posttoday

โวยนายทุนเมินร่วมมือรัฐแก้เจ้าพระยาเน่า

03 มิถุนายน 2554

คนกรุงเก่าโวยนายทุนเห็นแก่ได้ เจ้าหน้าที่รัฐพยายามแก้ปัญหาน้ำเจ้าพระยาเน่าเสีย แต่กลับไม่ยอมให้ความช่วยเหลือ

คนกรุงเก่าโวยนายทุนเห็นแก่ได้ เจ้าหน้าที่รัฐพยายามแก้ปัญหาน้ำเจ้าพระยาเน่าเสีย แต่กลับไม่ยอมให้ความช่วยเหลือ

ชาวบ้านต.ภูเขาทอง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ต่างก็แสดงความเห็นใจเจ้าหน้าที่ของรัฐจากหลายกระทรวงที่พยายามจะเข้าช่วยเหลือแก้ไขสถานการณ์กู้เรือน้ำตาลล่มจนเป็นเหตุทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาน้ำเน่าเสียและปลาตายขยายเป็นวงกว้าง

แต่ขณะเดียวกันทางตัวแทนกลุ่มธุรกิจเข้าของเรือและเจ้าของน้ำตาลกลับไม่ยอมให้ความร่วมมือที่จะให้ข้อมูลหรือร่วมแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด อีกทั้งยังประวิงเวลาเพื่อรอให้น้ำทะลักเข้าท้องเรือให้มากที่สุดเพื่อหวังให้กระแสน้ำเข้าไปละลายน้ำตาลออกสู้กระแสของแม่น้ำเจ้าพระยาให้มากทีสุด และไม่สนใจปัญหาการพังทลายของตลิ่งที่เพิ่มขึ้นทุกเวลา
 
ทั้งนี้ แม้ว่าเจ้าท่าได้ออกประกาศให้หยุดเดินเรือชั่วคราวเพื่อป้องกันอุบัติเหตุซ้ำเพราะช่วงแม่น้ำดังกล่าวเป็นช่วงแม่น้ำที่แคบและกระแสน้ำไหลแรงมากแต่พบว่าตัวแทนผู้ควบคุมงานในของกลุ่มบริษัทเดินเรือได้พูดประกาศด้วยเสียงดันดังในจุดบริเวณใต้ถุนบ้านของชาวบ้านที่ปลูกติดอยู่ที่เกิดเหตุอันมีประชาชนท้องถิ่นนั่งดูเหตุการณ์จำนวนมากว่าไม่สนใจคำประกาศห้ามของกรมเจ้าท่า โดยจะเดินเรือขนส่งสินค้าผ่านจุดดังกล่าวเนื่องจากธุรกิจได้รับความเสียหาย โดยจะเดินเรือลำเลียงเพียงเที่ยวละ 1 ลำ และจะมีเรือโยงลากจูงนำหน้าและโยงคัดท้าย ซึ่งจะให้เรือสินค้าทุกชนิดลากจูงออกจากท่าเรือในเขต จ.อ่างทองมารอกันก่อนถึงที่เกิดเหตุ
 
หลังจากนั้นทอยผ่านรอดผ่านสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและจุดที่เกิดเหตุเรือล่มครั้งละ 1 ลำ แต่จะลากจูงทยอยผ่านจุดนี้ตลอดเวลาเพื่อขอเปิดเส้นทางน้ำเพื่อการเดินเรือเพราะกลัวถูกปรับหากส่งสินค้าไม่ทัน และเมื่อลากจูงเรือครั้งละ  1 ลำผ่านได้แล้ว ให้ไปรวมตั้งขบวน 3-4 ลำต่อที่แม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงที่เลยวัดพนัญเชิงไปแล้วลากจูงเข้ากรุงเทพต่อไป

โวยนายทุนเมินร่วมมือรัฐแก้เจ้าพระยาเน่า

จี้หน่วยงานรัฐหามาตรการล้อมคอก

นายชาตรี อยู่ประเสริฐ เลขาสมาคม อบจ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลกำหนดชัดเจนให้ส่งเสริมการเดินเรือเพื่อการขนส่งทางน้ำทั้งการสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ของกรมเจ้าท่า ที่ อ.เมือง จ.อ่างทอง เพื่อขนส่งผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา และ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยาผ่านแม่น้ำป่าสัก ตนเองมองว่า เมื่อจะมีการส่งเสริมการขนส่งแบบนี้

จะต้องมีการปรับแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับการควบคุมเพื่อให้การเดินเรือไม่ไปสร้างปัญหาสิ่วแวดล้อมและไม่ทำลายวิถีชีวิตของคนริมน้ำ ที่สำคัญจะต้องกฎหมายและหน่วยงานที่ชัดเจนในการเอาผิดต่อเจ้าของสินค้าและเรือที่ทำให้เกิดความเสียหาย
และรัฐรวมถึงภาคเอกชนจะต้องมีการพัฒนาการกู้ภัยทางน้ำหากเรือบรรทุกสินค้าล่ม

ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีระบบการกู้ภัยทางน้ำหากเรือบรรทุกสินค้าล่ม เกิดปัญหาก็แก้กันที และไขไม่ทันเหตุการณ์
"ลองคิดดูว่าเพียงแค่เรือบรรทุกสินค้าเกษตรทั้งน้ำตาลและข้าวสารจมยังส่งผลกระทบมากขนาดนี้และในปัจจุบันการขนสิ่งสินค้าทาง้ำมีทั่งเคมีภัณฑ์ ถ่านหิน สินค้าอุตสาหกรรม และหากเรือกลุ่มนี้ล่มจมลงน้ำ หายนะจะเกิดมากกว่านี้หลายเท่าและใครจะรับผิดชอบการส่งเสริมการเดินเรือต้องควบคู่ไปกับกฎระเบียบที่ควบคุมให้การเดินเรืออย่างปลอดภัย"เลขาสมาคม อบจ.พระนครศรีอยุธยา ระบุ

กรมอนามัยชี้ปลาตายเกลื่อนขาดออกซิเจน

โวยนายทุนเมินร่วมมือรัฐแก้เจ้าพระยาเน่า

นายพิษณุ แสนประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ผลกระทบหลักจากเหตุการณ์ครั้งนี้ คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม ส่วนประเด็นผลกระทบทางด้านสุขภาพนั้น หากพิจารณาข้อมูลตามข่าวที่ผ่านมาจะพบว่า ปลาตายเพราะขาดออกซิเจน เนื่องจากน้ำตาลไปเกาะกลุ่มกันจนทำให้มวลออกซิเจนในน้ำน้อยลง ซึ่งหากมาจากสาเหตุนี้ปลาที่ตายทั้งหมดก็ถือว่าขาดออกซิเจนอย่างเดียว ดังนั้น โดยหลักการหากนำปลามาทำให้สุกก็สามารถบริโภคได้ แต่ในกรณีนี้ตนไม่แน่ใจว่า สาเหตุที่ปลาตายเพราะขาดออกซิเจนอย่างเดียวหรือไม่
 
“อย่างไรก็ตาม สำหรับน้ำที่ขาดออกซิเจนนั้น จะถือว่าเป็นน้ำเสีย ยิ่งหากบริเวณนั้นสภาพน้ำไม่สะอาดเพียงพอก็จะถือว่าเป็นน้ำที่ไม่สมบูรณ์ มีความสกปรก จึงไม่ควรบริโภค แม้แต่อาบก็อาจส่งผลให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนังได้เช่นกัน ทางที่ดีต้องรอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเติมออกซิเจนให้น้ำบริเวณดังกล่าวกลับคืน” นายพิษณุกล่าว

โวยนายทุนเมินร่วมมือรัฐแก้เจ้าพระยาเน่า

จนท.เร่งเพิ่มออกซิเจนแม่น้ำเจ้าพระยา

นายประดิษฐ์ สุคนธสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี พร้อมด้วยประมงจังหวัดนนทบุรีเดินทางไปตรวจสภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าวัดเฉลิมพระเกียรติอำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี หลังเกิดเหตุเรือบรรทุกน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่งผลทำให้ปลาตายเป็นจำนวนมาก นั้น

นายประดิษฐ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้รับมอบหมายจากผวจ.ให้มาทำการตรวจสภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อวัดระดับค่าออกซิเจนสำหรับสถานการณ์น้ำเสียที่ไหลผ่านจากอยุธยาและปทุมธานี ซึ่งขณะนี้มาถึงจังหวัดนนทบุรีในพื้นที่อ.ปากเกร็ดและอ.เมืองบางส่วน ซึ่งจากการตรวจค่าออกซิเจนบริเวณหน้าวัดเฉลิมพระเกียรติ เมื่อเวลา 10.30 น.ของวันนี้ พบว่าค่าออกซิเจนอยู่ที่ 1.8 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่วนบริเวณใต้สะพานพระนั่งเกล้า ค่าออกซิเจนอยู่ที่ 1.6 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งต่ำกว่า 2.0 มิลลิกรัมต่อลิตร ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่อันตราย