posttoday

4หมู่บ้านในนบพิตำยังถูกตัดขาด

06 เมษายน 2554

4หมู่บ้านใน อ.นบพิตำยังถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ด้านทหารช่างระดมเครื่องจักหนักเข้าเปิดถนน ขณะที่ชาวสิชล พ้อความช่วยเหลือเข้าไม่ถึง ฟากนักวิชาการเตือนเฝ้าระวังดินถล่มซ้ำ

4หมู่บ้านใน อ.นบพิตำยังถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ด้านทหารช่างระดมเครื่องจักหนักเข้าเปิดถนน ขณะที่ชาวสิชล พ้อความช่วยเหลือเข้าไม่ถึง ฟากนักวิชาการเตือนเฝ้าระวังดินถล่มซ้ำ

เมื่อวันที่ 6 เม.ย.  การฟื้นฟูเส้นทางสัญจรและการกู้ระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช หลังประสบภัยน้ำท่วม ดินถล่มยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช กรมการทหารช่างกองทัพบก และกองพันทหารช่างจากกองทัพภาคที่ 1 ถึง 4 ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องกลหนักเข้ามาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ ได้เร่งเชื่อมเส้นทางที่ถูกตัดขาดกว่า 10 จุดบนถนนสายหลักจาก บ้านนาเหรง ต.กะหรอ ไปยังพื้นที่ป่าเขา ผ่าน ต.นบพิตำ ต.กรุงชิง ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วเป็นระยะทาง 21 กม. โดยยังเหลือระยะทางอีกราว 16 กม. ส่งผลให้การช่วยเหลือชาวบ้านในหมู่บ้านชั้นในเป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น  

อย่างไรก็ตามยังพบว่า ยังมีชาวบ้านใน 4 หมู่บ้านได้ แก่ หมู่ที่ 3,6,7,8 ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ ที่ยังถูกตัดขาดจากภายนอก โดยชาวบ้านต้องเดินเท้าฝ่าทะเลโคลนออกมาเพื่อขอความช่วยเหลือ ซึ่งทหารช่างได้เร่งเปิดเส้นทางเพื่อให้ความช่วยเหลือแล้ว

ด้าน นายเดชา กังสะนันท์ ปลัด จ. นครศรีธรรมราช ในฐานะผอ.กองอำนวยการร่วม และศูนย์อพยพ อ.นบพิตำ กล่าวว่า ใน 4 หมู่บ้าน ที่ยังถูกตัดขาดจากภายนอก ต้องใช้เฮลิคอปเตอร์เข้าไปหย่อนเสบียง และอพยพคนออกมาด้วยการให้เจ้าหน้าที่โรยตัวลงไปรับขึ้นมา แต่ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งที่เป็นห่วงทรัพย์สินไม่ยอมออกมา การช่วยเหลือในขณะนี้พยายามกำหนดเฉพาะจุดแล้วกระจายออกไปให้มากที่สุด

ขณะที่การพยายามเปิดเส้นทางทั้งหมด ได้เดินหน้าเปดิเส้นทางพื้นราบไปได้แล้ว 2 ช่วงจาก 4 ช่วง ถึงบ้านปากลง ยังเหลือเส้นทางที่ต้องฟื้นฟูอีกราว 16.7 กม.แต่ยังเดินทางด้วยความยากลำบากต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้น

ชาวสิชลโอดความช่วยเหลือเข้าไม่ถึง

ด้าน ชาวบ้าน ใน ต.เทพราช อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่ใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก แต่ดูเหมือนว่าการช่วยเหลือทุกอย่างจะเข้าไปที่ อ.นบพิตำทั้งหมด ทั้งๆที่ใน อ.สิชล มีสภาพหนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน ดินถล่มใส่หมู่บ้านจำนวนมากบ้านพัง ถนนหนทางถูกตัดขาด แต่กลับยังไม่มีหน่วยงานใดที่เร่งจะเปิดเส้นทางให้กับประชาชน

"ขณะนี้ชาวบ้านต้องลงขันว่าจ้างเครื่องจักรกลเข้ามากรุยทางเพื่อให้เปิดการสัญจรไปมาหาสู่ผ่อนคลายความทุกข์กันไปได้บ้าง"ชาวบ้าน ต.เทพราชกล่าว

ห่วงชาวบ้านเครียดหนักหลังพื้นที่เกษตรพัง

นายวิลาศ สุวรรณ กำนัน ต.ฉลอง อ.สิชล กล่าวว่า สิ่งที่ห่วงมากในขณะนี้คือการแก้ปัญหาสวนยาง เนื่องจาก ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทำสวนมาเมื่อนับสิบปีที่แล้ว มาจนถึงวันนี้เขาต้องการพักผ่อนในช่วงบั้นปลายชีวิตเหมือนกับการนับหนึ่งมาจนถึง 9 แล้ว แต่ต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่บางคนท้อแท้สิ้นหวังมีปัญหาความเครียดอย่างหนัก

“พื้นที่สวนยางพารา สวนผลไม้ที่ให้ผลมาเป็นเวลากว่า10 ปี ได้สูญหายไปกับทะเลโคลนนับกว่า 600 ไร่ ที่เหลืออยู่คือโคลนอีก 3 ปียังไม่สามารถปลูกอะไรต่อไปได้ โดยเฉพาะพื้นที่ริมคลองท่าทนพังยับเยินยังไม่รู้อนาคตชีวิตอีกจำนวนมากเพราะสิ้นเนื้อประดาตัว” กำนันตำบลฉลอง กล่าว

นักวิชาการเตือนเฝ้าระวังดินถล่มซ้ำที่ นบพิตำ

ขณะที่ พล.ต.นพรัตน์ เศรษฐกุล อาจารย์ประจำสำนักวิศวกรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญปฐพีธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ว่าได้เข้าไปสำรวจในพื้นที่พร้อมกับชาวบ้าน พื้นที่แนวเทือกเขาหลวงที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นในย่านนี้ เป็นพื้นที่มีผิวหน้าผุกร่อนมาก มีแนวลาดชันมาก 50-60 องศา เมื่อมีน้ำฝนเข้ามามากจึงไถลลงมาพร้อมกับน้ำ ประกอบกับป่าธรรมชาติที่น้อยลง การปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้นเป็นสาเหตุหลักในความเสียหาย

ทั้งนี้ในพื้นที่ อ.นบพิตำ เป็นพื้นที่เสี่ยงมากที่สุด แม้ขณะนี้มีปริมาณฝนตกไม่มาก แต่ก็ยังสามารถเกิดเหตุได้ เพราะเท่าที่ดูนั้นยังมีหลายจุดที่ดินไถลลงมาแต่ยังไม่สุดพร้อมที่จะเลื่อนไถลลงมาได้อีก

"ปัญหาหลังจากนี้มีอีกมากเพราะทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดธารน้ำเปลี่ยนแปลง ธารเกิดใหม่ ระบบเกษตรกรรมในพื้นที่ถูกทำลาย ความหวาดผวาบาดแผลที่อยู่ในจิตใจของชาวบ้านและของชุมชน"พล.ต.นพรัตน์กล่าว