นในวันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ โดยทั้งสองพระองค์ทรงมีพระโอรสและพระราชธิดารวม ๔ พระองค์ ได้แก่ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พร้อมมีพระปฐมบรมราชโองการพระราชทานอารักขาแก่พสกนิกรชาวไทยทั้งหลายว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ตลอด ๗๐ ปีแห่งการครองราชย์ พระองค์ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นพระมหากษัตริย์
ที่ทรงครองราชย์ยาวนานกว่าสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าและผู้นำประเทศอื่นใดในโลก

จากยุวกษัตริย์ สู่พระมหากษัตราธิราช

ครั้งหนึ่ง ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก” ถึงตอนหนึ่งว่า “ไทยเราไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดครองราชย์ยาวนานมาก่อน ยกเว้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ยาวนานต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด และเมื่อดูพระมหากษัตริย์ทั่วโลก พระเจ้าอยู่หัวของเราทรงครองราชย์นานที่สุดในโลก นับถึงปัจจุบันเป็นเวลานาน ๗๐ ปี ในขณะที่ควีนอลิซาเบธแห่งสหราชอาณาจักร ทรงครองราชย์นานเป็นที่ ๒ ด้วยเวลา ๖๔ ปี”

ตลอดรัชสมัยของพระองค์ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ จนเป็นที่ประจักษ์ในหัวใจของพสกนิกรชาวไทย และทั่วโลกต่างกล่าวขานถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ในด้านต่างๆ นับเป็นโชคดีของพสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ได้มี “ในหลวง” เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้แก่ผืนแผ่นดินนี้มาอย่างยาวนาน

จากยุวกษัตริย์ สู่พระมหากษัตราธิราช

จากยุวกษัตริย์ สู่พระมหากษัตราธิราช

จากยุวกษัตริย์ สู่พระมหากษัตราธิราช

จากยุวกษัตริย์ สู่พระมหากษัตราธิราช

จากยุวกษัตริย์ สู่พระมหากษัตราธิราช

จากยุวกษัตริย์ สู่พระมหากษัตราธิราช

จากยุวกษัตริย์ สู่พระมหากษัตราธิราช

จากยุวกษัตริย์ สู่พระมหากษัตราธิราช