posttoday

หนุนทำประชามติโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขีดเส้นเฉพาะคนในพื้นที่

12 สิงหาคม 2563

เครือข่ายชุมชนคนกระบี่ ร่อนหนังสือเรียกร้องขอทำประชามติโรงไฟฟ้าถ่านหิน หวังให้โครงการเดินหน้า หลังถูกคนนอกพื้นที่ต่อต้านทำลายโอกาสการพัฒนาทางเศรษฐกิจของภาคใต้

รายงานข่าวจากเวทีสานเสวนารอบ 2/1  ยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าภาคใต้ ซึ่งจัดโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  ที่จังหวัดกระบี่  เปิดเผยว่า นายกิจจา ทองทิพย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่3 ตำบลปกาสัย อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ตัวแทน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อ.เหนือคลอง  ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา กลุ่มเครือข่ายปกป้องสิทธิชุมชนคนกระบี่ ได้ยื่นหนังสือและแถลงการณ์ขอทำประชามติดำเนินการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือคลองรั้ว จ.กระบี่ต่อศาสตราจารย์ ดร.จำลอง โพธิ์บุญ  หัวหน้าโครงการ.ศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้

ทั้งนี้สาระสำคัญของแถลงการณ์ ระบุว่า ต้องการให้มีการแสดงประชามติของคนในพื้นที่อำเภอเหนือคลองเพื่อแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงของคนในพื้นที่จริงว่ามีความต้องการอย่างไรกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)   ซึ่งจะถือเป็นข้อมูลหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถรับรู้และยืนยันได้  จะได้ตัดปัญหาการนำข้ออ้างต่างๆมาเป็นเหตุในการประท้วงคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้า

ก่อนหน้ากฟผ.ได้มีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตามกรอบของกฏหมายของโรงไฟฟ้าถ่านหินจ.กระบี่มาแล้วและคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ก็มีมติให้ดำเนินการก่อสร้างได้ แต่ภายหลัง ทางรัฐบาลก็มีคำสั่งให้จัดทำอีไอเอใหม่

ทั้งนี้กฟผ.ได้เริ่มกระบวนการศึกษาใหม่ มีการเปิดรับฟังความเห็นจนเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 28 ม.ค.2561  แต่หลังจากนั้น นายศิริ  จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงานในขณะนั้น ได้ไปลงนามเอ็มโอยูกับกลุ่มต่อต้าน โดยให้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์(SEA) เพื่อศึกษาว่าพื้นที่จ.กระบี่และอ.เทพา จ.สงขลา เหมาะสมการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ 

อย่างไรก็ตามในทางกฏหมายแล้ว SEA เป็นกระบวนการที่ไม่มีกฏหมายรองรับ ถือเป็นทำลายวิถีปฏิบัติตามหลักกฏหมาย  โดยสร้างบรรทัดฐานใหม่ของคนในสังคม ในการใช้วิธีรวมตัวด้วยกลุ่มคนที่ไม่กี่คนและเป็นคนนอกพื้นที่ ทั้ง จ.พัทลุง นครศรีธรรมราช  ตรัง สงขลา และกทม. มาร่วมการเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการมาโดยตลอด เป็นการขโมยสิทธิ์ของชุมชนคนกระบี่  มาทำลายโอกาสของคนในชุมชนที่จะมีโอกาสได้รับการพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม  และการสร้างงาน สร้างอาชีพ  ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง