posttoday

หยาดเหงื่อที่หายลงทะเลของชาวนาเกลือ(หวาน)ปัตตานี

01 ธันวาคม 2553

ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเจอน้ำท่วมสูงขนาดนี้มาก่อน ปกติถ้าน้ำท่วมธรรมดาจะสูงประมาณ 1 เมตรแต่ปีนี้มันสูงท่วมมิดโรงเก็บ เราไม่ทันระวังตัวเกลือโดนน้ำท่วมหายวับไปกับตาไม่เหลือสักเม็ด....

ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเจอน้ำท่วมสูงขนาดนี้มาก่อน ปกติถ้าน้ำท่วมธรรมดาจะสูงประมาณ 1 เมตรแต่ปีนี้มันสูงท่วมมิดโรงเก็บ เราไม่ทันระวังตัวเกลือโดนน้ำท่วมหายวับไปกับตาไม่เหลือสักเม็ด....

โดย...วิทยา ปะระมะ

“ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเจอน้ำท่วมสูงขนาดนี้มาก่อน ปกติถ้าน้ำท่วมธรรมดาจะสูงประมาณ 1 เมตรแต่ปีนี้มันสูงท่วมมิดโรงเก็บ เราไม่ทันระวังตัวเกลือโดนน้ำท่วมหายวับไปกับตาไม่เหลือสักเม็ด พอเกลือหมดก็หมดตัวเลย” คำพูดเรียบๆจากปากของ “แวมุสตอปา ดอเลาะ”หรือที่เพื่อนๆเรียกชื่อเล่นว่า “แบโซ๊ะ” เลขาธิการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อนาเกลือ ต.ตันหยงลูโละ อ.เมือง จ.ปัตตานีบอกเล่าเหตุการณ์ในวันพายุพัดกระหน่ำภาคใต้เมื่อต้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา

พายุมาพร้อมกับกระแสน้ำเข้าท่วมพื้นที่อยู่อาศัย ที่ทำการเกษตรของพี่น้องชายทะเลภาคใต้ดังที่เป็นที่รับรู้ตามสื่อมวลชน โดยเฉพาะในตัวอ.เมืองหาดใหญ่ซึ่งกลายเป็นไฮไลท์ของข่าวน้ำท่วมในช่วงเวลานั้น ส่วนที่ปัตตานีความรุนแรงก็ไม่ได้แตกต่างกันแต่อย่างใด ที่อยู่อาศัยรวมทั้งอุปกรณ์การประมงเสียหาย ไฟฟ้าและระบบสื่อสารก็เสียหายใช้การไม่ได้จนย่างเข้าวันที่ 3 ภาพข่าวความเดือดร้อนในพื้นที่จึงค่อยได้รับการเผยแพร่ออกไป

 

หยาดเหงื่อที่หายลงทะเลของชาวนาเกลือ(หวาน)ปัตตานี แบโซ๊ะ แวมุสตอปา ดอเลาะ

สำหรับแบโซ๊ะเอง น้ำท่วมรอบนี้เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดเพราะผลผลิตจากนาเกลือถูกเกลือที่ผลิตในจ.เพชรบุรีเข้ามาตีตลาด แถมยังโดนพ่อค้าคนกลางกดราคาอย่างหนักจนชาวบ้านตัดสินใจไม่ขาย เก็บไว้รอให้ราคาดีขึ้นเสียก่อน

ขณะเดียวกันก็มีการรวมกลุ่มเกษตรกรนาเกลือในลักษณะสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อเอาไว้ต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง แต่เพิ่งดำเนินการได้เพียง 2 เดือน พายุพัดพาน้ำทะเลเข้าท่วมโรงเก็บอยู่หลายชั่วโมงจนทำให้ผลผลิตรวมมูลค่ากว่า 10 ล้านบาทค่อยๆขายละลายหายไปพร้อมกับสายน้ำ พัดพาความหวังและหยาดเหงื่อแรงงานตลอดทั้งปีลงทะเลไปด้วย

หลายคนอาจไม่ทราบว่าที่ปัตตานีเป็นแหล่งผลิตเกลือมามีแต่โบร่ำโบราณ “วลัยลักษณ์ ทรงศิริ”บันทึกในหนังสือ “ความทรงจำในอ่าวปัตตานี”ระบุว่าภูมิทัศน์ของริมอ่าวปัตตานีเป็นพื้นที่ผสมผสานระหว่างที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำและชายฝั่งทะเล มีระบบนิเวศน์แบบน้ำกร่อยอีกทั้งมีแดดและอุณหภูมิที่เหมาะสมสามารถทำนาเกลือได้ดีกว่าชายฝั่งอื่นๆในแหลมมลายู การเป็นตลาดค้าเกลือนี้เองก็เพียงพอที่จะทำให้เมืองนี้กลายเป็นที่รู้จักมากกว่าเมืองท่าใดๆในคาบสมุทร

ซึ่งในปัจจุบันเหลือเพียง 3 หมู่บ้านที่มีการทำนาเกลือในขณะนี้คือบ้านตันหยงลูโละ บ้านบานาและบ้านบาราโหม รวมพื้นที่ทำนาประมาณ 1,000 ไร่

ด้วยลักษณะที่ภูมิศาสตร์ที่เป็นอ่าว มีกระแสน้ำทะเลพัดพาตะกอนแร่ธาตุไหลเข้ามาในอ่าว บวกกับน้ำจืดจากคลองปาเระและคลองบางปู ทำให้เกลือของที่นี่มีรสชาติพิเศษจนถูกเปรียบเปรยว่าเป็น “เกลือหวาน”

แบโซ๊ะบอกว่าเวลานำเกลือหวานไปประกอบอาหาร นอกจากรสเค็มแล้วยังมีรสชาติเฉพาะทำให้อาหารอร่อยกว่าปรุงจากเกลืออื่นๆ ชาวบ้านจึงนิยมนำไปทำน้ำวูดู ใส่แกงหรือแม้แต่ใช้ชงกาแฟ

“อย่างเวลาชงกาแฟเราจะเอาช้อนแช่ไว้ในน้ำเกลือ เวลาเอามาชงเนี่ยรสชาติกาแฟจะหอมกรุ่นหวานมันมาก หรือทำน้ำวูดูก็อร่อยถ้าเอาเกลือที่อื่นมาทำจะมีรสชาติเค็มจนทานไม่ได้เลย”แบโซ๊ะกล่าว

ที่สำคัญเกลือหวานต้องผลิตในอ่าวปัตตานีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น เพราะแค่ไปผลิตอีกฝั่งของอ่าวซึ่งติดกับทะเลนอก (ทะเลอ่าวไทย) รสชาติเกลือที่ได้ก็เค็มไม่ต่างจากเกลือที่อื่นแต่อย่างใด

 

หยาดเหงื่อที่หายลงทะเลของชาวนาเกลือ(หวาน)ปัตตานี บ้านเรือนริมอ่าวปัตตานีเหลือแค่หลังคากับเสาหลังโดนพายุถล่มวันที่ 1 พ.ย. 2553

ในหนังสือ“ความทรงจำในอ่าวปัตตานี”ยังระบุด้วยว่าในอดีตเมื่อหมดนาข้าว ชาวบ้านจากพื้นที่อื่นๆจะเดินทางมาที่ตันหยงลูโละเพื่อนำข้าวและผลไม้มาแลกกับเกลือทุกปี แต่ในปัจจุบันมีนายทุนเข้ามารับซื้อถึงในหมู่บ้านแล้วกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆในภาคใต้ เช่นส่งขายที่บ้านปานาเระเพื่อทำข้าวเกรียบและปลาแห้ง ส่งไปอ.สายบุรีเพื่อทำน้ำวูดู หรือแม้แต่ส่งไปมาเลเซียที่รัฐตรังกานูเพื่อทำข้าวเกรียบ

สำหรับฤดูทำนาเกลือของที่นี่จะทำได้ครั้งเดียวในหน้าร้อน เริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค. ชาวบ้านจะเตรียมดินด้วยการบดดินเหนียวให้แห้งและทิ้งไว้ 3 เดือน พอเข้าเดือนเม.ย.จึงปล่อยน้ำเข้านาข้าว ทิ้งไว้ 2 สัปดาห์ก็ได้เกลือหวานกันแล้ว จนถึงเดือนก.ค.ก็เริ่มเข้าฤดูฝนหมดเวลาทำนาเกลือเสียที

“ปีนี้ฤดูแล้งนานก็ผลิตเกลือได้เยอะแต่ราคาตกต่ำเหลือแค่กันตังละ 6 บาท (1 กันตัง = 5ลิตร) ขณะที่เมื่อก่อนราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 14-15 บาท/กันตัง บางปีได้ขึ้นไปถึง 20 บาท ชาวบ้านก็เลยคิดว่ายังไม่ขายดีกว่า”แบโซ๊ะกล่าว

ปัจจัยที่ทำให้ราคาเกลือตกต่ำในปีนี้ แบโซ๊ะมองว่ามี 3 ปัจจัยคือ 1.ผลผลิตมีเยอะ 2.การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมบริเวณปากอ่าวทำให้สภาพน้ำในอ่าวเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกลือที่ได้เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีแดงๆซึ่งไม่เป็นที่นิยมของลูกค้าเพราะคิดว่าไม่สะอาด และ 3งเกลือจากทางเพชรบุรีเข้ามาตีตลาดและลูกค้าตอบรับดีเนื่องจากมีสีขาวสวยงาม

ราคาแค่ 6บาท/กันตังทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่มองว่าไม่คุ้มเลยเก็บไว้ในโรงเก็บไว้ก่อน ซึ่งโรงเก็บก็เป็นเพียงดินยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร หลังคามุงด้วยใบจากบ้าง กระเบื้องบ้าง ไม่มีผนังทำให้ไม่สามารถต้านทานน้ำท่วมรอบนี้ได้

ส่วนความช่วยเหลือที่ต้องการจากรัฐ แบโซ๊ะบอกว่าเข้าใจว่ารัฐต้องดูแลประชาชนในภาพรวมในหลายๆด้านทั้งเรื่องที่อยู่อาศัยและเครื่องมือทำกิน แต่ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ช่วยเหลือชาวนาเกลือด้วย เพราะขนาดนาข้าวหรือสวนยางรัฐก็มีเงินชดเชยให้ และอีกไม่นานจะเข้าฤดูทำนาเกลือรอบใหม่แล้ว ถ้ารัฐจะช่วยจ่ายเงินชดเชยประมาณ 3- 5 พันบาท/ไร่ก็จะดี เนื่องจากชาวบ้านต้องมีเงินสำรองเอาไว้เลี้ยงชีวิตระหว่างรอให้ได้ผลผลิต

“เกลือคือชีวิต อาชีพทำนาเกลือเป็นอาชีพที่ทำกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมที่ทำให้เรามีเงินส่งลูกหลานเรียนหนังสือและเราก็ไม่คิดจะขายที่นาให้นายทุน เราจะเก็บไว้สืบทอดให้แก่ลูกหลานแต่ถ้าไม่มีเกลือความสามารถในการส่งลูกหลานเรียนหนังสือก็จะลดลง”แบโซ๊ะสรุปปิดท้าย