posttoday

ตามดูศูนย์เรียนรู้"เฮือนฮ่วมแฮง"บ้านหนองบัวฮี

25 พฤษภาคม 2564

อุบลราชธานี-เยือนศูนย์เรียนรู้ "เฮือนฮ่วมแฮง"พาดูผู้นำอาสาพัฒนาบ้านเกิด บูรณาการความร่วมมืองานพัฒนาชุมชน และ “โคก หนอง นา พช.” เพื่อสานต่อแนวพระราชดำริตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ศูนย์เรียนรู้เฮือนฮ่วมแฮง ต.หนองบัวฮี อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นักวิชาการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่เยี่ยมเยือนและสนับสนุนการดำเนินงานศูนย์การเรียนรู้การพัฒนาชุมชน “เฮือนฮ่วมแฮง” บ้านหนองบัวฮี โดยมี นางอัมพร วาภพ ในฐานะผู้นำอาสาพัฒนาบ้านเกิดจังหวัดอุบลราชธานี ผู้จัดการ หจก.ข้าวโฮยเกลือสตูดิโอ วิสาหกิจเพื่อสังคม” และเจ้าของพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ “เฮือนฮ่วมแฮง” ให้การต้อนรับ

สำหรับ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาชุมชน “เฮือนฮ่วมแฮง” ก่อตั้งในปี พ.ศ.2561 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีความครอบคลุมในการบริการสังคม ทั้งการจัดอบรม ฐานการเรียนรู้และการศึกษา โดยมีภารกิจสำคัญคือการใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเด็กเยาวชน ตลอดจนให้การบริการชุมชนและส่งเสริมการเรียนรู้สัมมาชีพชุมชน บนพื้นที่ 12.5 ไร่ เพื่อการสร้างแรงบัลดาลใจ แลกเปลี่ยนความรู้ และพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับชุมชนและคนรุ่นใหม่ที่สนใจกลับคืนบ้านเกิด โดยมีภาคีเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน ขอรับบริการจัดฝึกอบรมให้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ตามดูศูนย์เรียนรู้"เฮือนฮ่วมแฮง"บ้านหนองบัวฮี

นับจากปี พ.ศ.2561 ได้มีการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ “เฮือนฮ่วมแฮง” ให้เป็นพื้นที่แบ่งปัน สร้างสรรค์พัฒนาเด็กเยาวชนและผู้ขาดโอกาสทางสังคม ด้วยประสบการณ์เป็นนักกิจกรรมสังคม และประสบการณ์ในการเป็นวิทยากร การบริหารโครงการพัฒนาเด็กเยาวชน และชุมชน ทำให้นายอัมพร วาภพ หนึ่งในทีมอาสาพัฒนาบ้านเกิด โดยใช้พลังเครือข่ายที่มีความรู้ ความสามารถทั้งด้านงานช่าง งานเกษตร งานผลิตสื่อ ภูมิปัญญาชุมชน และศิลปะ ร่วมกันทำกิจกรรมจิตอาสาให้กับกลุ่มบุคคล หน่วยงานที่สนใจมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ที่มาของคำว่า “ฮ่วมแฮง” คือ “ ร่วมแรง”)

กระทั่งเมื่อวันที่ 20 ม.ค.2563 นายอัมพร วาภพ ผู้จัดการศูนย์เรียนรู้ฯ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทีมผู้นำอาสาพัฒนาบ้านเกิด ระดับจังหวัด จากนั้น ได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสืบสาน รักษา ต่อยอดแนวพระราชดำริ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” โดยใช้งบประมาณส่วนตัว และได้ทำการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ในบริเวณรอบศูนย์เรียนรู้ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อีกด้วย

จากนั้น พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เยี่ยมชมและให้คำแนะนำในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้ฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับพื้นที่ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” โดยใช้งบประมาณส่วนตัวในการดำเนินการ ว่า “ขอชื่นชมการดำเนินงานและความมีจิตอาสาในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งในอนาคตพื้นที่แห่งนี้ จะใช้ในการสร้างความเข้มแข็ง เกิดวิสาหกิจเพื่อสังคม “เฮือนฮ่วมแฮงโมเดล ” ที่มีแนวคิดในการสร้างพื้นที่ทางกายภาพ “โคก หนอง นา” เป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาชุมชน ให้มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการสร้างกลไกการทำงานจิตอาสา โดยประสานความร่วมมือภาคธุรกิจ สถานประกอบการ รวมถึงบริษัทประชารัฐรักสามัคคี ที่ดำเนินงานไม่แสวงหากำไร ในการบ่มเพาะ “สัมมาชีพชุมชน” เพื่อให้คนในชุมชนเกิดคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและการสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในงานพัฒนาชุมชน และ “โคก หนอง นา พช.” ในการสร้างทางรอดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อไป