posttoday

"สบเตี๊ยะโมเดล"ต้นแบบแก้ปัญหาสุราอย่างยั่งยืน

15 มิถุนายน 2565

เปิดผลงานชิ้นโบว์แดงภาคี สสส.ขับเคลื่อนดูแลผู้มีปัญหาสุราประสบความสำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรม 16 พื้นที่ ปฏิบัติการ ขยายผลสู่ “สบเตี๊ยะโมเดล” ปลุกศักยภาพครอบครัวดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมสร้างสุขภาวะชุมชน

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. น.ส.รักชนก จินดาคำ หัวหน้าโครงการการขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เปิดเผยว่า “สมาคมฮักชุมชน” ภาคีเครือข่ายสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้นำรูปแบบการดูแลผู้มีปัญหาสุราในรูปแบบ "เชิงพุทธ" มีชุมชนเข้าร่วมดำเนินกิจกรรม 8 พื้นที่ แบ่งเป็นในภาคเหนือ 2 วัด ในภาคอีสาน 6 วัด และรูปแบบ "กลุ่มครอบครัว" มีชุมชนเข้าร่วมดำเนินกิจกรรม 8 พื้นที่ แบ่งเป็นในภาคกลาง 4 พื้นที่และในภาคเหนือ 3 พื้นที่ รวมทั้งหมด 16 พื้นที่ต้นแบบ โดยมีภาคีเครือข่ายในระบบสุขภาพและนอกระบบสุขภาพโดยมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับชุมชน เนื่องจากชุมชนมีศักยภาพ และชุมชนเป็นฐานสำคัญในการพัฒนา หากได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม

สำหรับผลลัพธ์จากการทำงานที่เห็นผลเป็นรูปธรรม ได้แก่ 1.เกิดกลไกขับเคลื่อนงาน ใน 16 พื้นที่ มี ผู้นำชุมชน พระสงฆ์ บุคลากรสุขภาพ จิตอาสา รวมจำนวน 253 คน 2.เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มสุรา จำนวน 181 คน มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มสุรา โดยสามารถเลิกดื่มสุรา 68 คน หรือ 38% และ ลดการดื่มสุราจำนวน 99 คน หรือ 55% 3.เกิดผลลัพธ์ในมิติคุณภาพชีวิต 4 ด้าน คือ 1.ด้านสัมพันธภาพในครอบครัว มีการทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น มีความเข้าใจกันมากขึ้น สื่อสารในเชิงบวกมากขึ้น 2.ด้านสุขภาพดีขึ้นทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจ 3.ด้านทักษะชีวิต เกิดทักษะ การเสริมคุณค่าในตนเอง และการหนุนเสริมกันในระบบกลุ่ม ได้แก่ การทำเกษตรปลอดสารพิษ ปลูกผักไว้บริโภคในครัวเรือน การปุ๋ยหมักชีวภาพ การทำกลุ่มหางานออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด และ 4.ด้านเศรษฐกิจ ผู้มีปัญหาสุราที่ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรม มีเงินเก็บ จากการประกอบอาชีพ จากการลดค่าใช้จ่ายในเกี่ยวกับสุรา มีการตั้งเป้าหมาย ในการมีชีวิตที่ดีขึ้น

"สบเตี๊ยะโมเดล"ต้นแบบแก้ปัญหาสุราอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ เทศบาลตำบลสบเตี๊ยะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่มีการผนึกกำลังในการขับเคลื่อนงาน โดยการนำประสบการการขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราและสุขภาวะโดยชุมชน ที่สมาคมฮักชุมชนได้ดำเนินการ มาขยับขับเคลื่อนงานในตำบลสบเตี๊ยะ ที่มีสมาชิก 21 หมู่บ้าน และนำร่องดำเนินการในครั้งนี้ 8 หมู่บ้าน เป็นนวัตกรรมสำคัญที่น่าติดตาม นำไปสู่การสร้างทางเลือกที่สำคัญสำหรับชุมชน ในการมีส่วนร่วมในการดูแลผู้มีปัญหาสุรา ในส่วนผู้มีปัญหาสุรา ก็ได้รับโอกาสการเข้าถึงการดูแล ฟื้นฟูสภาพ ที่มีคนในชุมชนที่เป็นเสมือนญาติมิตร เป็นผู้ขับเคลื่อนงาน ผ่านกลไกคณะทำงานขับเคลื่อนงานการดูแลผู้มีปัญหาสุราและสุขภาวะโดยชุมชนตำบลสบเตี๊ยะ ประกาศโดยเทศบาลตำบลสบเตี๊ยะ เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา มีภาคีข่ายร่วมดำเนินงานทั้งภาครัฐ,ภาคเอกชน นำโดย นายกเทศมนตรีตำบลสบเตี๊ยะ

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานชุดดังกล่าวจะมีการทำงานสร้างพลังร่วมกับคณะทำงานสนับสนุนการขับเคลื่อนงานการดูแลผู้มีปัญหาสุราและสุขภาวะโดยชุมชนตำบลสบเตี๊ยะ ที่มีผู้นำชุมชนในพื้นที่นำร่อง 8 หมู่บ้าน เข้าร่วมได้แก่ หมู่ที่ 3 บ้านเชิงดอยหมู่ที่ 5 บ้านทุ่งหมากหนุ่มหมู่ที่ 7 บ้านดงหาดนาค หมู่ที่ 8 บ้านห้วยโจ้หมู่ที่ 9 บ้านหนองอาบช้างหมู่ที่10 บ้านทุ่งปูนหมู่ที่14 บ้านแม่เตี๊ยะใต้ และหมู่ที่17 บ้านหาดนาค นางสาวพิสมัย ธรรมใจ ปลัดเทศบาลตำบลสบเตี๊ยะ กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนการทำงาน คือ การนำฐานทุนของการทำงานที่มีความเป็นครอบครัวเดียวกัน สร้างเครือข่ายในเรื่องการดูแลเอื้ออาทรกัน จะทำให้เป็นแรงเสริมให้การขับเคลื่อนเรื่องสุราหรือเรื่องอื่นๆบรรลุผลตามที่ต้องการได้ ดึงศักยภาพความเป็นครอบครัวในชุมชนในการขับเคลื่อนเรื่องสุราร่วมกัน ความเป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นจุดแข็ง เป็นศักยภาพที่สำคัญในการจัดการดูแลได้ สอดคล้องกับรูปแบบกลุ่มฮักครอบครัว ที่สมาคมฮักชุมชนและภาคีเครือข่ายนักวิชาการได้พัฒนาขึ้น เป็นการนำเอา “สถาบันครอบครัว” นำ “สถาบันเครือข่ายสังคม” ความเป็นคนในหมู่บ้านมาช่วยกันขับเคลื่อน นอกจากคำว่า เครือญาติ คือ คนที่เกิดในพื้นที่ เรายังมีความเข้มแข็งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หน่วยบริการสาธารณสุข เครือข่ายของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เครือข่ายของสถานศึกษา ตลอดจน คณะสงฆ์ ที่เป็นเครือข่ายร่วมกันที่จะขับเคลื่อนไปได้ ในชุมชน มีในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ หรือ บุคคลที่มีความรู้เฉพาะด้าน ถ้าดึงเป็นเครือข่ายร่วมกันในการขับเคลื่อนงานทั้งในระดับ ตำบล ชุมชน จะทำให้เกิดผลลัพธ์ได้ดี จะเป็นจุดแข็งในตำบล คนในตำบลสบเตี๊ยะอยากให้คนในครอบครัว ซึ่งหมายถึง คนทั้งตำบลมีความสุข ความเป็นอยู่ที่ดี และทุกคนยินดีที่จะขับเคลื่อนและร่วมช่วยกันทำเรื่องการแก้ไขปัญหาสุรา สร้างสุขภาวะให้กับคนในชุมชนได้ต่อไป

"สบเตี๊ยะโมเดล"ต้นแบบแก้ปัญหาสุราอย่างยั่งยืน

"ศักยภาพของตำบลสบเตี๊ยะ มีความเข้มแข็งในเรื่องของความเป็นครอบครัวเดียวกัน ความเป็นครอบครัวที่เอื้ออาทรต่อกัน หมายความว่า คนหมู่บ้านนี้รู้จัก และมีความเกี่ยวข้องกัน และมีเครือข่ายเป็นญาติกัน เช่น บ้านอยู่หมู่ 1 แต่ญาติอยู่หมู่ 20 จึงเป็นเครือข่ายครอบครัวเดียวกัน ทำให้เกิดความช่วยเหลือดูแลกัน นั่นคือศักยภาพความเป็นชุมชนของทั้งตำบลที่มีความเอื้ออาทรต่อกัน" น.ส.พิสมัย กล่าว

ปลัดเทศบาลตำบลสบเตี๊ยะ กล่าวว่าการนำศักยภาพเครือข่ายครอบครัวเข้ามาช่วยแก้ปัญหาจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไปกับการรักษาพยาบาลคนป่วยอันเนื่องมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากโรคเบาหวาน โรคความดัน โรคปอด โรคจิตเวช ปัญหาสุขภาพจิต และข้อมูลเชิงลึกสิ่งที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากปัญหาสุขภาพจิตส่งผลกระทบกับความอบอุ่นในครอบครัว และส่งผลกระทบกับตัวเองจากภาวะผู้ป่วยที่ฆ่าตัวตาย และมีความเกี่ยวข้องกับยาเสพติดชนิดอื่น ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องและมีความสัมพันธ์กันเป็นลูกโซ่

นางแสงจันทร์ พาภิรมย์ ผู้อำนวยการโรงพบาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแม่เตี๊ยะ กล่าวว่าสถานการณ์ปัญหาสุราของคนในตำบลสบเตี๊ยะหรือของคนจอมทอง ต้องต่อสู้กับค่านิยมแบบวิถีชีวิตจะใช้เหล้าเป็นตัวนำ จึงทำให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ที่เริ่มมีการดื่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นการส่งเสริมการแก้ไขปัญหาสุราของชุมชน คนที่จะแก้ได้ดีที่สุดและเกิดความยั่งยืนก็ คือ "ชุมชนมีส่วนร่วม" โดยชุมชนจะสร้างมาตรการในชุมชนขึ้นมาเองและนำไปปฏิบัติจริง ทำให้เกิดการมีส่วนร่วม ความเข้มแข็งในชุมชน ความสามัคคี โดยมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาสุราร่วมกัน เกิดความเปลี่ยนแปลงในชุมชน และ นอกจากการทำให้ชาวบ้านเกิดความตระหนักของปัญหายังให้การสนับสนุนในการสร้างการพัฒนาศักยภาพของคณะทำงานที่จะตั้งขึ้นมา การทำงานในชุมชนจะต้องมีคณะทำงานในการขับเคลื่อน โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการตามคำสั่งและคณะกรรมการปฏิบัติงาน เครือข่ายตรงนี้จะมีส่วนในการ จัดเก็บข้อมูล, การวางแผน, การปฏิบัติและการประเมินผล จากที่ทำงานที่ผ่านมาชุมชนให้การตอบรับ และบอกว่าเป็นโครงการฯ ที่สามารถจับต้องได้ เกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดผลกับชุมชน

นางแสงจันทร์ กล่าวว่า กระบวนการทำงานเน้นงานแบบชุมชนมีส่วนร่วม ตามแนวทางของสมาคมฮักชุมชน ตั้งแต่การเก็บข้อมูล, การวางแผน, การกำหนดรูปแบบในการทำงาน, การแต่งตั้งคณะกรรมการ สู่การปฏิบัติงาน และสุดท้ายคือการประเมินผลลัพธ์ร่วมกัน ทำให้ชาวบ้านได้เกิดการรับรู้ถึงกระบวนการทำงานทุกขั้นตอน และเขาจะเกิดการตระหนัก สามารถต่อยอดการทำกิจกรรมได้โดยที่เราคาดไม่ถึงก็มี เป็นการนำมาซึ่งงานที่เขาปฏิบัติเองได้ รวมถึง การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อต่อการทำงานแก้ไขปัญหาสุรา หลังจากที่เราพูดคุยในภาพกว้าง ส่วนในมุมมองของคนดื่มสุราเราต้องมองว่าเราจะทำยังไงให้เขาลด ละ เลิกการดื่มสุรา โดยชุมชนช่วยในการขับเคลื่อน มีการสร้างกระแส สร้างความตระหนักรู้ในชุมชนคือ ชุมชนรับรู้ว่าในหมู่บ้านชุมชนรู้ว่าในพื้นที่มีปัญหาเรื่องสุรา ที่มีผลทางตรงและทางอ้อม

"เราเป็นคนของภาครัฐเราจะไปคิดแทนมากก็ไม่ได้ บางอย่างมันอาจจะขัดแย้งกับบริบทในชุมชนของเขาได้ และไม่สามารถทำได้ก็จะไม่เกิดการยอมรับ หากเราให้เขามีส่วนร่วมและให้เขาได้กำหนดหรือวางแผนเองในการทำงานขับเคลื่อน จะเกิดการทำงานได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน" ผอ.รพ.สต.บ้านแม่เตี๊ยะ กล่าว