posttoday

ดันตั้งเขตศก.พิเศษภาคเหนือชู"แพร่-น่าน"โมเดลพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ไผ่

02 มิถุนายน 2565

สมาคมส่งเสริมเศรษฐกิจและความร่วมมือการค้าอาเซียน-จีน หนุนเศรษฐกิจ Green Industy ชู "แพร่-น่าน"โมเดล ปลูกไผ่สร้างรายได้เกษตรกรสร้างเศรษฐกิจสีเขียวในภูมิภาคลดโลกร้อนจาก Green house effect

นายวิจิตร หยาง นายกสมาคมส่งเสริมเศรษฐกิจและความร่วมมือการค้าอาเซียน-จีน เปิดเผยว่า มีแนวคิดในการส่งเสริมการค้าการลงทุนในการสร้างนิคมอุตสาหกรรมไม้ไผ่ โดยการสนับสนุนด้านการค้าการลงทุนและงานวิจัยจากสถาบันไม้ไผ่นานาชาติจีน เพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียวในภูมิภาคเพื่อลดปัญหาโลกร้อนจาก Green house effect การสร้างป่าไผ่เพื่อเป็นวัตถุดิบอุตสาหกรรม สร้างระบบนิเวศที่ดี และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน

ทั้งนี้ หลังจากที่ สมาคมฯ ได้ทำหน้าที่ในการส่งเสริมการค้าการลงทุนในกลุ่มภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการนำผู้ประกอบการ นักลงทุนจากไทย-จีน แลกเปลี่ยนตามเส้นทาง one belt one road คุนหมิง-กรุงเทพ มีการพาผู้ว่าราชการ 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบนกลุ่ม 2 ไปเยือนนครคุณหมิง เรียนรู้การลงทุนและการการค้าระหว่างภาคเหนือกับนครคุนหมิง อีกทั้งเชื่อมโยงความร่วมมือกับสถาบันไม้ไผ่นานาชาติจีน International Bamboo and Rattan INBAR ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไม้ไผ่ในประเทศไทย และนำคณะนักธุรกิจจีน มาเยือน 4 จังหวัดภาคเหนือเมื่อปี 2558 แลกเปลี่ยนข้อมูลกันตลอดมา สร้างแรงจูงใจให้นักธุรกิจจีนเข้ามาลงทุน อุตสาหกรรมไม้ไผ่ในประเทศไทย

ดันตั้งเขตศก.พิเศษภาคเหนือชู"แพร่-น่าน"โมเดลพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ไผ่

นายวิจิตร กล่าวว่า ทางสมาคมฯ มีความคาดหวังให้ จ.แพร่ และน่าน เป็นโมเดลพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ไผ่ ก่อนขยายสู่จังหวัดอื่นทางภาคเหนือต่อไปในอนาคต โดยอยู่ระหว่างการหารือกับภาครัฐในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อขับเคลื่อนโครงการให้เดินหน้าต่อไป ภายใต้การสนับสนุนทางการเงินจาก World Bank และถ่ายทอดเทคโนโลยี Know How จากจีนทั้งนี้ ตามกำหนดการในช่วงปลายปี 2566 จังหวัดน่าน จะร่วมกับ INBAR จัดงานประชุมไผ่โลก และงาน Bamboo Expo มีการระดมนักวิจัย นักลงทุน จากสาธารณรัฐ ประชาชนจีน และนานาชาติ ร่วมเสริมสร้างอุตสาหกรรมสีเขียว ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและระบบนิเวศของประชาชนในภูมิภาคต่อไป

ด้าน รศ.ดร.อภิชาติ อนุกุลอำไพ ประธานที่ปรึกษาสมาคมฯ กล่าวว่า หลังจากที่ สมาคมฯ ได้เชิญชวนนักลงทุนจีน 5 กลุ่มบริษัท ที่ให้ความสนใจร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ไผ่ และอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย เข้าร่วมประชุมแล้วพบว่า ประเทศไทยตอนบน 8 จังหวัด มีภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการปลูกไผ่ อีกทั้งเป็นแหล่งต้นน้ำ การปลูกไผ่ ช่วยชดเชยป่าที่ถูกทำลาย และยังสามารถส่งเสริมให้เป็นไม้เศรษฐกิจได้

“ประเทศไทยมีการปลูกไผ่แต่ยังไม่มีการส่งเสริมอย่างเต็มรูปแบบ ตัวอย่าง การปลูกไผ่ 100 กก.เอาไปขายได้ 30% หากนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าตัว ขณะเดียวกันต้องหามาตรการสนับสนุนระหว่างรอผลผลิตในช่วง 3 ปี แรกที่ลงทุน รวมถึงหาตลาดให้กับเกษตรกรไทยด้วย” รศ.ดร.อภิชาติ กล่าว

ขณะที่ นายนันทวัฒน์ พรรณสกุลวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมฯ กล่าวว่า แนวคิดในการส่งเสริมการค้าการลงทุนในการสร้าง นิคมอุตสาหกรรมไม้ไผ่ เป็นโครงการที่ดี และมีเป็นโอกาสที่จะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย และนำรายได้เข้าประเทศ หากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล จากนี้ไปสมาคมฯ จะจัดตั้งทีมคณะทำงานร่วมกันผลักดันให้หน่วยงาน กรมส่งเสริมการส่งออก รับเรื่องนำโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมไม้ไผ่เข้าสู่วาระการพิจารณา เพื่อให้การปลูกไผ่เป็นไม้เศรษฐกิจเช่นเดียวกับข้าวหรือไม้เศรษฐกิจอื่น ๆ