posttoday

ทูต"อียู"ลงพื้นที่เชียงรายตรวจเยี่ยมรับฟังปัญหาผลกระทบโควิด-19

20 สิงหาคม 2563

เชียงราย-เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยเยือนดชียงรายอย่างเป็นทางการ เพื่อรับฟังปัญหาและหาแนวทางแก้ไขฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบโควิด-19

ฯพณฯ เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยพร้อมด้วยนางโอลก้า ตาปิโอลา ภริยา ได้ลงพื้นที่จ.เชียงรายเพื่อรับทราบข้อมูลของจังหวัดเชียงรายและภาคเหนือของประเทศไทย โดยในการเยือนอย่างเป็นทางการครั้งนี้ ท่านเอกอัครราชทูตได้เยี่ยมคารวะ และติดตามความคืบหน้าของโครงการฟื้นฟูความเสียหายจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากสหภาพยุโรป รวมถึงโครงการพัฒนาที่มุ่งเน้นในการพัฒนาสภาพเศรษฐกิจและสังคมของผู้คนกลุ่มต่างๆ ในจังหวัดโดยมี นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายต้อนรับ

ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยและผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้ปฝหารือด้านความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยในอนาคต และแลกเปลี่ยนมุมมองการฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจและสังคมซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจังหวัดเชียงราย เนื่องจากเชียงรายเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับสหภาพยุโรปจากโครงการพัฒนาและแลกเปลี่ยนทางการค้าต่างๆ ทั้งโครงการเพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชนชาวไทยภูเขาในภูมิภาคเชียงใหม่และเชียงรายในโครงการพัฒนาของจังหวัด (2556-2560) ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสหภาพยุโรป รวมไปถึงกลุ่มอนุรักษ์ป่าบุญเรือง (2558-2561) ที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) และเงินสนับสนุนจากสหภาพยุโรป และการขึ้นทะเบียนกาแฟดอยตุงและกาแฟดอยช้างให้เป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) ที่ได้รับการคุ้มครองในสหภาพยุโรป

ทูต"อียู"ลงพื้นที่เชียงรายตรวจเยี่ยมรับฟังปัญหาผลกระทบโควิด-19

นอกจากนั้น เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยยังได้เยี่ยมชมโครงการรับมือและฟื้นฟูผลกระทบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงราย โดยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก จังหวัดเชียงรายมีการการตรวจพบผู้ติดเชื้อเพียงแค่ 9 ราย แต่การแพร่ระบาดก็ยังสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เมื่อช่วงกลางเดือนก.ค.ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้เปิดตัวโครงการรับมือและฟื้นฟูผลกระทบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยงบดำเนินการกว่า 2.6 ล้านยูโร (90 ล้านบาท) โดยมี 3 จุดประสงค์หลักของโครงการคือการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน การฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคม และการสร้างความสามารถในการยืดหยุ่นของชุมชนที่ได้รับกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

สำหร้บ โครงการรับมือและฟื้นฟูผลกระทบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในส่วนที่เป็นโครงการระดับประเทศ มีขอบเขตการทำงานครอบคลุม 38 จังหวัดของประเทศไทย ดำเนินงานโดยมูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ร่วมมือกับมูลนิธิชุมชนไท มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (HOMENET) และมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) โดยในจังหวัดเชียงราย ทางโครงการได้เข้าฟื้นฟูและช่วยเหลือแรงงานท้องถิ่นที่ผลิตสินค้าทำมือและจำหน่ายในถนนคนเดินเชียงราย หรือ กาดเจียงฮายรำลึก เพราะแรงงานกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการมาตรการล็อกดาวน์และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง

ฯพณฯ เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักแก่ผู้คนนับล้านรอบโลก และยังเป็นวิกฤตการณ์ที่สร้างผลกระทบในวงกว้าง โครงการรับมือและฟื้นฟูผลกระทบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยของสหภาพยุโรปนั้นมีเป้าหมายที่จะช่วยฟื้นฟูและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในเรื่องของการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน การฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคม และการสร้างความสามารถในการยืดหยุ่นของชุมชน เรามุ่งหวังให้ชุมชนเหล่านี้สามารถกลับมาพึ่งพาตนเองได้อย่างรวดเร็วที่สุด และมีภูมิคุ้มกันต่อวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ทูต"อียู"ลงพื้นที่เชียงรายตรวจเยี่ยมรับฟังปัญหาผลกระทบโควิด-19

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตยังได้เยี่ยมชมสถาบันชาและกาแฟแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและโครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งดำเนินงานโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของอุตสาหกรรมชาและกาแฟที่สร้างผลกระทบในทางบวกแก่การพัฒนาภาคเศรษฐกิจและสังคมในภาคเหนือของประเทศไทย ที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

นอกจากนั้น เอกอัครราชทูตยังร่วมสังเกตการทำงานต่างๆ ของโครงการพัฒนาดอยตุงที่ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวไทยภูเขาให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเสริมสร้างโอกาสด้านรายได้ การลดปัญหาความยากจนในท้องที่ รวมไปถึงการขจัดปัญหายาเสพติดและความขัดแย้ง รวมถึงได้เยี่ยมชมการผลิตกาแฟดอยตุง ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) โดยสหภาพยุโรป รวมไปถึงการเยี่ยมชมโรงทอผ้าในโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ซึ่งผลิตสินค้าคุณภาพสูงให้แก่ผู้บริโภคในทวีปยุโรปผ่านโครงการร่วมมือกับอิเกีย

“นอกจากความสำคัญต่อประเทศไทยในด้านวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจแล้ว จังหวัดเชียงรายอันสวยงามยังมีความสำคัญต่อสหภาพยุโรปเช่นกัน จึงมีความยินดีอย่างมากที่ได้เห็นสหภาพยุโรปให้การช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจังหวัดเชียงรายยังยินดีที่ได้เห็นความสำเร็จของสถาบันชาและกาแฟแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและโครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งดำเนินงานโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ รวมถึงโอกาส ที่ได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปและจังหวัดเชียงรายทั้งที่มีอยู่แล้ว และที่อาจมีเพิ่มเติมในอนาคต ในการเดินทางมาครั้งนี้”ฯพณฯ เปียร์ก้ากล่าว

อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกยังเป็นผู้บริจาคความช่วยเหลือรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยถือเป็น 55 เปอร์เซ็นต์ ของการบริจาคทั้งหมด ในการรับมือกับการแพร่ระบาดโควิด-19 นั้น สหภาพยุโรปได้จัดตั้งงบประมาณ “ทีมยุโรป” จำนวน 800 ล้านยูโร (28,000 ล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ทั้งในด้านสุขภาพ น้ำ และระบบสุขาภิบาล รวมไปถึงการบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากการแพร่ระบาดอีกด้วย

ทูต"อียู"ลงพื้นที่เชียงรายตรวจเยี่ยมรับฟังปัญหาผลกระทบโควิด-19