posttoday

"ผอ.ศูนย์วิจัยฯ"คาดซากฟอสซิลปลาที่พบเป็นบรรพบุรุษไดโนเสาร์

26 เมษายน 2565

เพชรบูรณ์-"ผอ.ศูนย์วิจัยฯ"คาดซากฟอสซิลปลาที่พบเก่าแก่กว่าหมวดหินฟอสซิลไดโนเสาร์ เตรียมขุดค้นหาความจริงเพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 26 เม.ย.65 ความคืบหน้าการพบซากดึดดำบรรพ์ทั้งฟอสซิลไดโนเสาร์และฟอสซิลปลาที่ จ.เพชรบูรณ์ รองศาสตราจารย์ดอกเตอร์(รศ.ดร.) มงคล อุดชาชน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมหลังทีมสำรวจและวิจัย ศูนย์วิจัยฯลงพื้นที่ตรวจสอบตัวอย่างฟอสซิลที่ค้นพบปัจจุบันถูกเก็บรักษาพร้อมจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์อุทยานธรณีเพชรบูรณ์หนองนารี อ.เมืองเพชรบูรณ์ว่า คาดหวังว่าน่าจะยังมีซากดึกดำบรรพ์ชิ้นอื่นๆเหลืออยู่ในพื้นที่เหล่านี้พอสมควร เนื่องจากว่าในการเดินสำรวจพื้นที่และค้นหาในเบื้องต้นยังพบชิ้นส่วนซากดึกดำบรรพ์ถึง 5 ชิ้น เชื่อว่าหากได้รับอนุญาตและสามารถขุดค้นเป็นระบบตามหลักวิชาการ อาจจะเจอตัวอย่างมากกว่านี้ ขณะเดียวกันยังสามารถชี้ชัดได้ว่าซากดึกกำบรรพ์ที่พบในเพชรบูรณ์กลุ่มนี้จัดอยู่ในยุคไหนและมีอายุเท่าใด

รศ.ดร.มงคลกล่าวว่า ส่วนฟอสซิลปลาที่พบนั้นส่วนหัวปลาไม่ชัดเจน โดยส่วนอื่นๆที่มองเห็นจากข้อมูลที่ ดร.บูเซียนศึกษาเบื้องต้นอาจจะเป็นกลุ่มปลาการ์ แต่เนื่องจากส่วนสำคัญที่ใช้ในการบ่งชี้เป็นกลุ่มไหนยังขาดหายไป อย่างไรก็ตามก็หวังว่าจากความร่วมมือกันหลายๆฝ่ายก็อาจจะได้ข้อมูลหรือแม้กระทั่งได้ตัวอย่างเพิ่มเติมในภายภาคหน้า

ผอ.ศูนย์วิจัยฯกล่าวอีกว่า สำหรับซากฟอสซิลปลาจากชั้นหินปูนและหินดินดานสีดำของหมวดหินห้วยหินลาด นั้นมีอายุในช่วงยุคไทรแอสซิกตอนปลายหรือประมาณราว 210 ล้านปีที่ผ่านมา โดยบริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นแอ่งทะเลสาบ และสามารถเทียบเคียงกับที่พบในพื้นที่อำเภอน้ำหนาวและพื้นที่ข้างเคียง ฉะนั้นปลากลุ่มนี้อาจจะเป็นกลุ่มที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของมหายุคมีโซโซอิกที่มีในรายงาน

นอกจากนี้จากรายงานฟอสซิลปลาที่เก่าแก่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศเวียดนาม ในยุคดีโวเนียนราว 400 ล้านปีที่ผ่านมา ส่วนฟอสซิลปลา 2 ชิ้นนี้เชื่อว่าเป็นฟอสซิลช่วงเดียวกันกับที่เคยพบที่ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ซึ่งอยู่ในหมวดหินเดียวกันคือหมวดห้วยหินลาด ส่วนตัวอย่างฟอสซิลปลาที่พบที่น้ำหนาวและเขาค้อ กับฟอสซิลปลาที่พบที่ ต.ท่าพล อ.เมืองฯ สิ่งที่แตกต่างที่บอกได้อันดับแรกเลยคืออายุ ที่ท่าพลอยู่ในสมัยไมโอซีนของมหายุคเซโนโซอิก อายุราว 10 ล้านปี แต่ตัวอย่างฟอสซิลปลา 2 ชิ้นนี้เก่าแก่มากเจอในยุคไทรแอสซิกของมหายุคมีโซโซอิกราว 210 ล้านปีโดยประมาณ

"ฟอสซิลปลาที่พบอยู่ในลำดับชั้นหินอยู่ในหมวดหินห้วยหินลาด ซึ่งเป็นหมวดหินล่างสุดของมหายุคมีโซโซอิกอาจกล่าวได้เป็นชั้นหินชั้นแรกๆของมหายุคนี้ ส่วนฟอสซิลไดโนเสาร์ที่พบเชื่อว่าอยู่ในหมวดหินลำพองที่ทับถมตะกอนต่อจากหมวดหินห้วยหินลาด เพราะฉะนั้นฟอสซิลไดโนเสาร์กลุ่มนี้จึงมีอายุอ่อนกว่า แต่ข้อสำคัญของไดโนเสาร์กลุ่มนี้อยู่ในชั้นหินช่วงล่างๆของมหายุคมีโซโซอิก ซึ่งแก่กว่าไดโนเสาร์ที่พบที่ภูเวียง หรือที่ส่วนใหญ่ที่มีรายงานในประเทศไทย เราอาจกล่าวได้ว่ากลุ่มที่พบในหมวดหินน้ำพอง เป็นกลุ่มในยุคที่มีอายุแก่กว่ากลุ่มนั้น หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มบรรพบุรุษไดโนเสาร์ก็คงไม่ผิด"รศ.ดร.มงคลกล่าว