posttoday

คลื่น4เมตรซัดหมู่บ้านตะลุมพุกพังเสียหาย

29 มีนาคม 2554

นครศรีธรรมราชยังวิกฤต แหลมตะลุมพุกเจอคลื่นสูงกว่า4เมตรซัดหมู่บ้านชาวประมงพังเสียหาย ขณะที่เส้นทางอ.ลานสกาถูกดินสไลด์ปิดเส้นทาง รัฐบาลสั่งเร่งอพยพออกจากพื้นที่

นครศรีธรรมราชยังวิกฤต แหลมตะลุมพุกเจอคลื่นสูงกว่า4เมตรซัดหมู่บ้านชาวประมงพังเสียหาย ขณะที่เส้นทางอ.ลานสกาถูกดินสไลด์ปิดเส้นทาง รัฐบาลสั่งเร่งอพยพออกจากพื้นที่

ฝนตกหนักและคลื่นลมแรงในพื้นที่จ.นครศรีธรรมราช ได้ส่งผลกระทบให้หลายพื้นที่มีน้ำท่วมมีระดับน้ำที่สูงขึ้นถนนถูกตัดขาดต้นไม้โค่นล้มขวางถนน เป็นอัมพาตทั่วทั้งเมือง ประชาชนหวาดผวาเหตุการณ์เฝ้าระวังชีวิตและทรัพย์สิน

เมื่อเวลา 06.30น. ได้เกิดเหตุดินสไลด์ที่บริเวณเขาธงม.6 ต.ช้างกลาง  อ.ช้างกลาง ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างอ.ลานสกาและช้างกลาง มีก้อนดินขนาดใหญ่ 2 ก้อนสไลด์ลงมาปิดเส้นทางสัญจรทำให้รถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรไปมาได้  ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเปิดเส้นทางอย่างเร่งด่วนแล้ว 

ต่อมาในเวลา 07.30 น. ได้เกิดเหตุต้นไม้ขนาดใหญ่2ต้นซึ่งอยู่ในบริเวณหน้าวัดพระบรมธาตุได้หักโค่นลงมาปิดถนนราชดำเนินหน้าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และยังมีเสาไฟฟ้า8ต้นหักลงมาทับอีกทอดหนึ่งซึ่งขณะเกิดเหตุการจราจรกำลงคับคั่งต้นไม้ได้ฟาดโดนชาวบ้านที่ขับรถผ่านมาได้รับบาดเจ็บสาหัส1คนทราบชื่อนาย สถิต ดำด้วงอายุ57ปีคนพื้นที่ต.ท่าเรือ อ.เมือง นครฯซึ่งขับขี่รถจักรย่านยนต์ผ่านมาพอดี

สำหรับบรรยากาศในอำเภอริมฝั่งทะเลไม่ว่าจะเป็น อ.ปากพนัง หัวไทร สิชลและขนอม ได้มีคลื่นลมแรงพัดกระหน่ำ โดยเฉพาะที่บ้านแหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง นครฯคลื่นสูงกว่า4เมตรลมกระโชกแรงมากได้พัดกระหน่ำใส่หมู่บ้านชาวประมงจำนวน 300 หลังได้รับความเสียหาย ถนนหมู่บ้านถูกกัดเซาะจนขาด

ทั้งนี้นาย ประยุทธ์ ฐานะวัฒนา กำนันตำบลแหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง กล่าวว่า เหตุการณ์คลื่นลมแรงหนักมากที่สุดในรอบ 51ปี  ซึ่งชาวบ้านต่างก็หวาดผวากันมาก ที่ผ่านมาได้พยายามเรียกร้องในการขอที่อยู่ใหม่ในฝั่งตรงกันข้ามซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติเราขอไป50ไร่ในการสร้างหมู่บ้านใหม่แต่ก็ไม่มีการตอบรับในการช่วยเหลือ ชาวแหลมตะลุมพุกไม่ได้ออกเรือหาปลาเป็นเดือนได้รับความเดือดร้อนกันมากก็ไม่เห็นมีหน่วยงานใดให้การช่วยเหลือและดูแลเลย

ส่วนในเขตเทศบาลทุกชุมชนจมอยู่ใต้น้ำยังเหลือพื้นที่ที่ไม่ถูกน้ำท่วมประมาณ 30-40% โดยนาย สมนึก เกตุชาติ นายกเทศมนตรีระดมกำลังเจ้าหน้าที่มาจัดถุงยังชีพและระดมออกแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัย เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่สามารถออกจากบ้านได้ 

นายสาทิตย์ วงค์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และประธานคณะอำนวยการกำกับและติดตามการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.)  กล่าวถึงกรณีเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ในช่วงนี้ และ กรมอุตุนิยมวิทยา น่าจะมีฝนตกชุกไปอีกอีก 5 วัน โดยพื้นที่น่าห่วงที่สุด คือบริเวณแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งได้สั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ทยอย อพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลากแล้ว รับน่าห่วงสถานการณ์อาจหนักกว่าปี2553 ที่ผ่านมา และอาจหนักเท่าปี2531 ที่เคยเกิดเหตุแหลมตะลุมพุกทั้งนี้การอพยพประชาชนได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดแยกแยะการช่วยเหลือเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.พื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม  และเคยมีปัญหาดินถล่มให้อพยพประชาชนมาอยู่ในที่ปลอดภัย  โดยไม่ต้องรอดูสถานการณ์ 2.พื้นที่ลุ่มน้ำท่วมถึงให้จังหวัดประเมินว่า  ปริมาณน้ำท่วมจะมากกว่าปี 2553 หรือไม่ จึงค่อยอพยพออกจากพื้นที่  3.นักท่องเที่ยวที่จะไปเที่ยวเกาะฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน  ไม่ให้ออกไปท่องเที่ยวช่วงนี้ เนื่องจากสภาพทะเลมีปัญหาทั้งสองฝั่งขณะที่ วันพรุ่งนี้ (30มี.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะเดินทางลงพื้นที่ไปเยี่ยมชาวบ้านที่จ.สุราษฎร์ โดยรัฐบาลตัดสินใจ ประกาศ ให้ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง สงขลา กระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุง รวม 7 จังหวัด 8 อำเภอ เป็นพื้นที่ประสบเหตุภัยพิบัติแล้ว เบื้องต้นอนุมัติงบประมาณ จำนวน 20 ล้าน จัดซื้อถุงยังชีพเพื่อช่วยเหลือประชาชน

นายสาทิตย์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 30 มี.ค. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  (ปภ.)จะส่งอุปกรณ์การช่วยเหลือประชาชน และอุปกรณ์ยังชีพ จากภาคกลางและ กทม.  อาทิ แพยาง เรือติดเครื่องยนต์ เข้าไปในพื้นที่นอกจากนี้ คชอ.จะพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การให้เงินเยียวยา 5 พันบาท  เพื่อช่วยประชาชนด้วย และวันที่ 31  มี.ค.รัฐบาลจะจัดงานขอบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยผ่านทาง ช่อง 9 อสมท.

 

คลื่น4เมตรซัดหมู่บ้านตะลุมพุกพังเสียหาย

 

คลื่น4เมตรซัดหมู่บ้านตะลุมพุกพังเสียหาย

 

คลื่น4เมตรซัดหมู่บ้านตะลุมพุกพังเสียหาย