posttoday

Top Up ให้ปัง ตังค์เติบโตทันเกษียณ

24 มกราคม 2561

เป็นพนักงานธรรมดา เงินเดือนอยู่ในระดับธรรมดา และเพิ่งคิดได้ว่าจะต้องออมเงินในวัยเลยผ่าน 40 ขวบปี

โดย...วารุณี อินวันนา

เป็นพนักงานธรรมดา เงินเดือนอยู่ในระดับธรรมดา และเพิ่งคิดได้ว่าจะต้องออมเงินในวัยเลยผ่าน 40 ขวบปี

กำลังกังวล...ว่าจะมีเงินออมพอใช้หลังเกษียณไหม

จะมีวิธีไหนที่ใช้เงินออมทีละน้อยๆ ต้นทุนต่ำ ความปลอดภัยสูง ตังค์โตเร็ว...

ที่นี่มีคำตอบ ...โปรดติดตามบรรทัดต่อไป...

ต้องบอกว่าหากวัยเลยผ่านมาถึงวัย 40 ยังสร้างเงินออมทัน

ยิ่งคนอายุยังน้อย หากใช้วิธีการนี้อิสรภาพทางการเงินจะเอื้อมได้โดยไม่ต้องออกแรงเยอะ

นั่นคือการ Top Up หรือเพิ่มเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)

อายุ 40 แล้ว จะซื้อประกันสุขภาพ เบี้ยต้องแพงมากเลย

ไม่แพงอย่างที่คิด หากรู้จักการ Top Up ประกันกลุ่ม

ทั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการประกันกลุ่ม เป็นสวัสดิการพื้นฐานที่บริษัทจะมีการจัดหาไว้ให้พนักงาน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้พนักงานทุ่มเทความสามารถในการทำงานให้กับบริษัทอย่างเต็มที่

Top Up กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

การ Top Up คือการเติม หรือเพิ่มเงินลงทุนจากการออมภาคบังคับที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันจะทำให้มีเงินต้นในการลงทุนมากขึ้น

พนักงานบริษัทอย่างเราจะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างและ ลูกจ้างต้องสมทบเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตั้งแต่ 2-15% เพื่อสร้างสวัสดิการเงินออมสำหรับการเกษียณ โดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการลงทุนเพิ่ม

เหตุผลที่ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการออมเพิ่ม เพราะบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) มีการออกแบบระบบการออมสำหรับองค์กรที่คิดค่าธรรมเนียมแบบเหมารวม ไม่ว่าพนักงานจะออมน้อยสุด 2% หรือสูงสุดที่ 15% ต่อเดือน

ในขณะที่การไปลงทุนด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะซื้อกองทุนแค่ 1,000 บาท ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมทุกครั้งที่มีการซื้อ

การเสียค่าธรรมเนียมทำให้เงินต้นหายไปบางส่วน หากกองทุนที่เราไปลงทุนบริหารผลตอบแทนได้น้อย เงินต้นเราก็จะเติบโตช้า หรือหากเลวร้ายบริหารผลตอบแทนได้ติดลบ เรียกง่ายๆ ว่าขาดทุน จะทำให้เงินต้นของเราลดลงไปอีก

เปรียบเหมือนรถที่มีน้ำมันเต็มถังย่อมขับไปได้ไกลกว่า รถที่มีน้ำมันไม่เต็มถังยิ่งทำน้ำมันหกกลางทาง (ขาดทุน) อาจทำให้ไปไม่ถึงที่หมาย

ฉะนั้น การ Top Up หรือเพิ่มเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ไม่มีต้นทุนเพิ่ม เหมือนการขับรถขึ้นทางด่วนในช่วงปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์ โดยไม่ต้องจ่ายค่าทางด่วน เพราะรัฐบาลงดเก็บชั่วคราว

เรื่องนี้ทำได้ง่ายๆ เพราะบริษัทจะมีการเปิดโอกาสให้พนักงานเพิ่มเงินสมทบมากกว่าที่บริษัทสมทบให้ โดยสูงสุดอยู่ที่ 15% ของเงินเดือน แม้ว่าส่วนของนายจ้างจะจ่ายสมทบเพียง 5% หรือ 8%

ยกตัวอย่าง บริษัทดิจิทัลสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงาน 8% และพนักงานเลือกที่จะออมเต็มเพดานที่กฎหมายกำหนดให้ที่ 15% รวมแล้วจะมีเงินออมเดือนละ 23% ของเงินเดือนทุกๆ เดือน

พนักงานก็แจ้งความประสงค์ด้วยการกรอกแบบฟอร์มที่บริษัทให้มาและระบุเปอร์เซ็นต์ส่งกลับไปที่ฝ่ายบุคคล หลังจากนั้นบริษัทจะดำเนินการหักเงินเดือนเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามความประสงค์

นอกจากนี้ บริษัทจะเปิดโอกาสให้เปลี่ยนนโยบายการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วง 6 เดือนแรก และ 6 เดือนหลังของทุกๆ ปี สามารถเลือกแผนการลงทุนได้ตามความเสี่ยงที่รับได้

เพียงเท่านี้ก็สามารถสร้างเงินออมต้นทุนต่ำ ใช้เงินออมครั้งละไม่มาก ความปลอดภัยของเงินลงทุนขึ้นอยู่กับแผนการลงทุนที่เราเลือก

ในปี 2561 นี้ เริ่ม Top Up กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกันเลย ไม่งั้น...จะพลาดโอกาสง่ายๆ สบายๆ

Top Up ประกันสุขภาพ

บริษัทส่วนใหญ่จะมีงบประมาณจำกัดในการดูแลชีวิตและสุขภาพของพนักงานจากการเจ็บป่วยและอุบัติเหตุ แต่ด้วยความที่ทางบริษัทเข้าใจว่าด้วยงบประมาณที่จำกัด อาจทำให้พนักงานไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ เพราะค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลสูงขึ้นอย่างมาก

ด้วยแนวคิดที่อยากช่วยพนักงานให้ได้รับความคุ้มครองด้านค่ารักษาที่สูงขึ้น จึงได้จัดหาบริษัทประกันภัยมาให้บริการ โดยที่พนักงานจะต้องจ่ายเงินซื้อเอง เรียกว่าการ Top Up ประกันสุขภาพ

พลังของการ Top Up ประกันสุขภาพนี้ จะทำให้วงเงินความคุ้มครองสูงมาก โดยที่ใช้เงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และไม่ต้องจ่ายค่านายหน้า

ยกตัวอย่าง บริษัทดิจิทัลมีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลจากประกันสุขภาพและอุบัติเหตุในกรณีผู้ป่วยใน ในวงเงิน 5 หมื่นบาท ฝ่ายทรัพยากรบุคคลได้สรรหาบริษัทประกันภัยมาให้บริการพนักงานได้ทำการ Top Up ประกันสุขภาพ ในราคา 1,576 บาท/ปี ทุกเพศ ทุกอายุ เมื่อพนักงานตอบตกลงและแจ้งให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลทราบ

ทางฝ่ายบุคคลจะหักค่าเบี้ยประกันภัยจากบัญชีเงินเดือน เดือนละ 131 บาท จะได้ความคุ้มครองผู้ป่วยในเพิ่มอีก 4.5 แสนบาททันที รวมเป็น 5 แสนบาท โดยบริษัทจะเป็นคนจ่ายค่ารักษาให้เราในส่วนของ 5 หมื่นบาทแรก และบริษัทประกันภัยจะจ่ายให้ในส่วนที่เกิน 5 หมื่นบาท ตั้งแต่ 50,001 บาท - 5 แสนบาท เป็นส่วนที่เรา Top Up แต่จะเคลมได้ 80% เมื่อรวมกับสวัสดิการค่ารักษาจากกองทุนประกันสังคม อาจไม่ต้องควักกระเป๋าตัวเอง

หากซื้อประกันสุขภาพด้วยตัวเองโดยตรงจากบริษัทประกันภัย จำนวนเงิน 1,576 บาทนี้ ไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองทั้งปีได้ จะต้องใช้เงินอย่างต่ำ 1.35-1.4 หมื่นบาท/ปี ในการซื้อความคุ้มครองผู้ป่วยใน 4 แสนบาท

ข้อดี

1.ในกรณีพนักงานบริษัทดิจิทัล ประหยัดเงินได้กว่า 88% เมื่อเทียบกับการซื้อประกันสุขภาพด้วยตัวเอง และยังได้ความคุ้มครองเพิ่ม จาก 5 หมื่นบาท เป็น 5 แสนบาท

2.ในการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่ต้องนอนในโรงพยาบาลก็สะดวกสบาย เพราะทางฝ่ายบุคคลของบริษัทจะเป็นผู้ประสานงานระหว่างโรงพยาบาลที่อยู่ในเงื่อนไขสวัสดิการของบริษัทกับทางบริษัทประกันภัย

หากมีค่าใช้จ่ายอะไรที่อยู่นอกเหนือความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันสุขภาพ ก็จะทราบได้ทันทีจากฝ่ายบุคคล หรือจากโรงพยาบาล

3.ขั้นตอนการออกจากโรงพยาบาลก็เร็ว ทางโรงพยาบาลจะแจ้งค่าใช้จ่าย และหากมีส่วนต้องจ่ายเพิ่มก็ไปชำระเงินที่การเงิน หากไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพียงเซ็นในเอกสารที่โรงพยาบาลนำมาให้ ก็ออกจากโรงพยาบาลได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อนแล้วมาเบิกภายหลัง ข้อเสีย

ไม่สามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพในส่วนที่ Top Up ไปลดหย่อนภาษีได้ เนื่องจากเป็นประกันกลุ่ม และเบี้ยประกันคิดในราคาเหมาที่ต่ำมากๆ

Top Up เงินบำนาญภาคสมัครใจ

พนักงานอย่างเราจะมีเงินบำนาญจาก 3 ส่วน คือ 1.ในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งจะได้รับทั้งก้อนเมื่อลาออกจากงาน จาก 3 ส่วน คือ เงินสมทบจากนายจ้าง เงินสมทบของพนักงานเอง และผลประโยชน์จากการนำเงินสมทบไปลงทุน

2.ในส่วนของกองทุนประกันสังคม ที่จะได้รับเมื่ออายุครบ 55 ปี และต้องลาออกจากงาน ซึ่งขั้นต่ำต้องส่งเงินเข้ากองทุนชราภาพอย่างน้อย 15 ปี ก็จะได้รับเงินบำนาญ 20% ของเงินเดือน โดยกำหนดเพดานเงินเดือนสูงสุดไว้ที่ 1.5 หมื่นบาท

3.เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600-1,000 บาท ขึ้นอยู่กับอายุ

ในกรณีบริษัทไม่มีส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้รองรับ ก็จะเหลือแหล่งเงินบำนาญภาคบังคับจาก 2 ส่วน คือ กองทุนประกันสังคม และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

หากคำนวณแล้วคิดว่ามีเงินไม่พอกับจำนวนเงินที่ต้องการใช้ต่อเดือนหลังออกจากงานไปจนถึงอายุ 85 ปี ก็มีทางเลือกให้สร้างเงินบำนาญเองได้ เรียกว่าบำนาญภาคสมัครใจ ด้วยการซื้อประกันชีวิตที่มีการค้ำประกันเงินต้น และเงินคืนที่แน่นอน ไปจนถึงการออมในพันธบัตร สลากออมสิน ของธนาคารต่างๆ ที่รับประกันเงินต้น และผลตอบแทนที่แน่นอน

รวมถึงการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นในตราสารหนี้ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หุ้นสามัญ เพื่อเติมเงินบำนาญให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

เริ่มกันได้ทันที ด้วยการนำเงินคืนภาษีที่จะได้จากการลดหย่อนในปีนี้ไป Top Up เงินบำนาญภาคสมัครใจ ง่ายๆ สบายๆ