posttoday

เปิดมาตรการ9ข้อม.หาดใหญ่เสนอรัฐสกัดโควิด-19ระบาด

01 เมษายน 2563

สงขลา - ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ ม.หาดใหญ่ เสนอ9มาตรการต่อรัฐบาล สกัดโควิด-19ระบาด ใช้โมเดลจีนปฎิบัติการ

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง และผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมีนาคมเปรียบเทียบเดือน กุมภาพันธ์ และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ในเดือนมีนาคม 2563 ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชน โดยรวมปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก โดยดัชนีที่ปรับตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

โดยปัจจัยลบประกอบด้วยหลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้มากที่สุด คือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งในขณะที่ได้ลุกลามและแพร่กระจายในสู่จังหวัดต่าง ๆ ในภาคใต้มากกว่า 10 จังหวัด จากทั้งหมด 14 จังหวัด

โดยมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อกว่า 200 รายแล้ว และพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ภาครัฐได้เร่งออกมาตรการต่าง ๆ มากมายเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้ยกระดับความเข้มข้นตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถคุมการแพร่เชื้อให้อยู่ในระดับที่ลดน้อยลง และไม่พบผู้ติดเชื้ออีกเลย

จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ มีรายละเอียดดังนี้

1. ภาครัฐควรเตรียมความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยที่ติดไวรัสโควิด-19 ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยใช้มาตรการเชิงรุก อย่าให้เหตุการณ์เกิดขึ้นก่อน แล้วค่อยหาทางแก้ไข เพราะอาจจะไม่ทันท่วงที ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นอาจจะทำให้ประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก เหมือนในประเทศอิตาลี โดยสิ่งที่ประชาชนภาคใต้ต้องการให้ภาครัฐ เตรียมการให้พร้อมในขณะนี้ คือ

1.1 การสร้างความร่วมมือกับนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ผ่านประสบการณ์จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และสามารถควบคุมได้แล้ว เช่น ประเทศจีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ เป็นต้น

โดยเฉพาะแนวทางการป้องกัน วิธีการควบคุมโรค รวมถึง ยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้แล้วได้ผล

1.2 จัดตั้งสถานพยาบาลชั่วคราวเพิ่มขึ้นในแต่ละจังหวัด เพื่อการรองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส โควิด-19 โดยการขอความร่วมมือเช่าพื้นที่ทั้งหมดของโรงแรม ที่ไม่ค่อยมีลูกค้าเข้ามาพักในช่วงนี้ สำหรับรองรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการดีขึ้นแล้ว ซึ่งนำมาเก็บตัวไว้เพื่อเฝ้าดูอาการ และเมื่อหายดีแล้ว จึงค่อยอนุญาตให้กลับบ้าน

1.3 ใช้โมเดลแบบประเทศจีน คือ การก่อสร้างโรงพยาบาลสนามขนาด 1,000 เตียง ในจังหวัด ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เพื่อเป็นศูนย์กลางกักกันโรค และรองกับผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยตั้งเป้าในการสร้างและแล้วเสร็จ พร้อมจัดเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ ยารักษาโรค และเวชภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงสิ่งของจำเป็นให้ครบถ้วนภายในไม่เกิน 1-2 เดือน

1.4 นำอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้ามาช่วยในการดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในโรงพยาบาล และสถานพยาบาลต่าง ๆ ที่ขาดแคลนบุคลากร โดยมีค่าตอบแทน และประกาศนียบัตรยกย่องเชิดชูเกียรติให้เมื่อเสร็จภารกิจ

1.5 รับสมัครและว่าจ้างอาสาสมัครที่เป็นนักศึกษาแพทย์ และนักศึกษาพยาบาล ให้เข้ามาช่วยเหลือในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีจำนวนมากขึ้น โดยมีประกาศนียบัตรยกย่องเชิดชูเกียรติให้เมื่อเสร็จภารกิจ

1.6 รับสมัครและว่าจ้างอาสาสมัครที่ว่างงานอยู่ในขณะนี้ แต่มีจิตอาสาให้เข้ามาช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลน โดยอาสาสมัครเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ ที่จะต้องทำ และให้มีการฝึกปฏิบัติ

โดยกำหนดคอร์ส ในระยะสั้นก่อนการปฏิบัติงานจริง และในขณะปฏิบัติงานในช่วงแรก ให้มีบุคลากรทางการแพทย์เป็นพี่เลี้ยงคอยสอนงานให้ก่อน เมื่อมีความรู้ความเข้าใจดีแล้ว จึงปล่อยให้สามารถทำงานด้วยตนเอง โดยมีประกาศนียบัตรยกย่องเชิดชูเกียรติให้เมื่อเสร็จภารกิจ

1.7 การอนุมัติงบกลาง ซึ่งเป็นงบสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน 500,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาใช้ในการจัดซื้ออุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ และยารักษาโรคสำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้แก่ทุกโรงพยาบาลในทุก ๆ จังหวัด ให้มีเพียงพอและครบครัน

อาทิ ห้องปฏิบัติการในการตรวจเชื้อโควิด-19 ชุดตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 อุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจ เตียงผู้ป่วย ชุดป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ของบุคลากรทางการแพทย์ หน้ากากอนามัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และอื่น ๆ

รวมถึงการเพิ่มสวัสดิการเป็นเงินพิเศษในแต่ละเดือนให้กับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อเป็นกำลังใจในการทำงานอย่างหนักในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

1.8 การจัดเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐในแต่ละจังหวัดลงพื้นที่ทำความสะอาด เช็ดถู ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโควิด-19 บริเวณสถานที่สาธารณะต่าง ๆ เป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะในจังหวัด ที่มีการแพร่ระบาดของโรค เช่น ภูเก็ต ปัตตานี ยะลา ปัตตานี และสงขลา เป็นต้น

1.9 การจัดตั้งด่านจุดตรวจคัดกรองในเส้นทางรอยต่อระหว่างจังหวัดอย่างเข้มข้น โดยการตรวจวัดไข้ทุกคน ที่อยู่ในรถทุกคัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ จำเป็นต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ในการตรวจวัดไข้ และเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้การจราจรติดขัดมาก หากผู้ใดมีอุณหภูมิเกิน 37.5 องศาเซลเซียส ควรทำการตรวจซ้ำด้วยเครื่องตรวจอื่นด้วย หากอุณหภูมิยังไม่ลด ควรส่งให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลตรวจสอบต่อไป

1.10 ติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกน ตามสถานที่ที่มีคนเดินผ่านไปมาจำนวนมาก หากไม่สามารถตรวจวัดไข้ได้ทั่วถึงทุกคน โดยเฉพาะสถานีขนส่งต่าง ๆ เป็นต้น

2. การเตรียมมาตรการเยียวยาช่วยเหลือธุรกิจ พนักงาน ลูกจ้าง และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน อันเนื่องมาจากการขาดรายได้จากการประกอบอาชีพ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่หยุดการแพร่ระบาด หรือจนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรค และยารักษาโรคโควิด-19

3. ภาครัฐควรออกคำสั่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยให้โรงงานที่ผลิตหน้ากากอนามัย และโรงงานที่ผลิตเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ โดยเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ และขนาดกลาง ให้ผลิตส่งขายให้กับภาครัฐเท่านั้น

และให้หน่วยงานภาครัฐกระจายไปยังสถานพยาบาลต่าง ๆ รวมถึงร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงอุปกรณ์ในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ง่าย อีกทั้ง ป้องกันคนกลางรับซื้อจากโรงงานโดยตรงโดยให้ราคาที่สูงกว่าปกติ และนำไปกักตุนเพื่อส่งขายในตลาดมืดในราคาที่เกินกว่าภาครัฐกำหนด

4. กำหนดมาตรการคุมเข้มการปล่อยหนี้นอกระบบ ซึ่งเริ่มมีมากขึ้นในขณะนี้ เนื่องจากประชาชนจำนวนมากขาดรายได้ แต่ยังมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ดังนั้นเมื่อไม่สามารถกู้เงินในระบบได้ จึงหันไปพึ่งหนี้นอกระบบ อย่างไรก็ตาม หนี้นอกระบบก็ยังคงอยู่กับสังคมไทย เพราะเป็นการกู้ง่าย บางรายไม่ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกันก็กู้ได้ แต่หนี้นอกระบบดอกเบี้ยสูงมาก

ดังนั้นภาครัฐ จึงควรออกมาตรการกับเจ้าหนี้นอกระบบ เช่น การกำหนดให้การปล่อยกู้นอกระบบได้ แต่ดอกเบี้ยจะต้องไม่เกินร้อยละเท่าไหร่ต่อเดือน หากเกินกว่านั้นก็ถือว่าสัญญาเป็นโมฆะ รวมถึงเจ้าหนี้บางรายได้ให้เงินแก่ผู้กู้ไม่ครบตามจำนวนที่เขียนไว้ในสัญญา เช่น การกู้เงิน 1 หมื่น แต่เจ้าหนี้เขียนในใบสัญญากู้เงินเป็น 2 หมื่น เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายในการคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยภาครัฐควรกำหนดให้สัญญาในลักษณะเช่นนี้เป็นโมฆะ

5. การออกคำสั่งที่เป็นกฎระเบียบ หรือข้อปฏิบัติที่มีความแตกต่างกันในแต่ละจังหวัด อีกทั้ง ยังมีมาตรการที่ออกโดยภาครัฐที่เป็นส่วนกลาง ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเกิดความสับสน ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐควรหาวิธีการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ และไม่เกิดความสับสน

6. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีการเยียวยาแรงงาน 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน ควรมีแนวทางที่ชัดเจนในการตรวจสอบว่าใครบ้างที่จะได้รับสิทธิ์ หรือเข้าเกณฑ์ เพราะหน่วยงานภาครัฐไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่แท้จริงของแรงงานที่อยู่นอกระบบได้ จึงทำให้มีผู้ที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ตามที่ภาครัฐกำหนด แต่ได้ทำการลงทะเบียนเพื่อรับเงิน

7. การออกมาตรการกำหนดให้ผู้ที่ออกจากอาคารบ้านเรือนและไปพบปะกับบุคคลอื่น จำเป็นต้องสวมหน้ากาก เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19

8. ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลางที่มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือสังคม ควรจัดโครงการหรือกิจกรรมช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ

9. ประชาชนที่ไม่ได้รับผลกระทบและมีกำลังที่จะสามารถช่วยเหลือผู้อื่น ควรให้การสนับสนุน โดยการบริจาคเงินหรือเวชภัณฑ์ที่จำเป็นให้กับหน่วยงานด้านสาธารณสุข เพื่อใช้ในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 33.50 และ 31.70 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 34.60 และ 27.30 ตามลำดับ.

ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 36.80 , 27.20 และ 32.10 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ราคาสินค้าสูง คิดเป็นร้อยละ 27.60 รองลงมา คือ ค่าครองชีพ และราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ คิดเป็นร้อยละ 25.40 และ 14.80 ตามลำดับ

ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ราคาสินค้าสูง รองลงมา คือ ค่าครองชีพ ตามลำดับ