posttoday

ปลัด มท.ชู“ส้มซ่าโมเดล” หนุนยกระดับ“ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนพัฒนาแบบยั่งยืน”

17 มิถุนายน 2565

ปลัด มท. ลงพื้นที่ “บ้านวังส้มซ่า” เมืองสองแคว ติดตามการขับเคลื่อนบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีพิษณุโลก เน้นย้ำ นำ “ส้มซ่าโมเดล” เป็นกรอบในการขยายผลพร้อมสนับสนุนยกระดับเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนพัฒนาแบบยั่งยืน”

เมื่อวันที่ 17มิ.ย.65 ที่ศูนย์เรียนรู้บ้านวังส้มซ่า หมู่ที่ 1 ต.ท่าโพธิ์ อ.เมืองพิษณุโลก จ.พิษณุโลก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ลงพื้นที่เป็นประธานการประชุมติดตามการขับเคลื่อน บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน : กรณีศึกษาจังหวัดพิษณุโลก และบ้านวังส้มซ่า โดยมี ว่าที่ร้อยตรีณรงค์ โรจนโสทร ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เขตตรวจราชการที่ 17 นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นางวัชรินทร์ จิตรวิเศษ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดพิษณุโลก นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คุณภาวินี ไชยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีเครือข่าย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ได้มาเห็นตัวอย่างการขับเคลื่อนความสำเร็จของชุมชนโดยกลไกบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) พิษณุโลก ซึ่งสิ่งที่ดีจะเกิดการ Change for Good ขึ้นได้ ต้องมีภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Transformative Leadership) โดยผู้นำในพื้นที่ อันประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีของจังหวัดและอำเภอ ต้องเป็นผู้นำการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ด้วยการสร้างทีมจากทุกตำบล/หมู่บ้าน และชุมชนที่เข้มแข็ง และเดินหน้าพัฒนาอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ รัฐบาล ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยากให้พวกเราทุกคนช่วยกันดูแลสังคมผ่านกลไก บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด โดย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ และคุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน ได้ร่วมกันเป็นผู้นำในการดึงศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในทุกจังหวัดที่มีความเข้มแข็ง ให้ช่วยกันลุกขึ้นมาในการที่จะตั้งทีมและบริหารจัดการเพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้าชุมชน ทั้งที่เป็นรูปธรรม (Hard Power) และนามธรรม (Soft Power) เป็นเครื่องมือในการทำให้พี่น้องประชาชนสามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดต้องเป็นผู้นำเชิญชวนภาคเอกชนที่มีความพร้อมและมีจิตเสียสละ มาร่วมกันทำ ช่วยกันสนับสนุน คนละเล็ก ละน้อย เป็นทุนตั้งต้น ตามหลักการของบริษัท ประชารัฐ รักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด คือ “เอกชนคิด ราชการหนุน ประชาชนลงมือทำ” และต้องมีเวทีพูดคุย เพื่อให้กำลังใจ รับฟังปัญหา หาทางออก ในทุกเดือน อันจะส่งผลทำให้พี่น้องประชาชนมีความเข้มแข็ง ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ และนำผลสำเร็จของ “บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) พิษณุโลก” เป็นตัวอย่างการดำเนินงานที่สร้างกิจกรรมที่มีคุณภาพ มีสีสัน และมีความหวัง สอดคล้องกับหลักการว่า “เอกชนนำ” โดยจังหวัดพิษณุโลก มีต้นทุนมหาศาล คือ “เมือง 3 ธรรม” อันได้แก่ คุณธรรม วัฒนธรรม และธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญมาก อันเป็นจุดแข็งที่ต้องบริหารจัดการให้ผู้ผลิต ผู้ขาย ได้มาเจอกับผู้บริโภค อันมีนัยการทำงานที่สำคัญ คือ ข้าราชการต้อง Passion เป็นสตาฟที่ดีให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บังคับบัญชา นำเสนอให้ผู้บังคับบัญชาขับเคลื่อนในทางที่ดีตามที่เราเสนอ ด้วยการถอดบทเรียนความสำเร็จจากการลงพื้นที่ติดตามให้กำลังใจผู้ประกอบการและชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีความเข้มแข็ง สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงมหาดไทย ดังเช่น บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี เป็นเครื่องมือในการ “พัฒนาคน” ร่วมกับภาคีเครือข่าย ด้วยการค้นหาภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ที่มีจิตสาธารณะ มาเป็นทีมเดียวกับเรา

“ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ด้วยการพัฒนาคน และถ่ายทอด DNA ขยายผลไปสู่คนอื่นได้ สร้างคนให้มี DNA ของคนที่มี Passion ที่เหมือนกัน พัฒนาบริษัทประชารัฐรักสามัคคี ให้สามารถบริการท่องเที่ยวแบบเชิงให้ความรู้ ทำ “วิถีส้มซ่า” ให้กลายเป็นแหล่งฝึกอบรมในพื้นที่ในรูปแบบ “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนพัฒนาแบบยั่งยืน” Sustainable Community Learning Center และนำ “ส้มซ่าโมเดล” ขับเคลื่อนขยายผลเป็นตัวอย่างความสำเร็จให้กับทุกจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมองให้เห็นภาพรวมในฐานะนายกรัฐมนตรีของจังหวัดและนายอำเภอต้องมองเห็นภาพรวมของอำเภอและลงมือทำ ด้วยการบูรณาการ ตั้งแต่ “บูรณาการทีม และบูรณาการงาน” และส่งเสริมให้ทีมมีจิตใจรักใคร่สามัคคีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อันส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพท่ามกลางสภาวะความเปลี่ยนแปลง” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า ขอชื่นชมยินดี “บ้านวังส้มซ่าโมเดล” ในวันนี้ สิ่งที่สำคัญ คือ เราต้องไม่ลืม Key Person ได้แก่ ท่านนายกรัฐมนตรี ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคุณฐาปน สิริวัฒนภักดี และเน้นย้ำสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้การขับเคลื่อนประสบผลสำเร็จ คือ ต้องคิดก่อน และเมื่อคิดแล้วต้องมีความเชื่อมั่นในสิ่งที่เราคิด เพื่อให้เกิดพลังในการไปเปลี่ยนแปลง (Change) คนอื่นได้ รวมทั้งต้องมีความศรัทธา (Trust) ในความคิด ซึ่งความศรัทธาจะทำให้เราพร้อมที่จะลุยน้ำ ลุยไฟ ทำงานวันละ 25 ชั่วโมง และต้องมี Passion คือ ความปรารถนาที่จะทำสิ่งที่เราตั้งหลัก ตั้งโจทย์ไว้ ประกอบกับแผนงาน (Plan) ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งจังหวัดพิษณุโลก มีมหาวิทยาลัยนเรศวรช่วยสนับสนุนองค์ความรู้ มีพื้นที่ที่เป็นแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ปลูกอะไรก็ขึ้น จากนั้นต้องมีการระดมความคิด มีการ workshop คิดแล้วคิดอีกก่อนจะทำ และลงมือปฏิบัติ ทำทุกวัน ยิ่งทำยิ่งเรียนรู้ และต้องพร้อมที่จะปรับแผนให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เป็นจริง และเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งต้องสกัดออกมาให้ได้ โดยเฉพาะการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งถ้าเราสามารถขับเคลื่อนให้ประชาชนน้อมนำหลักดังกล่าวได้สำเร็จแค่เรื่องเดียว ปัญหาที่เหลือด้านอื่น ๆ ก็จะแก้ได้หมด และขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนมุ่งมั่นช่วยกันขยายผลไปสู่พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ

ปลัด มท.ชู“ส้มซ่าโมเดล” หนุนยกระดับ“ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนพัฒนาแบบยั่งยืน”

นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า จังหวัดพิษณุโลกได้กำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาจังหวัดว่าเป็นเมือง 3 ธรรม ได้แก่ ธรรมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม และได้ขับเคลื่อนโดยกลไกคณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัดพิษณุโลก และคณะทำงานสนับสนุนทั้ง 3 กลุ่มงาน คือ ด้านเกษตร การท่องเที่ยว และการแปรรูป ด้วยกลไก 5 ภาคส่วน (ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม) มีกลุ่มเป้าหมาย รวมจำนวน 74 กลุ่ม แยกเป็นกลุ่มเกษตร 18 กลุ่ม กลุ่มแปรรูป 38 กลุ่ม และกลุ่มท่องเที่ยว 18 หมู่บ้าน มี Best Practice คือ หมู่บ้านวังส้มซ่า ซึ่งมีการดำเนินงานทั้ง 3 กลุ่มงานอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งเรื่องเกษตร คือ การส่งเสริมการปลูกต้นส้มซ่า การแปรรูปผลิตภัณฑ์โดยใช้ (Bio-Circular-Green Economy : BCG) มาแปรรูปผลิตภัณฑ์ OTOP และหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี และการดำเนินการเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐจังหวัดพิษณุโลกที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมและบูรณาการทำงานจากทุกภาคส่วน

คุณภาวิณี ไชยสิทธิ์ กล่าวว่า บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด มีเป้าหมายหลักในการสนับสนุน SE ทุกจังหวัด โดย “บ้านวังซ่อมซ่า” เป็นต้นแบบของ SE ที่ขับเคลื่อนตามแนวทางอย่างเป็นรูปธรรม คือ ชุมชนลงมือทำ รัฐบาลขับเคลื่อน เอกชนสนับสนุน โดย Key success factor ที่สำคัญ คือ “คน” ที่เราต้องค้นหาให้เจอ และที่ผ่านมาหลายพื้นที่อาจเริ่มต้นติดกระดุมผิดเม็ดไม่เป็นไร แต่เราจะช่วยกันเดินหน้าแก้ปัญหาเพื่อให้สอดคล้องตามวัตถุประสงค์และความตั้งใจของพวกเราทุกคน

นางสาววรัญญา ธูปหอม ผู้จัดการบริษัทประชารัฐรักสามัคคีฯ พิษณุโลก กล่าวว่า บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) พิษณุโลก ได้ขับเคลื่อนตามกระบวนงาน 3 กลุ่มงาน 5 กระบวนการ มีผลงานเด่น เริ่มต้นที่ด้านการเกษตร เพราะเกษตร คือ สันหลังของประเทศ โดยนำวิสาหกิจเพื่อสังคมควบคู่การเกษตร ทำการค้าแบบไม่มุ่งหวังผลกำไรสูง แต่สามารถอยู่ได้และขยายกิจการได้ ด้วยการบริหารจัดการตนเองให้พึ่งพาตนเองได้ ทำให้เกษตรกรมีความคิดที่มั่นคงและแข็งแรงได้ เพราะเรามองว่า “กำไรไม่ใช่สิ่งที่ต้องการที่สุดแต่จำเป็นที่สุดเพื่อไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน” จึงต้องมีกำไร 10% ปัจจุบันมีกำไร 6,153,609 บาท แต่ทั้งนี้ความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ตัวเลข แต่ความสำเร็จ คือ เกษตรกรต้องได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม ถือเป็นหัวใจของ Social Enterprise (SE)

“ในฐานะคนขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชน คนขับเคลื่อน SE และคนที่อยากเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างในพื้นที่ จึงทำให้หัวใจแรกของบริษัทประชารัฐที่ได้เลือกจาก 3 กลุ่มงาน จึงเลือกจาก “การทำการเกษตร” ซึ่งตนเองไม่มีความถนัดก่อน ด้วยการลงเรียนรู้ร่วมกับสมาชิกในชุมชน นำไปสู่อาหารปลอดภัย จากนั้นเริ่มขยายการดำเนินงานสู่การท่องเที่ยวชุมชน ทำให้เกิดหมู่บ้านชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี และในเรื่องการแปรรูป ได้ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็น BCG ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียวภายใต้เกษตรทฤษฎีใหม่มูลค่าสูงและเกษตรพอเพียงในพื้นที่ทั้งหมด เช่น ข้าวห่อใบบัว สะท้อนผลจากเกษตรพอเพียงสู่เกษตรสร้างสรรค์ และสร้างความเชื่อมั่น ทั้งสื่อมวลชนเชื่อ ภาครัฐเชื่อเอกชนเชื่อ เมื่อทุกคนเชื่อว่าสิ่งนี้ทำได้มันก็กลายเป็น “ความสำเร็จ” และที่สำคัญที่สุด คือ การบูรณาการ” นางสาววรัญญาฯ กล่าวเน้นย้ำ

นางสาววรัญญาฯ กล่าวในช่วงท้ายว่า “บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด” มีรากเหง้า มีความภูมิใจ จึงส่งผลทำให้คนในพื้นที่กลับมาอนุรักษ์ จาก “ต้นส้มซ่าแค่ต้นเดียว” ณ ตอนนั้น ที่มีใบเป็นส่วนที่มีมากที่สุด ถูกนำมาสกัด แล้วใช้นวัตกรรม ผลิตผลงานชิ้นแรก คือ ลิปกลอส และมุ่งมั่นเดินหน้ารวบรวม คิดค้น โดยน้อมนำหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาสร้างความเติบโตเป็นขั้นบันได ไม่ทำอย่างก้าวกระโดด ต้องทำทีละเล็กละน้อยเพื่อให้เกิดความเข้าใจของชุมชน เพื่อจะทำให้ยั่งยืน เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็ง และส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปได้ “ต้องมีความเชื่อ นำด้วยความรู้ ไม่มีอะไรเป็นข้อจำกัด และปรับปรุงตนเองจากคำแนะนำคนรอบข้าง และความสำเร็จเริ่มต้นจากฐานรากที่ชาวบ้านในชุมชนคิด แล้วเติมความรู้อย่างแยบยล ถ้าเศรษฐกิจฐานรากแข็งแรง เศรษฐกิจของประเทศก็จะแข็งแรง”

อาจารย์ศรัณย์พร เกิดเกาะ เครือข่ายภาควิชาการ กล่าวว่า จุดแข็งของบ้านส้มซ่า คือ 1) มี “ผู้นำ” ที่มี Passion มุ่งมั่นอยากทำให้ชุมชนเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าทุกจังหวัด/ทุกพื้นที่มีผู้นำที่พร้อมและเชื่อมั่นว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้ ก็จะสำเร็จได้ 2) มี BCG in Action “น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่มาทำให้เกิดคุณค่าอย่างยั่งยืน” ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม 3) Creative Economy เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้วยการคิด ริเริ่ม ทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ จากรากฐานอัตลักษณ์ดั้งเดิม 4) การแบ่งปัน ผลประโยชน์ตอบแทนอย่างเท่าเทียม ตามหลักการ Social Enterprise ทำให้เกิดการกระจายรายได้ การช่วยชุมชน คนกลางก็ได้รับค่าตอบแทนที่ดี หรือเรียกว่า “พึ่งพาตนเอง” และได้ประโยชน์ทุกฝ่าย และ 5) Networking Partnership สร้างความร่วมมือทุกภาคีเครือข่ายให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืน