posttoday

ภูเก็ตเหมาะสม!ก่อสร้างท่าเรือสำราญขนาดใหญ่

25 พฤศจิกายน 2564

ภูเก็ต-กรมเจ้าท่า ประชุมสัมมนาฯรับฟังความคิดเห็นพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่พบท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตเหมาะสมสร้าง"ครูซ เทอมินอล"

เมื่อวันที่ 25 พ.ย.64 กรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เซ้าท์อีสท์เอเชียเทคโนโลยีจำกัด บริษัท ออโรร่า เทคโนโลยี แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด,บริษัท ซี.ซี. ดับบลิว จำกัด บริษัท ไพรซ วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอฟเอเอส จำกัดและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินโครงการศึกษาวางแผนแม่บทเพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) และสำรวจออกแบบท่าเรือขนาดใหญ่ บริเวณชายฝั่งอันดามัน โดยจัดการประชุมสัมมนาระดับจังหวัดครั้งที่ 1 และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 เพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ โดยมี หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน เข้าร่วม ฯ ณ ห้องประชุม โรงแรมพูลแมน ภูเก็ต พันวา บีช รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

ดร.สมบัติ เหสกุล ผู้ช่วย ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า การประชุมสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวทางการวางแผนแม่บทการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ ที่บริเวณชายฝั่งอันดามัน และทำการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม สิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมทั้งประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนจัดทำรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการฯให้เป็นไปตามมาตรา 22 ถึงมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการพัฒนาโครงการ

ภูเก็ตเหมาะสม!ก่อสร้างท่าเรือสำราญขนาดใหญ่

ความจำเป็นในการดำเนินโครงการศึกษาวางแผนแม่บทเพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ จะเป็นการเปิดช่องทางการค้าและการลงทุนรวมถึงการท่องเที่ยว จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ กระจายรายได้สู่ชุมชนและท้องถิ่น และกระจายรายได้สู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องการท่องเที่ยว และสำรวจออกแบบท่าเรือสำราญขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่งอันดามัน (พื้นที่ จังหวัดระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรังและ สตูล) ประเภทของท่าเทียบเรือสำราญ แบ่งเป็น ท่าเรือต้นทาง (Home Port) และ ท่าเรือแบบแวะพัก (Port of Call)

พื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ ในการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ มี 6 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือระนอง จังหวัดระนอง ท่าเรือหัวหินเพิง (พื้นที่ศึกษา) ท่าเรือเจียรวานิช ท่าเรือเซ้าท์เทิร์นพอร์ท กระบี่ ท่าเรือน้ำลึก ภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต และ ท่าเรือตำมะลัง จังหวัดสตูล จากการพิจารณาปัจจัยเหตุผลต่างๆทางเศรษฐศาสตร์ วิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม พบว่า ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต มีความเหมาะสม ที่จะได้รับการพัฒนาเป็นท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จะมีการออกแบบให้โครงการฯ มีการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญและอาคารรับรองผู้โดยสารอยู่ในพื้นที่ที่ยื่นออกไปในทะเล การออกแบบท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ บริเวณท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต เข้าข่ายต้องจัดทำรายงาน EHIA เนื่องจากเป็นการพัฒนาท่าเรือขนาดใหญ่ที่มีความยาวหน้าท่าเกินกว่า 300เมตร และอาจมีความจำเป็นต้องขุดลอกร่องน้ำมากกว่า 100,000ลูกบาศก์เมตร เพื่อให้เรือสำราญขนาดใหญ่เข้ามาจอดเทียบท่าได้

ภูเก็ตเหมาะสม!ก่อสร้างท่าเรือสำราญขนาดใหญ่

นอกจากนี้ พื้นที่พัฒนาโครงการฯยังอยู่ในเขตพื้นที่ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เบื้องต้น กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาฯจึงได้กำหนดแนวคิดเป็นกรอบการดำเนินการศึกษาตามองค์ประกอบและกิจกรรมต่างๆได้แก่ การก่อสร้างท่าเรือ การปรับปรุงขยายท่าเรือ (กรณีที่พิจารณาเห็นว่าควรใช้ท่าเรือเดิมที่มีอยู่แล้ว) การก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่น(ถ้ามี) และการขุดลอกร่องน้ำเพื่อการเดินเรือ ณ บริเวณท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต โดยในการศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ปรึกษาจะดำเนินการตามแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พ.ศ.2561 รวมทั้งกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ส่วนแหล่งเงินทุน งบประมาณของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม และภาคเอกชน ที่สนใจ ตามหลักการแห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ทั้งนี้ การประชุมรับฟังความคิดเห็น ของประชาชน จัดขึ้นรวมจำนวน 3 ครั้ง โดยข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจะถูกนำไปปรับปรุงร่างรายงานและมาตรการฯต่อไป.

ภูเก็ตเหมาะสม!ก่อสร้างท่าเรือสำราญขนาดใหญ่