posttoday

ออกพรรษาที่ปทุมฯ ร่วมประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ

22 ตุลาคม 2564

ปทุมธานี-ชมภาพบรรยากาศ "ตักบาตรพระร้อยทางเรือ" ประเพณีเก่าแก่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา วันออกพรรษา

เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2564 เมื่อเวลา 07.30 น.ที่ท่าเรือวัดมะขาม และท่าเรือวัดศาลเจ้า ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี นายดรณ์ สมิตะเกษตริน ปลัดจังหวัดปทุมธานี นายพิษณุ ประภาธนานันท์ นายอำเภอเมืองปทุมธานี นายสายัณ นพขำ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านกลาง นายศุภชัย นพขำ ส.ส.ปทุมธานี เขต 2 พรรคเพื่อไทย พร้อมข้าราชการพ่อค้า ประชาชน ร่วมประเพณีทำบุญตักบาตรพระร้อยทางเรือซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของวัดที่อยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งแม่น้ำ

ออกพรรษาที่ปทุมฯ ร่วมประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ

การตักบาตรพระร้อย เป็นประเพณีตักบาตรทางน้ำในช่วงเทศกาลออกพรรษา ที่ชาวปทุมธานี โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายมอญ ปฏิบัติกันมานานนับร้อยปี เพราะจังหวัดปทุมธานีมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ทำให้เกิดลำคลองหลายสายขึ้น เพื่อใช้เป็นเส้นทางการคมนาคม ใช้ในการชลประทาน ใช้ในการอุปโภคบริโภค อีกทั้งบ้านเรือนประชาชนแต่เดิมจะตั้งอยู่ริมแม่น้ำลำคลองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในช่วงออกพรรษาเป็นช่วงน้ำหลาก บรรยากาศชุ่มชื่นการสัญจรไปมาทางเรือสะดวก ดังนั้น การตักบาตรพระสงฆ์จึงใช้เรือในการบิณฑบาตบริเวณท่าน้ำหน้าบ้านประชาชน

ออกพรรษาที่ปทุมฯ ร่วมประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ

ย้อนถึงประวัติความเป็นมา และพิธีปฏิบัติในประเพณีเก่าแก่นี้ หากวัดใดที่จะจัดพิธีตักบาตรพระร้อยต้องแจ้งกำหนดวันเสียก่อน ซึ่งประเพณีจะเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ ไปจนถึงวันแรม 13 ค่ำ เดือน 11 วนเวียนกันไปในแต่ละวัด ถึงวันงานทางวัดจะนิมนต์พระเพื่อร่วมพิธีแต่เช้ามืด จากนั้นจึงจัดลำดับโดยการแจกหมายเลขก่อนหลัง เสร็จแล้ววัดเจ้าภาพจึงถวายภัตตาหารเช้าแก่พระที่ร่วมพิธี การตักบาตรพระร้อยจะเริ่มประมาณเจ็ดโมงเช้า นำโดยเรือพระพุทธวัดเจ้าภาพ ภายในเรือจะตั้งพระพุทธรูป โต๊ะหมู่บูชา ดอกไม้ธูปเทียน จากนั้นจึงเป็นเรือพระสงฆ์เรียงตามลำดับหมายเลขที่ได้รับ

ออกพรรษาที่ปทุมฯ ร่วมประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ

ประเพณีตักบาตรพระร้อยในเทศกาลวันออกพรรษาตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 22 ตุลาคม 2564 การตักบาตรพระร้อยเป็นประเพณีของวัดที่อยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งแม่น้ำ โดยจะตกลงกำหนดแบ่งกันเป็นเจ้าภาพเพื่อไม่ให้ตรงกัน เพราะถ้าตรงกันแล้วจำนวนพระที่มารับบิณฑบาตจะได้ไม่ครบ 100 รูป และต้องการให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายรู้กำหนดเวลา จะได้เตรียมจัดทำอาหารหวานคาวไว้ทำบุญตักบาตรได้ถูกต้อง

ออกพรรษาที่ปทุมฯ ร่วมประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ

การตักบาตรพระร้อยในปัจจุบันส่วนใหญ่จะพบเห็นในลักษณะที่ “พระสงฆ์รับบาตรอยู่ในเรือ ส่วนชาวบ้านนั่งรออยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ลำคลอง หรือบนแพ บนโป๊ะ” เป็นส่วนใหญ่ มีส่วนน้อยที่รอตักบาตรอยู่ในเรือ ประชาชนที่มาตักบาตรพระร้อยมีทั้งคนในพื้นที่ละแวกวัด คนในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีที่ทราบกำหนดวันตักบาตร และคนจากจังหวัดใกล้เคียงที่ต้องการสัมผัส และมีส่วนร่วมในประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ ที่พบเห็นได้น้อยเต็มทีแล้ว และส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางคมนาคมทางบกขนสำรับคาวหวานมาเตรียมใส่บาตรที่ริมแม่น้ำ ไม่ได้ขนลงเรือมาเหมือนในสมัยก่อนเพราะหลายๆ บ้านไม่มีเรือใช้แล้ว อีกทั้งปัจจุบันมีการสร้างประตูน้ำกั้นปากคลองที่จะออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จึงไม่สะดวกต่อการนำเรือออกมา

ออกพรรษาที่ปทุมฯ ร่วมประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ

“ประเพณีตักบาตรพระร้อย ชาวบ้านมาด้วยใจที่เปี่ยมศรัทธา ถึงช่วงวันออกพรรษาประจำปี ต่างเตรียมข้าวของ ทั้งอาหารคาวหวาน อาหารแห้ง พืชผักผลไม้ พระจำนวนกว่าร้อยรูปนั่งบนลำเรือล่องเลาะริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ให้ชาวบ้านได้ทำบุญใส่บาตรอย่างอิ่มอุ่น ริมน้ำเจ้าพระยาจึงเนื่องแน่นด้วยผู้คนซึ่งร่วมกันสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมที่ยึดถือปฏิบัติกันมานับร้อยปีให้ดำรงอยู่ต่อไป”