posttoday

ชาวเชียงใหม่หนุน"คนละครึ่ง"ได้ประโยชน์ อยากให้ขยายเพิ่ม

12 พฤศจิกายน 2563

เชียงใหม่-ผลสำรวจเผยชาวเชียงใหม่ หนุนโครงการกระตุ้นท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐเพราะเห็นผลและอยากให้ต่อยอดโครงการเพิ่ม

เมื่อวันที่ 12 พ.ย.63 นางสาวรัตนาภรณ์ สุวคนธ์ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุเสียงสื่อมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนหรือ FM100 Poll หัวข้อ “ ชาวเชียงใหม่กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของภาครัฐ ” โดยสำรวจผ่านทางเฟซบุ๊ก fm100 เสียงสื่อสารมวลชน ระหว่างวันที่ 1 พ.ย.-10 พ.ย. 2563 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 96.6 รู้จักโครงการคนละครึ่ง ร้อยละ 71.2 รู้จักโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ร้อยละ 52.5 รู้จักโครงการช้อปดีมีคืน ร้อยละ 1.7 รู้จักโครงการชิม ช้อป ใช้ และผู้ตอบแบบสอบถามยังรู้จักโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการกำลังใจ อสม.

ผู้ตอบแบบสอบถามได้ใช้ประโยชน์จากโครงการ ใช้ประโยชน์จากโครงการคนละครึ่ง ร้อยละ 69.9 / ใช้ประโยชน์จากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ร้อยละ 28 / ใช้ประโยชน์จากโครงการช้อปดีมีคืนร้อยละ 10.2 และร้อยละ 17.8 ไม่ได้ร่วมโครงการใดเลย เมื่อสอบถามประเด็นคำถามที่ว่าท่านคิดเห็นอย่างไรกับมาตรการบางอย่างของรัฐ ต้องใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง ร้อยละ 57.6 ระบุว่ามีความสะดวก ร้อยละ 43.2 ระบุว่าใช้งานง่าย แต่ก็มีถึงร้อยละ 31.4 ที่ระบุว่าใช้เงินสดสะดวกกว่า นอกจากนั้นยังมีอีกร้อยละ 16.9 ระบุว่าไม่ค่อยสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ

ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 42.4 เห็นว่ามาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายผ่านโครงการต่างๆ มีประโยชน์ปานกลาง และร้อยละ 37.7 เห็นว่ามีประโยชน์มาก ร้อยละ 11 เห็นว่ามีประโยชน์น้อย โดยร้อยละ 44.9 เห็นว่ามาตรการของภาครัฐ กระตุ้นให้ประชาชนเกิดการใช้จ่ายได้บ้าง ร้อยละ 36.4 กระตุ้นได้มาก ร้อยละ 12.7 ช่วยกระตุ้นได้ค่อนข้างน้อย และร้อยละ 5.9 กระตุ้นได้น้อย

ประเด็นคำถามที่ว่า ควรเพิ่มมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐ ด้านใดบ้าง ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 63.6 เห็นว่า? ควรมีสถานที่ท่องเที่ยวหรือร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น ร้อยละ 57.6 เห็นว่า ควรเพิ่มสิทธิ์ให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากโครงการเพิ่มขึ้น ร้อยละ 36.4 เห็นว่า? ควรขยายระยะเวลาในการใช้สิทธิ์เพิ่มมากขึ้น และกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 78.8 อยากให้มีโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐ ต่อไป ขณะที่ร้อยละ 8.5 ไม่อยาก และร้อยละ 12.7 ไม่มีความเห็น.